เรื่อง/ภาพ : หนึ่งฤทัย แพรสีทอง
แม้ว่าปีนี้ราคามะละกออาจไม่เป็นอย่างที่หวัง…ซึ่งก็มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยและได้รับผลกระทบกันกับทุกพืชไม่เพียงแต่มะละกอ…ในวันที่หลายคนท้อ…เลิกไป…แต่หลายคนก็ยังปลูกใหม่ต่อไป…นั่นก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน….ว่าใครจะมองยังไง….มาลองวิเคราะห์กันดู….ว่าอะไรคือเหตุผล…ที่ทำให้หลายคนเลือกที่จะเดินกับมะละกอต่อไป
ใครที่เห็นราคามะละกอในช่วงแพงประมาณเดือน ส.ค.-ต.ค. บอกเลยว่า อยากปลูกกันทุกคน เพราะไม่ว่าจะผ่านมากี่สิบปี สถานการณ์ราคาในช่วงดังกล่าวก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ด้วยเงื่อนไขของผลผลิตที่น้อยหรือขาดตลาด ราคามะละกอยืนที่ 30-40 บาท/กก. มาตลอด มะละกอ 1 คันรถ 1 แสนบาท ย้ำอีกครั้งนะคะว่า 1 แสนบาท สวนรวยเลยค่ะ แต่พอถึงช่วงมะละกอล้นตลาดเพราะผลผลิตเยอะ ชาวสวนมะละกออยากฟันมะละกอทิ้งกันทุกคนค่ะ ซึ่งก็จะเริ่มตั้งแต่ พ.ย.-มิ.ย. มะละกอมีโอกาสราคาตกต่ำได้ตลอดหากผลผลิตมีเยอะเกิน ซึ่งก็ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าราคามะละกอจะเป็นยังไง ช่วงตกต่ำที่สุด มะละกอจะอยู่ที่ราคา 10 บาท ซึ่งก็ถือว่า ไม่ถูกมากมายอะไร เพราะต่อให้มะละกอถูกแค่ไหน ชาวสวนก็ยังมีกำไรค่ะ ถ้าคุณไม่ใช้อะไรที่เกินจำเป็นและเข้าใจมะละกอ เพราะมะละกอเป็นพืชที่ปลูกง่ายและลงทุนต่ำมากๆ มาดูความน่าสนใจของการลงทุนปลูกมะละกอกันค่ะ
1.มะกอเป็นพืชที่ปลูกง่าย ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องดูแลเยอะเหมือนพืชอย่างอื่น ใส่ปุ๋ยทางดินแค่เดือนละ 2-3 ครั้งก็พอแล้ว พ่นอาหารเสริมทางใบบ้างสัก 10 วันครั้งก็ได้ โรค-แมลงเจอแล้วค่อยพ่นค่ะ แต่ในความเป็นจริงแล้วทุกวันนี้ชาวสวนพ่นยากันทุก 5 วัน 7 วัน แล้วใส่สารพัดอะไรก็ไม่รู้ลงไปจนเกินความจำเป็น นั่นคือต้นทุน
2.มะกอมีโรค-แมลงไม่มากเมื่อเทียบกับอีกหลายพืช หลักๆ ก็มี เพลี้ยไฟ ไรแดง ใบจุด แอนแทรคโนส และไวรัส การระบาดของโรค-แมลงมันไม่ได้น่ากลัวหรือรุนแรงมาก แต่ที่เสียหายกันทั้งแปลงอย่างเพลี้ยไฟ ไรแดงหรือผลเน่าจากแอนแทรคโนส เพราะการใช้ยาที่ไม่ถูกต้องจึงควบคุมไม่อยู่ หรือไวรัสถ้าทำให้มะกอแข็งแรง โอกาสเจอก็น้อย ขอแค่คุณรู้วิธีป้องกันและรักษาที่ถูกต้องเท่านั้น แต่ที่ไม่รอดหรือเสียหายกันเพราะไม่รู้และป้องกัน รักษาไม่ถูกวิธีมากกว่าค่ะ
3.มะกอลงทุนต่ำ เพราะความที่เป็นพืชปลูกง่าย ศัตรูพืชน้อยนั่นเอง ต้นทุนการปลูกอยู่ที่ 10,000-15,000 บาท/ไร่ (ตั้งแต่ปลูก – เริ่มเก็บ คือ 8 เดือน) อันนี้รวมระบบน้ำสปริงเกลอร์แล้วซึ่งต้นทุนประมาณ 3,000-3,500 บาท/ไร่ มีตังไม่เยอะก็ลงทุนได้ หรือถ้าจะเจ๊งเพราะมะกอมันก็เจ๊งไม่เยอะค่ะ
4.มะละกอให้ผลผลิตเร็วและนานเป็นปี มะละกอ 8 เดือนเก็บก็จริง แต่หลังเก็บได้แล้ว สามารถเก็บผลได้นานเป็น 5-6 เดือนหรือเป็นปี ขึ้นอยู่กับต้น เก็บอาทิตย์ละ 2 ครั้ง เดือนละ 8 ครั้ง ผลผลิตจากมะละกอ 10 ไร่ จะเก็บได้ครั้งละ 3-4 ตัน และถ้าคุณดูแลดี ให้มีแต่มะละกอเบอร์ เอ รายได้คุณจะเยอะมากค่ะ อย่าให้มีมะละกอลูกเล็กปนมาเยอะ ซึ่งอันนี้อยู่ที่การให้ปุ๋ยที่ถูกต้องค่ะ ถ้าพื้นที่ปลูกน้อยกว่านี้ก็ลดหลั่นลงมา มะละกอ 1 ไร่ ปลูกได้ 200-250 ต้น คำนวณรายได้เล่นๆ ต่อเดือนของมะละกอ 10 ไร่ ที่เก็บมะละกอ ครั้งละ 3 ตัน เดือนละ 8 ครั้งๆ ละประมาณ 3 หมื่น ก็เท่ากับ 2 แสนกว่าบาท หรืออาจะจะได้ถึง 3 แสนหรือมากกว่านั้นก็ได้อยู่ที่ราคามะละกอค่ะ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่การเก็บมะละกอ 10 ไร่ เพียง 5 เดือนคุณจะได้เงินหลักล้าน
5.มะละกอตลาดรองรับกว้าง มีตลาดรองรับทุกภาคโดยเฉพาะมะละกอสุก ฮอลแลนด์ ราคามะละกอ ณ ปัจจุบันไม่แน่นอนและไม่สามารถคาดเดาได้ แต่เฉลี่ยแล้วก็อยู่ที่ 10-15 บาท/กก. ถูกมากๆ ก็น่าจะอยู่ที่ 8 บาท/กก. มะละกอ 1 คันรถก็ประมาณ 3-4 หมื่นบาท ด้วยความที่เป็นพืชลงทุนต่ำ ต่อให้มะละกอราคา 5-6 บาทก็กำไร ถ้าคุณปลูกมะละกอแบบเข้าใจและไม่ใช้อะไรที่ฟุ่มเฟือยเกินไปโดยไม่จำเป็น
“หลายคนบอกว่ากลัว ไม่เคยปลูก ไม่กล้าเสี่ยง ขอลองก่อน 1 ไร่ 2 ไร่ 3 ไร่ ทำไมจึงบอกว่า ไม่ต้องลอง ทำเลย เพราะเหตุผลทุกข้ออย่างที่บอก และด้วยความที่มะละกอมีอายุนาน 8 เดือนกว่าจะเก็บได้ ถ้าคุณอยากเรียนรู้ก่อน เท่ากับว่าคุณต้องเสียเวลา 1 ปีที่จะทำความรู้จักกับมะละกอ…คิดว่ามันใช้เวลาเรียนรู้นานเกินไป เพราะคุณจะต้องมาเริ่มต้นก็ต้องอีก 1 ปี ถัดมา ถ้าคุณจะปลูกมะละกอต้องคิดว่าจะเอาไปส่งที่ไหน เพราะถ้าปลูกในพื้นที่ไม่มาก ปริมาณผลผลิตไม่มาก การขายในตลาดใหญ่จะทำได้ลำบากเพราะมีเงื่อนไขในด้านของต้นทุนค่าขนส่ง พยายามรวมคนปลูกในพื้นที่ให้ได้อย่างน้อย 10 ไร่ ถ้าคุณอยู่ไกล ถ้าปลูกไม่เยอะหาตลาดในพื้นที่นะค่ะ”
เชื่อเถอะ…คนที่มีอาชีพปลูกมะละกอจริงๆ…เคยเห็นเงินจากมะละกอ…ก็จะยังเดินหน้ากับพืชตัวนี้อยู่…ส่วนใครที่ล้มเหลวกับมะละกอ…ไม่เห็นเงินจากมะละกอ…ก็จะหันหลังให้กับมะละกอ….มันขึ้นอยู่กับว่า…คุณยืนอยู่ในตำแหน่งไหน….เท่านั้นเอง.
หมายเหตุ : คุณหนึ่งฤทัย แพรสีทอง ได้เกาะติดเรื่องมะละกอ ทั้งในฐานะคนข่าวเกษตรและผู้ค้ามะละกอ ซึ่งได้เขียนบทความข้างต้นผ่านทางเฟส Rakkaset Nungruethail และ “เกษตรก้าวไกล” มองเห็นว่ามีประโยชน์ต่อผู้สนใจ จึงนำมาเผยแพร่อีกครั้ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้