(เรื่อง/ภาพ : ปรัชญา รัศมีธรรมวงศ์)

“ขมิ้น” เป็นสินค้าขายดี เป็นที่ต้องการของตลาดตลอดทั้งปี เพราะขมิ้นเป็นทั้งเครื่องเทศและยาสมุนไพร คนไทยในพื้นที่ภาคใต้แทบทุกครัวเรือน นิยมใช้ขมิ้นเป็นเป็นส่วนประกอบ เพิ่มรสชาติความอร่อยในเมนูอาหารประเภท ปิ้ง ย่าง ต้ม ทอด และเครื่องแกง

ขมิ้น เป็นพืชล้มลุกที่มีเหง้าอยู่ใต้ดิน เนื้อในของเหง้าเป็นสีเหลือง อมส้ม มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ใบรูปเรียวยาว ออกดอกเป็นช่อ มีก้านช่อแทงออกมาจากเหง้าโดยตรง ดอกสีขาวอมเหลือง มีชื่อท้องถิ่นเรียก แตกต่างกันไป เช่น ขมิ้นหัว ขมิ้นแกง ขมิ้นหยวก (เชียงใหม่) สะยอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ตายอ (กะเหรี่ยง-กำแพงเพชร) ขมิ้น (ภาคกลาง) สำหรับภาคใต้เรียก ขี้มิ้น ขมิ้นชันที่ดีในตลาดโลกมีมากกว่า 50 สายพันธุ์ ส่วนมากมาจากอินเดีย สำหรับประเทศไทยปลูกขมิ้นได้ทั่วไป แต่ส่วนใหญ่นิยมปลูกอย่างแพร่หลายในพื้นที่ภาคใต้

ต้นขมิ้นถ้ำทองหลาง
ต้นขมิ้นถ้ำทองหลาง

ปัจจุบัน พื้นที่ตำบลถ้ำทองหลาง อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา ได้รับการยกย่องว่าเป็น แหล่งปลูกขมิ้นคุณภาพดีระดับแนวหน้าของเมืองไทย หลังจากมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์จังหวัดตรัง และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้สำรวจคุณภาพขมิ้นที่ปลูกในพื้นที่ตำบลถ้ำทองหลาง พบว่า มีสีเหลืองเข้มของสารเคอร์คิวมิน มากกว่าขมิ้นที่ปลูกในแหล่งอื่น ถึง 5 เท่าตัว ซึ่งสาร “เคอร์คิวมิน” มีสรรพคุณ ต่อต้านไวรัสบางชนิด เช่น ไวรัสเอดส์ มะเร็ง โรคเรื้อน ป้องกันการแข็งตัวของเม็ดเลือด ใช้รักษาแผลผุพอง ผื่นคัน ท้องอืด ท้องเฟ้อ ฯลฯ

ทำเลเป็นต่อ ปลูกขมิ้นได้มีคุณภาพดี 

ขมิ้นที่ปลูกในตำบลถ้ำทองหลางได้รับยกย่องว่าเป็นแหล่งปลูกขมิ้นที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ เพราะปลูกในแหล่งดินที่มีแร่ธาตุสูง บริเวณที่ราบเชิงเขา ผนวกกับภูมิปัญญาชาวบ้านจากรุ่นสู่รุ่น ในเรื่องการปลูกดูแลขมิ้น ผสมผสานกับเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย ทำให้ขมิ้นตำบลถ้ำทองหลาง มีคุณภาพดี สะอาด ปลอดภัยจากสารพิษ มีสีสันสวยงาม รวมทั้งผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐานจากองค์การอาหารและยา (อย.)

คุณปรีดา ทวีรส (โทร.081-476-7441) ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านเขาตำหนอน พื้นที่หมู่ 1 ต.ถ้ำทองหลาง อ.ทับปุด จ.พังงา กล่าวว่า ชาวบ้านในตำบลถ้ำทองหลางได้เริ่มต้นปลูก ขมิ้น เป็นพืชเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2514 หรือเมื่อ 46 ปีก่อน โดยนายหีบ เพิ่มทรัพย์ เป็นคนแรกที่นำขมิ้นมาทดลองปลูกในหมู่บ้าน ปรากฏว่า ต้นขมิ้นเจริญเติบโตดี ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ เพราะปลูกในเนื้อดินสีแดง ทำให้หัวขมิ้นมีสีเหลืองเข้ม มีสีสวยมากกว่าปกติ จึงเป็นที่นิยมของตลาดในวงกว้าง และมีขยายพื้นที่ปลูกขมิ้นไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงที่มีสภาพดินสีแดงเช่นเดียวกัน

ในระยะแรก ชาวบ้านปลูกขมิ้นและนำออกขายในลักษณะขมิ้นสดเป็นหลัก ปรากฏว่าได้ผลกำไรน้อย และมีข้อจำกัดในเรื่องอายุการขายสั้น  ช่วงปี 2526  เกษตรกรผู้ปลูกขมิ้น อำเภอทับปุด ประสบปัญหาราคาขมิ้นตกต่ำ จากเดิมที่เคยขายได้กก.ละ 30 บาท เหลือแค่ 4 บาท/กก.  ดังนั้นชาวบ้านเขาตำหนอนจึงได้รวมตัวกันจัดตั้ง “กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านเขาตำหนอน” เพื่อแปรรูปผลผลิตจากขมิ้นผงด้วยครก ต่อมาได้พัฒนาครกกระเดื่องถีบด้วยแรงคนเพื่อทุนแรง ต่อมาปี 2542 รัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ สนับสนุนโรงเรือนและเครื่องบดขมิ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้เข้าสู่มาตรฐานสากลมากขึ้น

หน่วยงานภาครัฐ เช่น สำนักงานเกษตรอำเภอทับปุด สภาเกษตรกรจังหวัดพังงา สำนักงานส่งเสริมสหกรณ์จังหวัดพังงา ฯลฯ ได้เข้ามาสนับสนุนองค์ความรู้ เงินทุน และอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อพัฒนาต่อยอดสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นในลักษณะ ข้าวเกรียบขมิ้น ขมิ้นแคปซูล สบู่สมุนไพร ข้าวเกรียบกุ้งผสมขมิ้น รวมทั้งพริกแกงนานาชนิด ทั้งแกงเหลือง  แกงไก่ แกงกะทิ, แกงไตปลา เป็นต้น

สินค้าชุมชนแห่งนี้ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ระดับ 5 ดาว สร้างชื่อเสียงและรายได้เข้าสู่จังหวัดพังงา ปีละกว่า 20ล้านบาท ทางกลุ่มฯจะปันผลให้สมาชิกทุกสิ้นปีในเดือนธันวาคม และหักรายได้ส่วนหนึ่งสำหรับบริหารจัดการกลุ่มและดำเนินกิจกรรมสาธารณประโยชน์ 5% แต่ละปี สมาชิกจะมีรายได้ประมาณ 50,000-60,000 บาท

ขมิ้นตากแห้ง
ขมิ้นตากแห้ง

การปลูกดูแลขมิ้น

ชาวบ้านนิยมปลูกขมิ้นแปลงใหญ่บนที่ราบเชิงเขา บางรายปลูกขมิ้นแซมในสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน ก่อนเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ชาวบ้านจะไถพรวนเตรียมดิน โดยไถยกร่อง เก็บวัชพืชออกก่อน ขุดหลุมปลูกลึกประมาณ 1 หน้าจอบ ระยะปลูกในระยะห่าง 30-40 เซนติเมตรนิยม โดยเริ่มปลูกขมิ้นประมาณช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม โดยทั่วไปต้นขมิ้น สามารถเติบโตได้ในสภาพดินทุกชนิด สำหรับมือใหม่ที่สนใจปลูกขมิ้น คุณปรีดาแนะนำให้ปลูกในสภาพดินร่วนที่ระบายน้ำได้ดี น้ำไม่ท่วมขัง หากปลูกในดินเหนียวควรใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 1 ตัน/ไร่ เพื่อปรับปรุงคุณภาพดินก่อนปลูก โดยทั่วไปพื้นที่ 1 ไร่ สามารถปลูกขมิ้นได้ประมาณ 10,000 กอ

คุณปรีดาบอกว่า ขมิ้นที่ใช้ปลูกเป็นพันธุ์พื้นเมือง ชาวบ้านจะใช้แกนขมิ้นที่เรียกว่า “แม่หัวขมิ้น” อายุ 1 ปี เป็นแม่พันธุ์ ก่อนปลูกจะนำไปแช่ยากันรา ยาฆ่าเพลี้ย เพื่อป้องกันโรคหัวเน่าและกำจัดเพลี้ย หลังจากนั้นจะนำท่อนพันธุ์มาใส่ก้นหลุมแล้วกลบดินทับพอประมาณ  ปลูกท่อนละหลุม โดยทั่วไป หากปลูกโดยใช้ท่อนพันธุ์ สามารถทำได้ 2 รูปแบบคือ ใช้หัวแม่ และใช้แง่ง หากปลูกด้วยหัวแม่จะให้ผลผลิตประมาณ 3,300 กก.ต่อไร่ หากปลูกด้วยแง่ง จะให้ผลผลิตประมาณ 2,800 กก./ไร่

หลังการปลูกขมิ้นไปได้ 40-45 วัน เกษตรกรจะทำการกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกโดยใช้จอบดายหญ้าและพรวนดินไปพร้อมกัน บริเวณโคนต้นจะใช้มือถอนวัชพืชแทน เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้ มีสภาพดินอุดมสมบูรณ์ จึงไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเคมีเพิ่ม คุณปรีดาบอกว่า ระยะแรกที่ปลูก ขมิ้นไม่เจอปัญหาโรคและแมลงรบกวน แต่ระยะหลังที่มีการปลูกขิงเพิ่มในท้องถิ่น ปรากฏว่า ต้นขมิ้นเจอปัญหาโรคแง่งเน่า ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ติดมากับพันธุ์ขิง จึงต้องคอยดูแลเป็นพิเศษมากขึ้น

การเก็บเกี่ยวขมิ้น

หลังปลูกขมิ้นไปได้ 7-8 เดือน จะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงฤดูหนาว ประมาณเดือนธันวาคม-มกราคมของทุกปี ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวเป็นระยะที่หัวขมิ้นชันแห้งสนิท  สังเกตได้จากใบขมิ้นมีอาการใบเหี่ยวแห้ง โดยทั่วไปจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณกอละ 1 กิโลกรัม  หรือไร่ละ 2,500 กก. หากขุดผลผลิตขึ้นมาไม่หมด สามารถเก็บไว้ขุดใหม่ได้ในปีถัดไป

หลังเก็บเกี่ยว จะรวบรวมผลผลิตไปล้างทำความสะอาดด้วยน้ำ เพื่อล้างเศษดินออกให้หมด และทำการตกแต่งขมิ้น เพื่อขายหัวสด และแบ่งบางส่วนนำมาแปรรูปเป็นขมิ้นผง ซึ่งให้ผลตอบแทนดีกว่าการขายหัวขมิ้นสด

แปรรูปขมิ้นผง
เครื่องอบแปรรูปขมิ้น

การแปรรูปขมิ้นผง

โดยทั่วไปหัวขมิ้นสด น้ำหนัก 5-6 กิโลกรัม สามารถแปรูปเป็นขมิ้นผงได้ 1 กิโลกรัม ซึ่งขั้นตอนการแปรูป เริ่มจากนำหัวขมิ้นอายุ 1 ปี มาล้างตัดแต่งทำความสะอาด ตากแดด 1 วันก่อนนำไปหั่นเป็นชิ้นบางๆ ตากแดดอีก 3-4  วัน จนขมิ้นแห้งกรอบ เก็บ ใส่ถุงมิดชิดก่อนจึงค่อยนำไปบดเป็นผง ร่อนจนได้ขมิ้นผงเนื้อละเอียดนำไปบรรจุหีบห่อ หรือใส่แคปซูล เพื่อรอการจำหน่าย

“ขมิ้นสด ขายได้ในราคากิโลกรัมละ  20-30  บาท  ส่วนขมิ้นตากแห้งขายได้กิโลกรัมละ 150 บาท ส่วนขมิ้นผง สร้างเพิ่มมูลค่าได้สูงขึ้น ราคาขายส่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 300 บาท ตลาดต้องการขมิ้นผงจำนวนมาก ลูกค้าหลักอยู่ในพื้นที่ กทม. เพชรบุรี กระบี่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี  ตรัง เป็นต้น” คุณปรีดากล่าว

โรงอบพลังงานแสงอาทิตย์
โรงอบพลังงานแสงอาทิตย์

ปัจจุบันตำบลถ้ำทองหลาง ปลูกขมิ้น เนื้อที่ประมาณ 312 ไร่ ผลผลิตรวม 780,000 กิโลกรัม สร้างรายได้เข้าสู่ท้องถิ่นกว่าปีละ 20 ล้านบาท ใครสนใจอยากเรียนรู้เรื่องการปลูกขมิ้นเชิงพาณิชย์ สามารถแวะเข้ามาเรียนรู้ได้ที่ชุมชนแห่งนี้ เพราะที่นี่เป็น “หมู่บ้านต้นแบบสมุนไพรแปรรูป” โดยเฉพาะการปลูกและแปรรูปขมิ้น

หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม หรือต้องการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ติดต่อได้ที่ คุณปรีดา ทวีรส ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านเขาตำหนอน โทร. 081-4767441  

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated