นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาคการเกษตรของไทยต้องเผชิญกับปัญหานานัปการ เช่น การขาดความรู้ของเกษตรกร ผลผลิตล้นตลาด ต้นทุนการผลิตสูง การขาดแคลนน้ำสลับกับปัญหาอุทกภัย ปัญหาทรัพยากรดินที่เสื่อมโทรม สภาพดินขาดความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากการใช้สารเคมีในภาคเกษตร การเจริญเติบโตของชุมชนเมือง ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และความท้าทายจากภายนอก เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การกีดกันทางการค้าที่นับวันรุนแรงมากขึ้น การเปิดเสรีการค้าสินค้าเกษตร และความเปลี่ยนแปลงของตลาดโลก ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงความยากจนของเกษตรกรรายย่อย จนนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ในที่สุด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีนโยบายปฏิรูปการเกษตรของประเทศไทย (ปี 2556-2561) เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศ ซึ่งการพัฒนาเกษตรกรเป็นอีกหนึ่งในความสำคัญที่ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะต้องร่วมดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในด้านการพัฒนาการบริหารจัดการด้านการเกษตร และประโยชน์เพื่อเกษตรกรที่จะได้รับการพัฒนาที่มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับความต้องการ ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกร ชุมชนเกษตรกร สามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป เพื่อนำพาตัวเองก้าวพ้นสู่ความยากจน มีรายได้ที่สูงมากขึ้นจนสุดท้ายเป็นเกษตรกรคุณภาพ หรือ Smart Farmer
นายสุรเดช กล่าวต่อไปว่า กรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นด้านการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร การสร้างศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรกร (ศพก.882 ศูนย์) ทั่วประเทศ ตลอดจนการสร้างเกษตรกรต้นแบบที่มีองค์ความรู้ สามารถใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ทางการเกษตร ที่ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต หรือที่เรียกว่า “Smart Farmer” โดยได้มีการฝึกอบรมความด้านรู้ต่างๆ เกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินไปยังหมอดินอาสาประจำหมู่บ้านทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันในการยกระดับพัฒนาความรู้ให้เกษตรกร ชุมชนเกษตรกร สร้างพื้นฐานความยั่งยืนให้กับภาคเกษตรกรรมไทยในอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการยกระดับรายได้ประชากรไทย และพัฒนาให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นประเทศดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ตามนโยบาย Thailand 4.0 ที่มุ่งเน้นให้เกษตรกรพัฒนาศักยภาพของตนเอง รู้จักนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตและการตลาด มีการติดตามสถานการณ์ต่างๆ เพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการนำข้อมูลข่าวสารด้านการเกษตรมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาและต่อยอดผลผลิตของตนเองมากขึ้น เพื่อยกระดับมาตรฐานของเกษตรกรไทยให้มีคุณภาพชีวิตมีมาตรฐานองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง และได้รับการพัฒนาเป็นเกษตรกรที่มีความพร้อมรับกับสถานการณ์ด้านการเกษตรที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรไทยมีความรู้พร้อมกับความเชี่ยวชาญในการประกอบอาชีพการเกษตร โดยมีหมอดินอาสาประจำหมู่บ้านซึ่งเป็นเกษตรกรเครือข่าย เป็นตัวแทนของกรมพัฒนาที่ดินในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด ทำหน้าเป็นผู้ประสานงานด้านการพัฒนาที่ดิน ตลอดจนให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในพื้นที่เกี่ยวกับการจัดการแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของดิน รวมทั้งร่วมดำเนินกิจกรรมต่างๆ กับกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งหมอดินอาสาเหล่านี้ถือว่าเป็นผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้กับกรมพัฒนาที่ดินและเกษตรกรที่ประกอบอาชีพการเกษตรในชุมชน เป็นผู้ที่คอยช่วยเหลือให้คำแนะนำเรื่องการดูแลทรัพยากรดิน การปรับปรุงบำรุงดิน การใช้เทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของกรมพัฒนาที่ดิน รวมทั้งให้คำแนะนำแก่เกษตรกรอื่นๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งปัจจุบันมีหมอดินอาสาครอบคลุมทั่วประเทศ 80,000 กว่าราย
“สำหรับหลักสูตรการฝึกอบรมหมอดินอาสานั้น เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้แผนที่ข้อมูลกลุ่มชุดดิน ข้อมูลแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจ ข้อมูลแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อให้รับรู้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน สามารถอธิบายให้ผู้อื่นเข้าใจได้ตลอดจนมีความสามารถที่จะเป็นวิทยากรบรรยายความรู้และสาธิตงานเกี่ยวกับด้านการพัฒนาที่ดิน ประจำศูนย์เรียนรู้และจุดเรียนรู้ด้านการพัฒนาที่ดิน สร้างจิตสำนึกและปรับทัศนคติแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อประยุกต์ใช้เป็นหลักในการพึ่งตนเองของเกษตรกร โดยหมอดินอาสาที่ผ่านการฝึกอบรมจะได้นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการฝึกอบรมไปประยุกต์ใช้กับงานที่รับผิดชอบ สามารถทำหน้าที่เป็นตัวแทนของกรมพัฒนาที่ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผล สามารถช่วยเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ปุ๋ย การปรับปรุงบำรุงดิน การถ่ายทอดข่าวสารด้านการพัฒนาที่ดินและเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ได้ต่อไป” อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าว