ในที่สุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 พฤษภาคม 2560 ได้มีมติเห็นชอบแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม พ.ศ. 2560-2564 เพื่อเป็นกลไกการขับเคลื่อนเกษตรของไทยให้มีความเข้มแข็งเกษตรกรพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
พันเอก อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม พ.ศ. 2560-2564 ตามที่สภาเกษตรกรแห่งชาตินำเสนอ โดยมี 4 ยุทธศาสตร์สำคัญในการดำเนินการตามแผนดังกล่าว เช่น การพัฒนาทรัพยากรบุคคลและความเข้มแข็งบุคลากร
โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบพร้อมร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย นำแผนแม่บทฉบับดังกล่าวไปบูรณาการร่วมกับแผนพัฒนาการเกษตรในช่วงแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกี่ยวกับแผนพัฒนาการเกษตร ทั้งนี้เพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาทางเกษตรของไทยมีความเชื่อมโยงบูรณาการสนับสนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งนำไปสู่ภาคการเกษตรมีความเข้มแข็งเกษตรกรสามารถพึ่งพาตอนเองได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่งแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม พ.ศ. 2560-2564 ให้คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติทราบเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับ การเตรียมการยุทธศาสตร์ในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ร่างแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม พ.ศ. 2560-2564 มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
- กลุ่ม/องค์กรเกษตรกรสามารถพัฒนาดำเนินกิจกรรมตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและดำเนินธุรกิจอเนกประสงค์ เช่น ธุรกิจสินเชื่อ รวมซื้อแปรรูป รวมขาย และกิจกรรมแนะนำงานฟาร์ม ให้บริการตามความต้องการของสมาชิก
- เกษตรกรยากจนที่มีรายได้อยู่ใต้เส้นความจนมีรายได้เพิ่มขึ้นเพียงพอแก่การเลี้ยงชีพ
- ทรัพยากรการผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรทั่วถึงและเพียงพอ คุณภาพดินได้รับการปรับปรุงเหมาะสมแก่การเกษตร ตลอดจนมีโอกาสเข้าถึงเครื่องจักรอุปกรณ์แปรรูป
- เกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญทางเศรษฐกิจสามารถลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตและพัฒนาคุณภาพผลิต รวมทั้งมีการขยายปริมาณแปรรูปและเกษตรอุตสาหกรรมเพิ่มมูลค่า
- เกษตรกรได้รับสวัสดิการเกษตรกร โอกาสเข้าถึงและคุ้มครองสิทธิที่ดินทำกิน รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ด้านการเกษตรประกอบการตัดสินใจ รวมทั้งการมีกองทุนรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร
ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาทรัพยากรบุคคลและความเข้มแข็งขององค์กรเกษตรกร
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาและคุ้มครองทรัพยากรการผลิตทางการเกษตร
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและการรักษาเสถียรภาพด้านราคาสินค้าเกษตร
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคเกษตรและการสร้างความเข้มแข็งการบริหารจัดการด้านกองทุนการเกษตร
ที่มา-สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ และ RYT9