สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผยดัชนีรายได้เกษตรกรเดือนมีนาคม 2560 เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2559 ร้อยละ 29.90 จากดัชนีผลผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.11 และดัชนีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.15 คาดเมษายน 2560 รายได้ของเกษตรกรยังขยายตัวเพิ่มขึ้น
นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาพรวมราคาสินค้าเกษตรซึ่งวัดจากดัชนีราคาสินค้าเกษตรประจำเดือนมีนาคม 2560 พบว่า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.15 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (มีนาคม 2559) โดยสินค้าที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากเข้าสู่ช่วงต้นยางผลัดใบทำให้ผลผลิตยางออกสู่ตลอดน้อยลง ปาล์มน้ำมัน ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากตลาดยังมีความต้องการต่อเนื่อง กุ้งขาวแวนนาไม ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหาน้ำท่วมภาคใต้ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย สินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง ราคาลดลงเนื่องจากผู้นำเข้าจากประเทศจีนชะลอการรับซื้อ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาลดลงเนื่องจากปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ออกสู่ท้องตลาดเพิ่มขึ้น ไข่ไก่ ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตไข่ไก่ออกสู่ตลาดมาก ขณะที่ความต้องการบริโภคยังคงลดลงจากสถานศึกษาต่างๆ ปิดภาคเรียน
หากเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ภาพรวมดัชนีราคาลดลง ร้อยละ 2.14 สินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ยางพารา ราคาลดลงเนื่องจากผู้ซื้อหรือผู้ประกอบการในประเทศวิตกกังวลเกี่ยวกับกระแสข่าวการระบายยางในสต๊อคของภาครัฐส่งผลทำให้ราคายางมีการปรับตัวลดลง ปาล์มน้ำมัน ราคาลดลงเนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการรับซื้อเพื่อรอผลผลิตฤดูกาลใหม่ สินค้าที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไก่เนื้อ ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากอยู่ในช่วงเทศกาลเช็งเม้ง ส่งผลให้ราคารับซื้อไก่เนื้อหน้าโรงงานชำแหละเพิ่มขึ้น สำหรับในเดือนเมษายน 2560 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2559 สินค้าสำคัญที่ราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา อ้อยโรงงาน ไก่เนื้อ และกุ้งขาวแวนนาไม
เลขาธิการ สศก. กล่าวต่อไปว่า ด้านดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนมีนาคม 2560 เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (มีนาคม 2559) สินค้าสำคัญที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สุกร และกุ้งขาวแวนนาไม สินค้าสำคัญที่ผลผลิตลดลง ได้แก่ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน
หากเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 5.99 สินค้าสำคัญที่ผลผลิตลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง ยางพารา ไก่เนื้อ และสุกร สินค้าสำคัญที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ไข่ไก่ และกุ้งขาวแวนนาไม ส่วนในเดือนเมษายน 2560 ดัชนีผลผลิตคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2559 โดยสินค้าสำคัญที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพาราและกุ้งขาวแวนนาไม
ทั้งนี้ ในส่วนของภาพรวมดัชนีรายได้เกษตรกรในเดือนมีนาคม 2560 เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2559 ร้อยละ 29.90 เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตและดัชนีราคาสินค้าเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนเดือนเมษายน 2560 คาดว่ารายได้ของเกษตรกรจะขยายตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2559 เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตและดัชนีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated