ระวัง! ปลูกกล้วย(ระยะติดผล) อาจเจอ 3 โรครุม...“ตายพราย” ถึงตายได้
สวนกล้วยให้ระวัง 3 โรครุมช่วงฤดูร้อนนี้

สวนกล้วยให้ระวัง 3 โรครุมช่วงฤดูร้อนนี้ กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรปลูกกล้วยในระยะติดผลให้สังเกตอาการของ โรคตายพราย โรคใบจุดเฟโอเซปทอเรีย และ โรคใบจุดซิกาโตกาสีเหลือง
– โรคตายพราย อาการเริ่มแรกพบใบกล้วยด้านนอกหรือใบแก่เหี่ยวเหลือง และลุกลามเหลืองจากขอบใบเข้ากลางใบก้านใบหักพับตรงรอยต่อกับลำต้น และทยอยหักพับตั้งแต่ใบด้านนอกเข้าไปสู่ใบด้านใน ซึ่งระยะแรกใบยอดยังเขียวตั้งตรงต่อมาเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และใบทั้งหมดจะเหี่ยวแห้ง หากตัดลำต้นกล้วยตามขวางหรือตามยาวจะพบเนื้อในของกาบใบบางส่วนเน่าเป็นสีน้ำตาล ต้นกล้วยชะงักการเจริญเติบโตและตายในที่สุดโดยในประเทศไทยพบโรคนี้เฉพาะในกล้วยน้ำว้าเท่านั้น

กล้วยติดผล
กล้วยติดผล

วิธีป้องกันกำจัด เกษตรกรควรหมั่นตรวจและกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบให้ราดบริเวณกอกล้วยหรือโคนต้นที่เป็นโรคด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชอีไตรไดอะโซล+ควินโตซีน 6%+24% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์เบนดาซิม 50% เอสซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารทีบูโคนาโซล 43% เอสซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร กรณีพบอาการรุนแรงจนใบเหลืองและเหี่ยวตายทั้งต้น ให้ขุดต้นที่เป็นโรคออกไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก จากนั้นโรยปูนขาวหรือโดโลไมท์ปรับสภาพดินไม่ให้เป็นกรดจัด ให้ทั่วบริเวณหลุมที่ขุดต้นเป็นโรคออกไปหรือกอที่เป็นโรค อัตรา 1-2 กิโลกรัมต่อหลุม และควรทำความสะอาดอุปกรณ์การเกษตรที่ใช้กับต้นที่เป็นโรคก่อนนำกลับมาใช้ใหม่ นอกจากนี้ เกษตรกรควรทำแปลงปลูกให้มีการระบายน้ำที่ดี และควรระมัดระวังการให้น้ำ โดยไม่ให้น้ำไหลผ่านจากต้นที่ เป็นโรคไปสู่ต้นปกติ หากเกษตรกรต้องการปลูกกล้วยในพื้นที่ใหม่ หลีกเลี่ยงการปลูกในพื้นที่ที่เคยมีการระบาดของโรคนี้มาก่อน และไม่นำหน่อพันธุ์จากต้นตอที่เป็นโรคไปปลูกให้เลือกใช้หน่อกล้วยที่มีคุณภาพดีจากแหล่งปลอดโรค หรือชุบหน่อพันธุ์กล้วยด้วยสารเคมี อีไตรไดอะโซล+ควินโตซีน 6%+24% อีซี หรือสารคาร์เบนดาซิม 50% เอสซี หรือสารทีบูโคนาโซล 43% เอสซี อัตรา 30มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร รวมถึงควรสลับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน เพื่อตัดวงจรการระบาดของโรค

อาการเริ่มแรกพบใบกล้วยด้านนอกหรือใบแก่เหี่ยว
อาการเริ่มแรกพบใบกล้วยด้านนอกหรือใบแก่เหี่ยวเหลือง และลุกลามเหลืองจากขอบใบเข้ากลางใบก้านใบหักพับตรงรอยต่อกับลำต้น

– โรคใบจุดเฟโอเซปทอเรีย พบจุดเล็กสีน้ำตาลดำ ต่อมาแผลขยายใหญ่ยาวรี หากความชื้นเหมาะสมกลางแผลจะแห้งสีน้ำตาลอ่อนปนเทา ขอบแผลเป็นแถบสีน้ำตาลเข้ม รอบแผลสีเหลือง
– โรคใบจุดซิกาโตกาสีเหลือง เริ่มแรกพบจุดเล็กสีเหลือง ต่อมาแผลขีดสีเหลืองยาวขนานไปตามเส้นใบขยายใหญ่ ตรงกลางแผลแห้งเป็นสีน้ำตาลปนเทา แผลคล้ายรูปตา มีวงสีเหลืองล้อมรอบ หากอาการรุนแรง ใบจะเหลืองขอบใบแห้งและฉีกขาด ทำให้กล้วยมีการเจริญเติบโตไม่เต็มที่ การออกดอกและผลไม่ปกติ ผลเล็กไม่สมบูรณ์และผลแก่ก่อนกำหนด
วิธีป้องกันกำจัด โรคใบจุดทั้ง 2 โรคนี้ ให้เกษตรกรหมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอหากพบโรคให้ตัดใบที่เป็นโรคไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก และตัดแต่งใบกล้วยไม่ให้แน่นเกินไปจากนั้นพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชคาร์เบนดาซิม 50% เอสซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโพรคลอราซ 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารทีบูโคนาโซล 43% เอสซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไดฟีโนโคนาโซล 25% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแมนโคเซบ 80 % ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นให้ทั่วต้นที่เป็นโรค

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated