โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายกฤษณพงศ์ กีรติกร เป็นนายกสภา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 15 ราย ประกอบด้วย นายกฤษฎา บุณยสมิต นายเจริญศักดิ์ โรจนฤทธิ์พิเชษฐ์ พลโทชุมพล เปี่ยมสมบูรณ์ นายดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ นายปิยะวัติ บุญหลง นายพีรเดช ทองอำไพ นายพีระศักดิ์ ศรีนิเวศน์ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร นายยุคล ลิ้มแหลมทอง นายลักษณ์ วจนานวัช พลเอก วุฒินันท์ ลีลายุทธ นายสมพร อิศวิลานนท์ นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ นายโสภณ ภูเก้าล้วน นายอมเรศ ภูมิรัตน ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2560 เป็นต้นไป ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 18 เมษายน 2560
สำหรับประวัติ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร (นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) มีดังนี้
ประวัติ
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร (11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2489) นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ประธานกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา อดีตที่ปรึกษาโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ (องค์การมหาชน) กรรมการกฤษฎีกา กรรมการในคณะกรรมการควบคุมมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
การศึกษา
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ระดับปริญญาตรี B.Sc.First Class Hons. Electrical Engineering (เกียรตินิยมอันดับ 1) ในปี พ.ศ. 2511 และปริญญาเอกด้านวัสดุวิศวกรรมไฟฟ้า แขนงวิศวกรรมไมโครเวฟ จากมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร นอกจากนี้ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ยังสำเร็จการศึกษาหลังปริญญาเอก ได้รับประกาศนียบัตรหลังปริญญาเอก Cert. Alternative Energy จาก มหาวิทยาลัยฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2553 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้มอบปริญญาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ให้แก่ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกรอีกด้วย
การทำงาน
ดร.กฤษณพงศ์ เริ่มรับราชการที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และได้เลื่อนตำแหน่งก้าวหน้าเรื่อยมา อาทิ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ประธานสายวิชาเทคโนโลยีวัสดุ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณบดีคณะพลังงานและวัสดุ รักษาการคณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ และตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นอกจากนี้ยังได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอื่นๆ นอกเหนือจากในมหาวิทยาลัยอีกหลายตำแหน่ง เช่น รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (พ.ศ. 2529 – 2541) ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และนายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรรมการบริหารสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร
ประสบการณ์ทำงาน
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2557)
- เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา
- อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี : รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์, รักษาการคณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ, คณบดีคณะพลังงานและวัสดุ, คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์, ประธานสายวิชาเทคโนโลยีวัสดุ,หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
- รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
- ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์, รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
- กรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ประธานกรรมการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
- ประธานคณะทำงานด้านการศึกษา คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.)
รางวัลที่เคยได้รับ
- รางวัลผู้นำวิทยาศาสตร์พลังงานทางเลือกดีเด่นแห่งชาติ สาขาเทคโนโลยี Solar PV
- รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย ประจำปี 2540
- ASEAN Science and Technology Meritorious Award (1996)
- Gold Medal (1969)
- George Young Bursary (1966), Grey, Law and Watt Scholarship (1971) of the University of Glasgow
- Royal Prize, awarded by HM the King for being the first in the National Examination of Secondary School Students (Science Program) (1965)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
- พ.ศ. 2557 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
- พ.ศ. 2555 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
- พ.ศ. 2534 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.) สืบตระกูล นายเกรียง กีรติกร
- พ.ศ. 2534 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้น 4 (ภ.ป.ร. 4)
งานวิจัย
- งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรังสีดวงอาทิตย์, ระบบแสงอาทิตย์เทียม, ระบบโซล่าเซลล์, ผิวเลือกรังสี, เซนเซอร์ชีวภาพและเคมี, ผิวเคลือบกันการผุกร่อน
- งานวิจัยด้านการศึกษานโยบาย
– อุดมศึกษา, เทคโนโลยีสารสนเทศ, พลังงาน, กำลังคนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, การศึกษาวิทยาศาสตร์ สำหรับผู้มีความสามารถพิเศษและผู้ด้อยโอกาส, เทคโนโลยีและภูมิปัญญา
– ตีพิมพ์บทความวิจัย บทความและรายงานทางวิชาการ ประมาณ 200 เรื่อง
– ควบคุมวิทยานิพนธ์นักศึกษาระดับปริญญาโทและเอกที่สำเร็จการศึกษาแล้ว ประมาณ 100 คน, ทำงานวิจัยและกำกับการวิจัยเชิงนโยบาย, การประเมินโครงการ/แผน, การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ/แผนระดับชาติและนานาชาติ ประมาณ 30 เรื่อง
(อ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี วันที่ 19 เมษายน 2560)