ตลาดทุเรียนแช่เยือกแข็งไทยสุดปังส่งออกปี 2.2 พันล้าน กระทรวงเกษตรฯ สบช่องเตรียมบังคับใช้มาตรฐานทุเรียนแช่เยือกแข็งภายในพ.ค. 60 นี้ หวังช่วยขจัดสินค้าไม่มีคุณภาพออกจากตลาด ด้านผู้ผลิต-ผู้ส่งออกขานรับนโยบาย ร่วมสร้างความมั่นใจให้ประเทศผู้นำเข้าทุเรียนแช่เยือกแข็งจากไทย
นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศส่งออกทุเรียนแช่เยือกแข็งที่สำคัญของไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ไต้หวัน และเกาหลี ปี 2559 ที่ผ่านมา ไทยมีการส่งออกทุเรียนแช่เยือกแข็งประมาณ 20,430 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,200 ล้านบาท
ดังนั้น เพื่อควบคุมคุณภาพสินค้าทุเรียนแช่เยือกแข็งในภาพรวม และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อตลอดจน เสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันให้กับสินค้าในตลาดโลก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เร่งจัดทำมาตรฐานทุเรียนแช่เยือกแข็งเป็นมาตรฐานบังคับขึ้น ขณะนี้มาตรฐานฉบับดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าจะทันบังคับใช้กับทุเรียนฤดูกาลนี้แน่นอน ในส่วนของผู้ผลิต ผู้ส่งออกทุเรียนแช่เยือกแข็ง พร้อมให้ความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรฐาน เพราะทุกคนอยากให้สินค้าทุเรียนแช่เยือกแข็งส่งออกเป็นที่ยอมรับและประเทศผู้นำเข้าทุเรียนแช่เยือกแข็งจากไทย มีความเชื่อมั่นในสินค้าของไทย
นางสาวดุจเดือน กล่าวถึงการส่งออกทุเรียนแช่เยือกแข็งในช่วงปีที่ผ่านมาด้วยว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้รับแจ้งเตือนจากประเทศคู่ค้าว่าพบปัญหาเนื้อทุเรียนไม่ได้คุณภาพ มีสิ่งปนเปื้อน รวมถึงพบเชื้อที่ทำให้เกิดโรคในคน เช่น เชื้อซัลโมแนลลาด้วย ทำให้สินค้าถูกส่งคืน เกิดความเสียหายทั้งด้านเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศ ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากกระบวนการผลิตและการแช่แข็งที่ไม่ได้คุณภาพ ขาดสุขลักษณะที่ดี ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ จึงเร่งดำเนินการจัดทำมาตรฐานบังคับการปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็งเพื่อการส่งออกขึ้น
เลขาธิการ มกอช. กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรฐานบังคับการปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็งเพื่อการส่งออก มีผลบังคับใช้กับผู้ส่งออกและผู้ผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็งและแช่เย็นจนแข็งเพื่อการส่งออกเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นทุเรียนทั้งผล เนื้อทุเรียนมีเมล็ด หรือเนื้อทุเรียนไม่มีเมล็ด สาระสำคัญของมาตรฐานครอบคลุมตั้งแต่การรับวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การเก็บรักษา และการขนส่ง ผู้ผลิตต้องทำให้มั่นใจว่าสินค้ามีการปนเปื้อนน้อยที่สุด ต้องมีเครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการควบคุมอุณหภูมิ การเก็บรักษา และต้องสามารถรักษามีอุณหภูมิของสินค้าได้ที่ -18 องศาเซลเซียส หรือต่ำกว่านั้น รวมทั้งต้องรักษาความสะอาดตลอดกระบวนการทำงานและดูแลสุขลักษณะของผู้ปฏิบัติงาน
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่มาตรการนี้จะมีผลบังคับใช้ ขอให้ผู้ผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็งเพื่อการส่งออกและผู้ส่งออก มาขออนุญาตเป็นผู้ผลิตหรือผู้ส่งออก ให้แล้วเสร็จก่อนวันที่มาตรฐานนี้มีผลบังคับใช้ รวมทั้งต้องเร่งดำเนินการขอรับการรับรองมาตรฐานจากผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานด้วย ซึ่งหากไม่มีใบอนุญาตและใบรับรองมาตรฐานบังคับนี้ จะไม่สามารถผลิตและส่งออกส่งออกทุเรียนแช่เยือกแข็งไปต่างประเทศได้ ทั้งนี้ผู้ผลิตผู้ส่งออก สามารถขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก และแจ้งการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (ระบบ TAS License) ได้ที่ tas.acfs.go.th สอบถามเพิ่มเติม โทร. 095-871-2113 หรือ 02-561-2277 ต่อ 5230
สำหรับ ทุเรียนแช่เยือกแข็งเป็นสินค้าที่มีแนวโน้มทางการตลาดที่ดี ได้รับการตอบรับจากหลายประเทศ เนื่องจากทุเรียนสดเป็นผลไม้ที่ต้องอาศัยความชำนาญในการพิจารณาความอ่อน ความแก่ ความดิบ ความสุก รวมถึงมีเปลือกที่แข็งและมีหนามคม แกะยาก ทุเรียนแช่เยือกแข็งจึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้บริโภคในต่างประเทศ ทุเรียนแช่เยือกแข็งโดยส่วนใหญ่ส่งออกในรูปแบบที่แกะเนื้อ ทำให้รับประทานง่าย สามารถนำไปแปรรูปต่อได้และสะดวกในการเก็บรักษา การส่งเสริมตลาดให้เติบโตในตลาดโลกแบบยั่งยืน