ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวภายหลังการตรวจเยี่ยมพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน ในพื้นที่อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ว่า พื้นที่ดังกล่าวดำเนินการตามโครงการส่งเสริมการเกษตรรูปแบบแปลงใหญ่ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญของ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประสานความร่วมมือสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร สำหรับพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ต้นแบบปาล์มน้ำมัน ตำบลกะลาเส และตำบลเข้าไม้แก้ว อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง มีการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น กรมชลประทาน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หน่วยงานนอกสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น องค์การบริหารส่วนตำบลกะลาเส สำนักงานท้องถิ่นจังหวัดตรัง ภาคเอกชน เช่น บริษัท ล่ำสูง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กลุ่มทำสวนควนเมา และที่สำคัญที่สุดคือเกษตรกร ทั้งหมดนี้ถือเป็นการทำงานแบบ “ประชารัฐ” ตามนโยบายของรัฐบาล ในเขตพื้นที่อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง มีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันทั้งหมด 44,198 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 18.76 ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมดของจังหวัด โดยมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันมากที่สุดในเขตตำบลกะลาเสและตำบลเขาไม้แก้ว
สำหรับในส่วนของกรมชลประทานได้จัดสรรน้ำสนับสนุนพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ในอำเภอสิเกา จังหวัดตรัง โดยใช้น้ำต้นทุนจากประตูระบายน้ำคลองกะลาเสซึ่งเป็นโครงการชลประทานขนาดกลางประเภทเหมืองฝาย ลักษณะเป็นประตูระบายน้ำปิดกั้นคลองกะลาเส ขนาด 6.50 x 6 เมตร จำนวนสามช่อง ปริมาณระบายน้ำสูงสุด 200 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และทดน้ำเข้าคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้ายและฝั่งขวาให้กับพื้นที่ชลประทานรวม 12,700 ไร่ โดยพื้นที่แปลงต้นแบบปาล์มน้ำมันตามระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ มีเกษตรปลูกปาล์มน้ำมัน 178 แปลง รวม 2,756.04 ไร่ เป็นพื้นที่ S1 2,446 ไร่ และมีพื้นที่ที่อยู่ในเขตชลประทาน 901 ไร่ โดยมีคลองชลประทานจัดส่งน้ำให้พื้นที่ปลูกปาล์มรวม 16 สาย นอกจากนี้ยังมีการสร้างฝายชะลอน้ำ จัดทำแปลงเรียนรู้การใช้น้ำให้กับเกษตรกรในโครงการเกษตรแปลงใหญ่โดยมีการจัดส่งน้ำแบบรอบเวร มีการอบรมถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งขุดลอกคลองส่งน้ำและกำจัดวัชพืชบริเวณหน้าประตูระบายน้ำ
ด้าน นายวิวัฒน์ ฮ่างเต็ก ประธานศูนย์เรียนรู้ต้นแบบปาล์มน้ำมันบ้านหนองใหญ่ ตำบลกะลาเส อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง กล่าวว่า รู้จักปาล์มน้ำมันมานานกว่า 30 ปี และได้ปลูกปาล์มมาเป็นระยะเวลา 20 ปี โดยจากการศึกษาดูงานและเรียนรู้จากแหล่งต่างๆ พบว่า การที่จะปลูกปาล์มน้ำมันให้มีรายได้เพียงพอ เกษตรกรจะต้องลดรายจ่ายและเพิ่มผลผลิต ดังนั้น จึงได้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรกันเพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมการเกษตรรูปแบบแปลงใหญ่ตามนโยบายรัฐ ซึ่งจะมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาให้การส่งเสริมและสนับสนุน ทำให้เกษตรกรมีอำนาจในการต่อรอง เช่น สามารถซื้อปุ๋ยรวมกันกับผู้จัดจำหน่ายได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้ได้ราคาปุ๋ยถูกลง ที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่มีผลต่อการเพิ่มผลผลิตคือ น้ำ โดยในพื้นที่แปลงใหญ่ที่นี่ก็มีน้ำจากชลประทานจัดสรรมาให้ โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้งตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ซึ่งทางชลประทานในพื้นที่จะมีการจัดส่งน้ำให้แบบรอบเวร ทำให้ไม่เคยมีปัญหาเรื่องน้ำเลย
จากการดำเนินงานแบบบูรณาการของทุกภาคส่วน ทำให้พื้นที่เกษตรแปลงใหญ่อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ประสบความสำเร็จ 6 ด้าน คือ ด้านลดต้นทุนการผลิต มีต้นทุนผันแปร ในปี 2559 จำนวน 1.96 บาท/กิโลกรัม ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2.80 บาท/กิโลกรัม ด้านการเพิ่มผลผลิต สามารถผลิตปาล์มน้ำมัน 3,350 กิโลกรัม/ไร่/ปี คิดเป็นร้อยละ 83.75 ของเป้าหมาย 4,000 กิโลกรัม/ไร่/ปี ด้านการเพิ่มคุณภาพผลผลิต เกษตรกรจำนวน 60 ราย ได้รับมาตรฐานการผลิตปาล์มน้ำมันสู่มาตรฐานการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน (RSPO) ด้านการตลาด มีจัดทำบันทึกข้อตกลงซื้อขาย (Contract Farmer) กับภาคเอกชน ซื้อผลผลิตราคาสูงกว่าตลาด 0.10 – 0.20 บาท/กิโลกรัม ด้านการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ สามารถปรับใช้นวัตกรรม และนำงานวิจัยไปต่อยอดในการพัฒนาการผลิต และด้านความยั่งยืน กลุ่มเกษตรกรรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง ยั่งยืน และมีผลกำไรจากการประกอบธุรกิจ