นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือเบทาโกร เปิดเผยถึง เป้าหมายการส่งออกเนื้อไก่ของ เครือเบทาโกรในปี 2560 ว่า วางเป้าเติบโตขึ้น 10% จากปี 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งมีปริมาณการส่งออกอยู่ที่ 70,000 ตัน โดยสัดส่วนการส่งออก 15% เป็นเนื้อไก่สด และ 85% เป็นเนื้อไก่ปรุงสุก มีตลาดหลัก คือ ญี่ปุ่น 50% ยุโรป 45% ตลาดอื่นๆ อีก 5% และมีแผนที่จะขยายตลาดส่งออกไปในประเทศกลุ่มตะวันออกกลางเพราะเล็งเห็นถึงโอกาสของตลาดสินค้าฮาลาล ภูมิภาคเอเซีย เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง รวมถึงประเทศในกลุ่มสแกนดิเวีย ที่จะเพิ่มสัดส่วนการขายสินค้า Own Brand ได้แก่ แบรนด์ BETAGRO และ แบรนด์ S-Pure ให้มากขึ้น ในช่องทาง wholesale และ retail เพื่อให้สามารถนำส่งสินค้าได้ถึงมือผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น
“เบทาโกรมีการควบคุมมาตรฐานการผลิตไก่อย่างเข้มงวด ทั้งด้านคุณภาพ (Food Quality) และความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety) โดยกำหนด มาตรฐานการประกันคุณภาพการผลิตไก่เครือเบทาโกร (ABCP: Assured Betagro Chicken Production) เพื่อควบคุมคุณภาพของกระบวนการผลิต โดยเน้นการจัดการคุณภาพด้านความปลอดภัยอาหาร สวัสดิภาพสัตว์ปีก และสิ่งแวดล้อม ให้มีมาตรฐานเดียวกันทั้งระบบการผลิต สอดคล้องกับกฏระเบียบของภาครัฐและประเทศคู่ค้า รวมถึงข้อกำหนดของลูกค้า นอกจากนี้ ยังใช้ระบบ GIS (Geographic Information System) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ มาใช้เก็บข้อมูลที่ตั้งฟาร์มไก่ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและประเมินผลกระทบของภาวะโรคที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง รวมทั้งนำระบบตรวจสอบย้อนกลับ (e-Traceability) มาใช้ในกระบวนการผลิตไก่ได้อย่างสมบูรณ์ เป็นแห่งแรกของประเทศไทย จึงมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์เนื้อไก่จากเบทาโกรสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในประเทศและต่างประเทศ ได้ทั้งในเรื่อง คุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัย”
นอกจากนี้ เบทาโกรได้ให้ความสำคัญในการยกระดับการจัดการด้านแรงงานของอุตสาหกรรมอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) โดยกำหนด “มาตรฐานแรงงานเบทาโกร” หรือ BLS (BETAGRO Labor Standard) ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายแรงงานไทย มาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชน และแรงงานสัมพันธ์ เพื่อยกระดับมาตรฐานด้านแรงงานของทุกบริษัทในเครือฯ ให้มีมาตรฐานเดียวกัน โดยประกาศเริ่มดำเนินการทุกบริษัทเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2558 ขยายไปสู่ซัพพลายเชนในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2558 และมีเป้าหมายที่จะผลักดันมาตรฐานการจัดการแรงงานให้ดียิ่งขึ้นไปในอนาคต รวมทั้งนำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีสำหรับฟาร์มและสถานที่ฟักไข่สัตว์ปีกในประเทศไทย หรือ GLP (Good Labour Practices) มาใช้บริหารจัดการด้านแรงงานร่วมด้วย