นโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรเน้นให้มีศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรในชุมชน จึงมีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอละ 1 ศูนย์ รวม 882 ศูนย์ทั่วประเทศโดยมีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนศูนย์เรียนรู้เพื่อเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตการบริหารจัดการและการตลาดแก่เกษตรกร รวมทั้งการให้บริการทางการเกษตรในด้านต่างๆ รวมทั้งแจกจ่ายปัจจัยการผลิต ที่จำเป็นเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในพื้นที่และเป็นกลไกในการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาเพื่อต่อยอดการเกษตรในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ
นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอละ 1 ศูนย์ โดยคัดเลือกจากพื้นที่เกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรของตนเองและเป็นบุคคลที่สามารถถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ ให้เกษตรกรอื่นเข้าใจได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้า ในพื้นที่ของเกษตรกรที่ได้รับคัดเลือกเพื่อเป็นจุดศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านการเกษตรในระดับชุมชน เกษตรกรและประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย แลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยี และเทคนิคต่างๆ โดยใช้องค์ความรู้ของเกษตรกรร่วมกับองค์ความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดจากหน่วยงานด้านวิชาการต่างๆ เป็นแหล่งให้บริการด้านการเกษตร ข้อมูลข่าวสารด้านการเกษตรที่ทันสมัยจากทุกหน่วยงานของกระทรวงเกษตรที่จะเข้ามาสนับสนุนตามความต้องการของเกษตรกรและชุมชน รวมทั้งเป็นเวทีพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเกษตรกร ซึ่งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการพัฒนาที่ดินของหมอดินอาสากรมพัฒนาที่ดินเองในจำนวนหลายศูนย์ที่มีกระจายอยู่ทั่วประเทศก็ได้รับคัดเลือกเป็นศูนย์ ศพก.
โดยปี 2560 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายที่จะพัฒนา ศพก. ให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาการเกษตรภาคประชาชนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นกลไกในการขับเคลื่อนแปลงใหญ่อย่างสมบูรณ์ โดยใช้เครือข่าย ศพก. ขับเคลื่อนและเชื่อมโยงนโยบายให้เห็นผลในเชิงปฏิบัติ เสมือนว่า ศพก. เป็นโรงเรียนชุมชนและเกษตรแปลงใหญ่เป็นผลจากการเรียนรู้ของชุมชน รวมถึงเน้นการให้องค์ความรู้ด้านการพัฒนาที่ดินเพื่อให้เกษตรกรนำองค์ความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติในพื้นที่ทำการเกษตรของตน กล่าวคือเกษตรแปลงใหญ่ นอกจากนี้กรมพัฒนาที่ดินก็ได้ให้การสนับสนุนปัจจัยการผลิตต่างๆ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการทำการเกษตรของเกษตรกร ปี 2560 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตั้งเป้าว่าจะมีเกษตรกรรวมตัวกันเป็นเกษตรแปลงใหญ่ จำนวน 1,000 แปลง และแปลงเตรียมความพร้อมอีก 512 แปลง
โดยกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นเจ้าภาพในการกำหนดพื้นที่แปลงใหญ่เป้าหมายให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดร่วมกับกรมการข้าว กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กรมประมง กรมปศุสัตว์ และกรมชลประทานซึ่งหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมบูรณาการขับเคลื่อนการดำเนินงานในภารกิจที่เกี่ยวข้องทั้งนี้กรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนงานด้านการพัฒนาที่ดิน ฟื้นฟูและปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น
“อย่างไรก็ตาม การศึกษาหาความรู้และประสบการณ์จากจุดเรียนรู้หรือแปลงสาธิตในพื้นที่ ศพก. ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกษตรกรผู้ขับเคลื่อนศูนย์นี้ได้ลงมือปฏิบัติจริงทำให้เห็นจริงโดยเป็นตัวอย่างการทำจริงในพื้นที่อำเภอที่เกษตรกรอาศัยอยู่ทำให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะนำประสบการณ์และความรู้ที่ได้นั้นนำกลับไปปฏิบัติหรือต่อยอดในพื้นที่ของตนเองได้ อีกทั้งใน ศพก. นั้นยังมีองค์ความรู้ด้านการเกษตรต่างๆ ทั้งพืช สัตว์ และประมงที่จะเพิ่มโอกาสและทางเลือกในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและที่สำคัญกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังมุ่งเน้นในเรื่องนโยบาย Zoning by Agri-Map ซึ่งจะมีแผนที่ความเหมาะสมการผลิตพืชเศรษฐกิจในอำเภอนั้นๆ และแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) เป็นฐานข้อมูลให้เกษตรกรทราบว่าในพื้นที่การเกษตรของตนเองนั้นอยู่ในพื้นที่ความเหมาะสม S1 S2 S3 หรือ N เพื่อที่จะวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และรวมถึงปัจจัยแวดล้อมที่จะส่งผลกระทบต่อการผลิตและการตลาดด้วย อีกทั้ง ศพก. นี้เป็นเสมือนแหล่งเรียนรู้และพบปะกับเพื่อนบ้านได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กันรวมถึงนักวิชาการจากหน่วยงานต่างๆ ที่ร่วมบูรณาการกันลงมาให้ความรู้กับเกษตรกรอีกด้วย” นายสุรเดช กล่าว
เกษตรกรในชุมชนที่เข้ามาใช้บริการ ที่ ศพก. จะได้รับความรู้ด้านวิชาการต่างๆจากทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงสามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิต ลดความเสี่ยงในการบริหารจัดการ และให้เกิดความเข้มแข็งโดยเกษตรกรในพื้นที่สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการผลิตสินค้าเกษตรและปรับเปลี่ยนระบบการผลิตให้เหมาะสมกับพื้นที่ สภาพการผลิตของตนเองและความต้องการของตลาด ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ผลผลิตมีคุณภาพ และปริมาณมากขึ้นส่งผลให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน