ว่าที่ร้อยตรีสมพูนทรัพย์ กล้าวิกรณ์ เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการปลูกกล้วยหอมทองอินทรีย์เพื่อการส่งออกระหว่างวันที่ 25-26 พฤษภาคม 2560 ณ หอประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลหัวขวาง อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ว่า ที่มาของโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการปลูกกล้วยหอมทองอินทรีย์เพื่อการส่งออกนั้น เนื่องจากทางสภาฯ มีองค์กรเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสภาฯมีปัญหาเรื่องการปลูกผลผลิตและประสบปัญหาพืชผลทางการเกษตร เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ปี 2559/2560 มีราคาตกต่ำ จึงมีแนวคิดในการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูก พื้นที่ อ.โกสุมพิสัย เป็นพื้นที่เหมาะสมมีแหล่งน้ำคือลำน้ำชี และยังมีทางน้ำเข้ามาอีกประมาณ 11 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ดอนและพื้นที่สูงไม่สามารถปลูกข้าวได้ เมื่อทำการทดสอบแร่ธาตุของดินในพื้นที่เพาะปลูกเห็นว่าเหมาะกับพืชเศรษฐกิจที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศสูง เช่น ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เอกวาดอร์ และโคลัมเบีย นั่นคือ “กล้วยหอมทอง” เนื่องจากกล้วยหอมทองที่ผลิตในประเทศไทยมีรสชาติหอมหวาน เปลือกบาง เนื้อไม่เหนียว จึงเป็นโอกาสดีที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรที่มีพื้นที่เหมาะสมทำการเพาะปลูกโดยผลักดันให้เป็นการปลูกแบบอินทรีย์ซึ่งจะทำให้มีมูลค่าและปลอดภัยกับผู้บริโภคด้วย โดยสภาเกษตรกรจังหวัดมหาสารคามจัดทำแผนพัฒนาเกษตรกรรมระดับตำบลร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลหัวขวางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอให้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรตามนโยบายการตลาดนำการผลิต มีเกษตรกรรวมกลุ่มจำนวน 122 ครัวเรือน พื้นที่ 1,011 ไร่ ทยอยปลูกไปบ้างแล้วประมาณ 30,000 ต้น 5 ตำบล คือ ตำบลหัวขวาง หนองบอน แก้งแก หนองกุงสวรรค์ และยางน้อย ปัญหาที่พบจะเป็นเรื่องของระบบน้ำที่จะนำน้ำจากลำน้ำชีมาใช้ในระบบท่อหรือลำไส้ไก่โดยชลประทานให้การสนับสนุน ให้ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์โครงการทำการเกษตรแบบแปลงใหญ่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเป็นการสร้างองค์ความรู้ให้กับเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นด้านการตลาด การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม เทคนิคการปลูก เป็นต้น ทั้งนี้ ด้วยพื้นที่ในการปลูกกล้วยหอมทองอินทรีย์นั้นระหว่างต้นยังมีพื้นที่ว่างพอให้แซมพืชเศรษฐกิจตัวอื่นที่สามารถจะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้นได้ หากพื้นที่ที่นำร่องอยู่แซมด้วยพืชชนิดอื่น และเกษตรกรมีความพร้อมในเรื่องของพื้นที่ปลูกแซม สภาเกษตรกรฯ ก็ยินดีสนับสนุนต่อไป