บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ แนะนำเทคนิคการเลี้ยงสัตว์ในฤดูร้อน เพื่อให้เกษตรกรได้ปรับวิธีการเลี้ยงและเสริมเทคนิคให้สอดคล้องกับสภาพอากาศ ให้สัตว์อยู่สุขสบายช่วยลดความเสี่ยงและความเสียหายของฝูงสัตว์จากภาวะอากาศร้อนจัด
น.สพ.นรินทร์ ร่มลำดวน รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ศูนย์วินิจฉัยโรคสัตว์บก ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน โดยกรมอุตุภาวะคาดการณ์ว่าฤดูร้อนของปีนี้สภาพอากาศจะร้อนจัดบางพื้นที่อุณหภูมิจะสูงถึง 39-41 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะภาคกลางและภาคตะวันออก ดังนั้นเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์จึงต้องเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว ด้วยการดูแลสภาพความเป็นอยู่ของสัตว์ให้เหมาะสม สำหรับการเลี้ยงสุกรต้องมีการสำรองน้ำกิน-น้ำใช้ ให้เพียงพอ สำหรับฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ที่เลี้ยงในระบบอีแวปจะต้องใช้น้ำทั้งกินและใช้เฉลี่ยวันละ 130 ลิตรต่อตัว ส่วนฟาร์มสุกรขุนกินและใช้น้ำเฉลี่ยวันละ 40 ลิตรต่อตัว อากาศที่ร้อนจัดจะส่งผลต่อสุกรทำให้หายใจหอบแรง กินอาหารลดลง หากอากาศร้อนต่อเนื่องหลายวันในแม่อุ้มท้องแก่อาจเกิดการแท้งได้ ในช่วงที่อากาศร้อนจัดอาจต้องขังน้ำในรางอาหารของแม่สุกร หรือเพิ่มรางน้ำให้สุกรขุนได้กินอย่างเพียงพอและสะดวกต่อการกิน ส่วนโรงเรือนที่มีส้วมน้ำด้านท้ายคอกควรขังน้ำให้พอดี ระมัดระวังอย่าให้ขาดน้ำ
ส่วนในไก่เนื้อและไก่ไข่ปกติจะต้องกินน้ำอย่างน้อย 2 เท่าของปริมาณอาหารที่กินในแต่ละวัน และหากไก่ขาดน้ำเกินร้อยละ 20 ไก่จะกินอาหารลดลง เกิดภาวะเครียด อัตราการเจริญเติบโตต่ำ ผลผลิตลด ภูมิคุ้มกันโรคลด ทำให้ไก่มีโอกาสติดเชื้อโรคได้ง่าย โดยไก่ที่ได้รับน้ำไม่เพียงพอจะสังเกตได้จากอาการที่ไก่แสดงออก เช่นอาการซึม แข้งไก่มีลักษณะแห้งจากสภาพแห้งน้ำ ถ้าไก่สูญเสียน้ำไปกว่า 1 ใน 10 ส่วนของน้ำที่มีอยู่ในร่างกายจะทำให้ไก่ตายได้
นอกจากนี้เกษตรกรต้องใส่ใจกับคุณภาพน้ำ โดยทั่วไปน้ำที่ดีควรเป็นน้ำบาดาล หากจำเป็นต้องใช้น้ำผิวดินควรปรับคุณภาพน้ำก่อน แต่ถ้าไม่สามารถเจาะบ่อบาดาลหรือใช้น้ำผิวดินได้ แนะนำให้ซื้อน้ำจากแหล่งที่เชื่อถือได้น้ำผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อโรคที่ดี อาทิเช่น ประปาหมู่บ้าน คุณภาพน้ำที่ดีสามารถสังเกตได้จากลักษณะภายนอกคือ สีใส ไม่ขุ่น รสชาติไม่เค็ม หากน้ำมีความขุ่นควรใช้สารส้มแกว่งในน้ำเพื่อให้ความขุ่นตกตะกอนก่อน ใช้สารส้ม 1 กรัมต่อน้ำ 100 ลิตร และใช้คลอรีนฆ่าเชื้อโรคที่ความเข้มข้น 3 – 5 ppm. (คลอรีน 3-5 ลิตร ต่อน้ำ 1 ล้านลิตร) จะช่วยป้องกันอาการท้องเสียในสัตว์ได้ ควบคู่กับการป้องกันโรคและสัตว์พาหะ เช่น นก หนู แมลง ยุง เน้นการเปลี่ยนรองเท้าก่อนเข้าโรงเรือนเลี้ยงสัตว์แต่ละหลัง เกษตรกรไม่ควรไปเยี่ยมฟาร์มของคนอื่น และไม่นำซากสัตว์ตายมาบริโภค
“แม้ทุกวันนี้เกษตรกรส่วนใหญ่จะหันมาใช้โรงเรือนอีแวปก็ตาม แต่ในช่วงที่อากาศร้อนจัดมีผลต่อการปรับอากาศของระบบทำความเย็น เกษตรกรต้องหมั่นตรวจอย่าให้มีรอยรั่วที่อากาศร้อนจากภายนอกจะผ่านเข้ามาได้ สามารถเพิ่มการสเปรย์น้ำในโรงเรือนเพื่อลดอุณหภูมิลง แต่ต้องระวังอย่าให้พื้นแฉะและมีกลิ่นก๊าซแอมโมเนีย ที่จะทำให้สัตว์ยิ่งเครียดมากขึ้น ควรผสมวิตามินละลายน้ำให้สัตว์กิน 3-5 วันติดต่อกัน เพื่อลดความเครียด” น.สพ.นรินทร์ กล่าว
ด้าน นายอดิศร์ กฤษณวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สำนักพัฒนาธุรกิจสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ แนะนำวิธีการเลี้ยงปลาในฤดูร้อนเพื่อลดความเสียหายให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำว่า ก่อนอื่นต้องพิจารณา เลี้ยงปลาไม่ให้หนาแน่นจนเกินไป อาจต้องลดอัตราการปล่อยลงจากปกติประมาณ 30% เพื่อให้ปลาอยู่สบายขึ้น เพราะอากาศที่ร้อนจะทำให้การละลายน้ำได้ของอ๊อกซิเจนลดลง และปรับสภาพแวดล้อมต่างๆให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของปลา เช่น การทำร่มเงาด้วยสแลนบังแดด ด้วยการคลุมสแลนเพื่อลดความเข้มของแสงที่จะตกลงไปถึงกระชังปลาหรือบ่อเลี้ยงโดยตรง โดยใช้สแลน 60-70% กางคลุมเหนือกระชังหรือบ่อเลี้ยง จะช่วยควบคุมทั้งอุณหภูมิน้ำและลดความเครียดจากแสงมากเกินไป ที่จะกระทบต่อปลาทำให้กินอาหารลดลง โตช้า และป่วยได้
ส่วนการเลี้ยงปลาในบ่อต้องมีการควบคุมคุณภาพน้ำ ปรับสภาพให้น้ำลึกไม่ต่ำกว่า 1.8 เมตร วัดค่าความขุ่นใสให้ได้ 40-50 ซม. และต้องวัดค่า DO บ่อยครั้งขึ้น เพราะน้ำที่อุณหภูมิสูงขึ้นออกซิเจนที่ละลายในน้ำจะลดลง เปิดเครื่องตีน้ำในช่วงกลางวัดด้วย ส่วนการเลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำที่มักพบปัญหาปริมาณของน้ำลดลงมาก ควรลงเลี้ยงปลาให้บางลงสัก30% ถ้าเป็นไปได้ต้ควรย้ายกระชังลงไปในบริเวณน้ำลึกขึ้น รวมทั้งต้องมีระบบป้องกันโดยการทำความสะอาดกระชังบ่อยครั้งขึ้นเนื่องจากฤดูร้อนพาราไซต์และแบคทีเรียจะเติบโตรวดเร็ว และควรกำจัดวัชพืชน้ำและสาหร่ายไม่ให้เกาะกระชัง ช่วยลดการกีดขวางการไหลของน้ำผ่านกระชังที่จะทำให้ออกซิเจนในกระชังต่ำลง หากมีการเปลี่ยนแปลงสภาพน้ำให้ผสมวิตามินซีในอาหารให้ปลากินติดต่อกัน3-5วัน ควรหมั่นสังเกตการกินอาหารของปลาอย่าให้เหลือเกินกว่า 5 นาที เปลี่ยนมาให้อาหารในช่วงที่อากาศไม่ร้อนจัด อาจแบ่งการให้อาหารเป็น 5–6 มื้อต่อวัน เพื่อกระตุ้นการกิน
“เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาทั้งปลากระชังในแม่น้ำและการเลี้ยงในบ่อ ควรติดตั้งเครื่องตีน้ำเพื่อช่วยเติมอากาศในน้ำโดยเฉพาะช่วงที่อากาศร้อนจัดในเวลากลางวัน ควรเปิดตลอดเวลาเพื่อให้น้ำมีการผสมกัน ไม่เกิดการแบ่งชั้นของน้ำ และช่วยให้อุณหภูมิน้ำไม่สูงจนเกินไป และต้องหมั่นตรวจสุขภาพปลาด้วยการสุ่มตรวจพาราไซต์ทุกๆสัปดาห์ และใช้แบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์ให้เหมาะสม โดยวัดจากค่าแอมโมเนียรวมที่ละลายน้ำไม่ควรเกิน 0.5 PPM” นายอดิศร์ กล่าวทิ้งท้าย./