สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมทีมลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ศัตรูมะพร้าวระบาดของรองนายกรัฐมนตรี ณ อำเภอสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี รับฟังปัญหา ข้อคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตมะพร้าวในจังหวัดโดยตรง เร่งเฟ้นหามาตรการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคและแมลงศัตรูมะพร้าว พร้อมบูรณาการร่วมแบบประชารัฐ เพื่อรณรงค์ป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าวอย่างยั่งยืน
นางจันทร์ธิดา มีเดช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการร่วมลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ศัตรูมะพร้าวระบาดของรองนายกรัฐมนตรี (พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง) ในพื้นที่อำเภอสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี วันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อรับฟังปัญหาข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตมะพร้าวในจังหวัดสุราษฎร์ธานีโดยตรง ตามที่นายกรัฐมนตรีได้มีดำริให้ส่งเสริมการผลิตในประเทศเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ และจะได้นำข้อมูลดังกล่าวนี้ไปประกอบการกำหนดแนวทางป้องกัน ปราบปรามและการพัฒนาการผลิตมะพร้าว
จากสถานการณ์การระบาดของศัตรูมะพร้าว คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช (มีพลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรับมนตรี เป็นประธาน และ สศก. เป็นฝ่ายเลขานุการ) ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาการผลิตมะพร้าว เพื่อส่งเสริมการผลิตมะพร้าว รวมทั้งหามาตรการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคและแมลงศัตรูมะพร้าวอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร สร้างอาชีพและรายได้ไห้แก่เกษตรกร โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกษตรกรและภาคเอกชน ได้มีการบูรณาการทั้งด้านงบประมาณ และบุคลากรรูปแบบประชารัฐ ในการร่วมกันรณรงค์ในการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว
ปัจจุบันพื้นที่ปลูกมะพร้าวของประเทศมีแนวโน้มลดลง ทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดต้นมะพร้าว ร้อยละ 60 มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป เกษตรกรขาดการดูแลรักษา ตลอดจนเกิดปัญหาแมลงศัตรูมะพร้าวระบาด เช่น แมลงดำหนาม หนอนหัวดำ และด้วงแรด ทำให้ผลผลิตลดลง โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย ซึ่งปัญหาศัตรูมะพร้าวเข้าทำลายต้นมะพร้าว โดยเฉพาะแมลงดำหนามและหนอนหัวดำนั้น ไม่ใช่สายพันธุ์ท้องถิ่น มีการระบาดและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตมะพร้าวของไทย ทำให้ผลผลิตมะพร้าวของไทยลดลง และไม่สามารถสนองความต้องการของตลาดได้เพียงพอ จึงต้องมีการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศ ซึ่งมีคุณภาพไม่ทัดเทียมกับมะพร้าวไทยเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมมะพร้าวและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เศรษฐกิจภาพรวมได้รับผลกระทบตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของระบบการระบาดศัตรูพืชที่สำคัญ กรมส่งเสริมการเกษตร ระหว่าง 22 – 28 กุมภาพันธ์ 2560 พบว่า มีการระบาดของศัตรูมะพร้าวในจังหวัดสุราษฎร์ธานีทั้งหมด 8,799 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 5.35 ของเนื้อที่ปลูกมะพร้าวในจังหวัด ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีมาตรการ 3 ด้าน คือ มาตรการกำจัดการระบาดในพื้นที่ ดำเนินการจัดการศัตรูมะพร้าวแบบผสมผสาน มาตรการควบคุม โดยเฝ้าระวังพื้นที่ที่มีเขตติดต่อกับพื้นที่ที่มีการระบาด และมาตรการถ่ายทอดความรู้ เช่น การจัดตั้งศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) การจัดทำแปลงเรียนรู้การจัดการศัตรูมะพร้าว ตลอดจนการรณรงค์ให้ความรู้ เป็นต้น
ทั้งนี้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีครัวเรือนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว จำนวน 144,748 ครัวเรือน มีพื้นที่ทำการเกษตร จำนวน 4,263,938 ไร่ มีพืชเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ไม้ผล โดยมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวเป็นลำดับ 3 ของประเทศ รองจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร โดยในส่วนของพื้นที่ปลูกมะพร้าว มีจำนวน 164,349.83 ไร่ เกษตรกร 14,131 ครัวเรือน ปลูกมากที่อำเภอเกาะสมุย 66,132 ไร่ รองลงมาอำเภอเกาะพะงัน 63,759 ไร่ และอำเภอเมือง 17,487 ไร่ ซึ่งทั้ง 3 อำเภอดังกล่าวเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่มีทัศนียภาพมะพร้าวเป็นองค์ประกอบในแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่รู้จักของชาวไทยและต่างประเทศ