พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การนำเสนอผลงานวิจัย เรื่อง “ข้าว” ในวันนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับทั้งเกษตรกร ในเรื่องของการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ตลอดจนผู้ประกอบการ ซึ่งสามารถนำนวัตกรรมจากงานวิจัยไปขยายผลต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับข้าวไทยในตลาดโลกได้ สอดคล้องกับกรอบแนวทางการแก้ไขปัญหาข้าวครบวงจร 8 ด้าน ประกอบด้วย
1.การปรับโครงสร้างการผลิตข้าว เพื่อสร้างความสมดุลอุปทานการผลิตใหม่
2.ส่งเสริมการปลูกพืชทดแทนนาข้าวคุณภาพต่ำและเพาะปลูกในพื้นที่ไม่เหมาะสม
3.การสนับสนุนลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการตลาด
4.รณรงค์และโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพื่อส่งเสริมให้คนไทยบริโภคข้าวมากขึ้น และเพื่อส่งเสริมการผลิตและตลาดข้าวเชิงรุก
5.พัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางด้านข้าวอย่างมีประสิทธิภาพ
6.นำงานวิจัยและนวัตกรรมช่วยต่อเติมห่วงโซ่อุปทานเป็นห่วงโซ่คุณค่า
7.ส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยให้ผลิตรูปแบบอินทรีย์ เกษตรปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ
8.การพัฒนาข้าวคุณภาพข้าว โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวในเขตพื้นที่เหมาะสม
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์
โดยขณะนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันผลิตในรูปแบบแปลงใหญ่ โดยชี้ให้เห็นถึงผลสำเร็จการรวมกลุ่มเพื่อผลิตสินค้าที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ มี สวก. ทำหน้าที่บริหารจัดการทุนวิจัย จนมีผลงานวิจัยที่ประสบผลสำเร็จทั้งในเชิงพาณิชย์ เชิงสาธารณะ และเชิงนโยบาย โดยในกรอบแนวทางของการแก้ไขปัญหาข้าวครบวงจร ด้าน “นำงานวิจัยและนวัตกรรมช่วยต่อเติมห่วงโซ่อุปทานเป็นห่วงโซ่คุณค่า” นั้น สวก. ได้ให้ทุนสนับสนุนแก่นักวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม พัฒนาสินค้าข้าวเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง ทั้งในกลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพ โภชนเภสัช เวชภัณฑ์และเวชสำอาง
ด้านนายธีรวัช ภรสัมฤทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญระบบวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวถึงที่มาของการจัดสัมมนาในครั้งนี้ว่า วช. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานให้ทุนทำวิจัย ภายใต้ชื่อ “เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ” หรือ คอบช. บริหารจัดการทุนอุดหนุนการวิจัยที่มุ่งเป้าตอบสนองความต้องการพัฒนาประเทศกลุ่มเรื่องข้าวมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555 ถึงปัจจุบัน โดยได้จัดสรรทุนวิจัย 874 ล้านบาท จำนวน 287 โครงการ โดยมี สวก. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบบริหารทุนวิจัย เพื่อจัดสรรให้แก่โครงการวิจัยที่สามารถแก้ปัญหาเรื่องการผลิตและคุณภาพข้าวอย่างครบวงจร
นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) กล่าวเพิ่มเติมถึงการบริหารจัดการทุนวิจัยว่า ในปีงบประมาณ 2555 – 2557 สวก. ได้จัดสรรทุนวิจัยให้แก่นักวิจัย รวมทั้งสิ้น 608 ล้านบาท จำนวน 192 โครงการ มีผลงานวิจัยที่ก่อให้เกิดผลสำเร็จ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. ผลงานที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ ซึ่งได้จดคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว 52 คำขอมีผลงานวิจัยที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชนนำไปผลิตเป็นการค้าแล้ว 10 ราย จำนวน 5 โครงการ คือ
1.1) การออกแบบสร้างเครื่องให้ความร้อนแบบไดอิเล็คตริก สำหรับฆ่ามอดข้าว
1.2) โครงการคุณลักษณะจำเพาะต่อการแปรรูปของข้าว 84 สายพันธุ์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ : ผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพมูลค่าเพิ่มจากข้าวสายพันธุ์เด่นของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
1.3) โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เวชสำอางต้นแบบจาก
น้ำหมักที่ได้จากข้าวก่ำสายพันธุ์ KKU URL381
1.4) โครงการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดจากการเพาะเลี้ยงจมูกข้าว
1.5) โครงการประยุกต์ใช้สารออกฤทธิ์จากข้าวสีในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง
2. ผลงานที่เป็นองค์ความรู้และผลงานที่นำไปใช้ประโยชน์เชิงสาธารณะ จำนวน 44 โครงการ มีผลงานวิจัยเด่นใน 3 ระดับ ได้แก่
2.1) ต้นน้ำ เน้นการพัฒนาเกษตรกรให้ใช้เทคโนโลยีในการผลิตข้าวที่เหมาะสม ได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น
2.2) กลางน้ำ เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีในการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวที่มีประสิทธิภาพและเทคโนโลยีในการผลิตข้าวตลอดห่วงโซ่การผลิตข้าวคุณภาพ
2.3) ปลายน้ำ ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมข้าวที่มีคุณสมบัติพิเศษจากจุดเด่นของข้าวไทยที่มีความหลากหลายกว่าประเทศคู่แข่ง เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง
ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากมุมมองของเกษตรกร นักวิจัยและผู้ประกอบการ รวมทั้งจัดแสดงนิทรรศการการขับเคลื่อนงานวิจัย สวก. ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผลงานวิจัยที่นำไปใช้ประโยชน์เชิงนโยบาย ตลอดจนเทคโนโลยีการผลิตข้าวครบวงจรตั้งแต่การปลูกจนถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์ มีผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า และสร้างมูลค่าสูงจากนวัตกรรมรวม 21 ผลิตภัณฑ์ เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า หรือผลิตภัณฑ์ 3.0 จำนวน 15 ผลิตภัณฑ์ และเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าจากนวัตกรรม หรือผลิตภัณฑ์ 4.0 จำนวน 6 ผลิตภัณฑ์