จากสภาพอากาศร้อนชื้นในช่วงนี้…อาจส่งผลกระทบให้มะละกอที่ติดผลเกิดโรคและแมลงศัตรูเข้าทำลายได้ง่าย กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรสวนมะละกอให้เตรียมรับมือโรคไวรัสจุดวงแหวนและเพลี้ยแป้ง ซึ่งมีอาการบอกโรคดังนี้
รู้อย่างไรว่าเป็นโรคไวรัสวงแหวน
โรคไวรัสจุดวงแหวนสามารถพบได้ตั้งแต่ในระยะต้นกล้าจนถึงต้นโต ต้นกล้า มักพบต้นแคระแกร็น ใบอ่อนซีดเหลืองเส้นใบหยาบหนาขึ้น ใบด่างสีเขียวเข้มสลับสีเขียวอ่อน ถ้าเป็นมากใบมีขนาดเล็กลง บิดเบี้ยวผิดรูปร่าง ใบหงิกงอ บางครั้งใบเรียวเล็กลงเป็นเส้นยาวแทบจะไม่เห็นเนื้อใบ และอาจทำให้ต้นกล้าไม่เจริญเติบโตหรือตายได้ ต้นโต จะพบใบแก่ขอบใบม้วนขึ้นและหยัก ใบยอดเหลืองซีดมีขนาดเล็กลง ก้านใบสั้น ใบด่างเหลืองสลับเขียว ลำต้นและก้านใบมีรอยขีดช้ำหรือรูปวงแหวน ต้นที่เป็นโรคจะติดผลเร็ว แต่ให้ผลผลิตต่ำหรือไม่ให้ผลผลิตเลย และผลมีจุดวงกลมคล้ายวงแหวน บางครั้งเป็นสะเก็ดวงแหวน ถ้าอาการรุนแรงมาก จะเป็นหูดนูนขึ้นมาและผิวขรุขระ ใบและช่อดอกหลุดร่วง ไม่ติดผล แคระแกร็น ซึ่งแพร่ระบาดโดยมีเพลี้ยอ่อนเป็นพาหะนำโรค
นอกจากนี้ โรคไวรัสจุดวงแหวน มีไวรัสเป็นเชื้อสาเหตุโรคที่ยังไม่มีสารเคมีกำจัดได้โดยตรง การป้องกันการระบาดให้กำจัดเพลี้ยอ่อนที่เป็นแมลงพาหะ หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ และทำความสะอาดแปลงทำลายวัชพืชหรือพืชอาศัยอื่น เพื่อไม่ให้เป็นที่ซ่อนตัวของแมลงพาหะ อีกทั้งเกษตรกรควรล้างทำความสะอาดอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางการเกษตรต่างๆ ให้สะอาด และผึ่งแดดให้แห้งหลังการใช้งานทุกครั้งอยู่เสมอ เมื่อได้นำไปใช้กับต้นที่เป็นโรคในแปลงที่มีการระบาดก่อนนำกลับมาใช้ใหม่ในครั้งต่อไป หากพบโรค ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
เพลี้ยแป้ง เกิดได้ก็แก้ได้
ในส่วนของเพลี้ยแป้ง มักพบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยง บริเวณยอดอ่อน ใบ ดอก และผล โดยมีมดช่วยพาไปยังส่วนต่างๆ ของต้นพืช ทำลายดอกและผลอ่อน ทำให้ดอกและผลหลุดร่วง หรือผลบิดเบี้ยว ทำลายยอดอ่อนและใบอ่อน ใบและยอดหงิกงอ เพลี้ยแป้งจะขับถ่ายมูลหวานออกมาที่ผิวผลส่งผลให้เกิดราดำ ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพต่ำ หากพบให้เกษตรกรกำจัดมดและแหล่งอาศัย กำจัดพืชและวัชพืชที่เป็นแหล่งอาศัยของเพลี้ยแป้ง จากนั้น ก่อนย้ายต้นกล้ามะละกอลงหลุมปลูก ให้ตรวจดูว่าไม่มีเพลี้ยแป้งติดมากับต้นกล้า ถ้าพบควรนำไปทำลายทิ้งนอกแปลง และหลังจากปลูกต้นกล้ามะละกอเรียบร้อยแล้ว ให้เกษตรกรหมั่นสำรวจดูแนวขอบแปลงปลูกในทิศเหนือลมหรือขอบแปลงที่ติดกับแปลงอื่น หากพบระบาด ให้ตัดส่วนที่พบไปทำลายทิ้ง และพ่นด้วยสารอิมิดาโคลพริด 70% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไทอะมีทอกแซม 25% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไดโนทีฟูแรน 10% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโคลไทอะนิดิน 16% เอสจี อัตรา 15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยควรเลือกใช้สารเคมีที่มีประสิทธิภาพชนิดใดชนิดหนึ่ง และให้พ่นในบริเวณจุดที่พบเพลี้ยแป้งและรัศมีโดยรอบ เพื่อป้องกันการกระจายตัวของเพลี้ยแป้ง