นายปราโมทย์ ยาใจ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินด้านปฏิบัติการ เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2560 ประเทศไทยได้มีการดำเนินโครงการความร่วมมือพัฒนาการเกษตรแบบมีสัญญา กับสาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy : ACMECS) ซึ่งเป็นความร่วมมือของรัฐบาล 5 ประเทศ ประกอบด้วย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนามและไทย เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการพัฒนาเศรษฐกิจของสองประเทศ ที่ยึดถือผลประโยชน์ร่วมกัน สำหรับกิจกรรมในปีนี้ มีการจัดกิจกรรมประสานแผนปฏิบัติงานตามโครงการฯ ประกอบด้วยการชี้แจงรายละเอียดแผนแม่บทโครงการ ACMECS พ.ศ. 2560-2564 การประสานงานและปรึกษาหารือการดำเนินกิจกรรมโครงการความร่วมมือฯ ประกอบด้วย การคัดเลือกพื้นที่ศึกษา นำร่องจัดทำเขตพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำ ณ แขวงเวียงจันทร์และแขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว การสำรวจและจัดทำข้อมูลทรัพยากรดินและข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนการใช้ที่ดินในพื้นที่โครงการใน สปป.ลาว สำหรับการฝึกอบรมนานาชาติในปี 2560 จะมีการฝึกอบรมในโครงการ 2 เรื่องได้แก่ “Satellite Image Interpretation and Land Use Mapping far ACMECS Project” และเรื่อง “Soil Survey and Information Systems for Watershed Management” ณ กรมพัฒนาที่ดิน ประเทศไทย
นายปราโมทย์ กล่าวต่ออีกว่า เมื่อวันที่ 2-12 เมษายน ที่ผ่านมา กรมพัฒนาที่ดิน ได้มีการจัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการนานาชาติไปแล้วเกี่ยวกับ การแปลภาพถ่ายดาวเทียม และการจัดทำแผนที่สภาพการใช้ที่ดินสำหรับโครงการ ACMECS หรือ Satellite Image Interpretation and Land Use Mapping far ACMECS Project โดยมีเจ้าหน้าที่ของประเทศสมาชิก ACMECS เข้าร่วมทั้ง 3 ประเทศ ซึ่งการฝึกอบรมในครั้งนี้เป็นการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการพัฒนาที่ดิน พัฒนาบุคลากรภาครัฐให้มีทักษะและความสามารถในการนำความรู้ที่ได้รับไปใช้กับการดำเนินโครงการจัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรดินและการวางแผนการใช้ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำของโครงการได้ การฝึกอบรมรมเรื่องการแปลภาพถ่ายดาวเทียมและการจัดทำแผนที่สภาพการใช้ที่ดิน เน้นการถ่ายทอดองค์วามรู้ในการแปลภาพถ่ายดาวเทียมของพื้นที่ศึกษานำร่องซึ่งเป็นพื้นที่ดำเนินงานของประเทศสมาชิก ACMECS ของ 3 ประเทศ ได้แก่ สหภาพเมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา รวมถึงเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ดินระหว่างประเทศอีกด้วย
“การสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่ดีจะสามารถผลักดันให้มีการขยายตัวทางการค้า การลงทุนของไทยและสมาชิก ACMECS รวมถึงเป็นการสร้างความสัมพันธ์ด้านการเกษตรที่ดี เสริมสร้างผลประโยชน์และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสมาชิก โดยใช้พื้นที่การเกษตรให้เหมาะสมตามศักยภาพของพื้นที่อย่างสูงสุด โดยกรมฯ เน้นความรับผิดชอบที่จะร่วมมือกันทางด้านวิชาการที่จะสามารถพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพและปริมาณที่เพียงพอต่อการใช้ภายในประเทศและการส่งออกต่างประเทศ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการปรับปรุงบำรุงดิน การผลิตที่ลดต้นทุนโดยใช้ปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ รวมถึงสนับสนุนความรู้ด้านกระบวนการวางแผนการใช้ที่ดิน การจัดทำฐานข้อมูลสภาพการใช้ที่ดิน ข้อมูลดิน เพื่อพัฒนาพื้นที่ที่เหมาะสมในการเพาะปลูกพืชในพื้นที่เป้าหมายให้มีประสิทธิภาพและรักษาสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบยั่งยืน รวมถึงการนำความรู้และทักษะที่ได้ ไปใช้ดำเนินกิจกรรมจัดทำข้อมูลทรัพยากรดินและวางแผนการใช้ที่ดินในพื้นที่โครงการและในการดำเนินงานต่อไปในอนาคต” นายปราโมทย์ กล่าว