สวก. จับมือกลุ่มมิตรผล
สวก. และกลุ่มมิตรผล ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรเชิงพาณิชย์

สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. และกลุ่มมิตรผล ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยพัฒนา และต่อยอดเทคโนโลยีการเกษตรตามแนวทางเกษตรยั่งยืน โดยส่งเสริมให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง การพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าเกษตร ตลอดจนพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการวิจัยการเกษตร สร้างความเข้มแข็งความร่วมมือทางวิชาการและเครือข่ายด้านการวิจัย สอดคล้องกับการทำงานแบบบูรณาการตามนโยบายประชารัฐ ด้วย 3 โครงการ คือ โครงการการวิจัยการปลูกพืชหลังนาเพื่อเป็นพืชหมุนเวียนและบำรุงรักษาดิน, โครงการวิจัยการป้องกันศัตรูพืชด้วยสารควบคุมศัตรูพืชที่ได้จากธรรมชาติ (Biocontrol) และโครงการปรับปรุงคุณสมบัติของดินโดยปุ๋ยชีวภาพ (Biofertilizer) โดยในปี 2560 จะนำร่องดำเนินโครงการการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์พื้นที่นาโดยการปลูกถั่วเหลือง แบบใช้เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ กรณีศึกษา ที่อำเภอชุมแพ และ อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น ภายใต้งบประมาณกว่า 5.4 ล้านบาท

สวก. จับมือกลุ่มมิตรผล "วิจัยเกษตรเชิงพาณิชย์" นำร่อง 3 โครงการ ที่ขอนแก่น
สวก. และกลุ่มมิตรผล ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยพัฒนา และต่อยอดเทคโนโลยีการเกษตรตามแนวทางเกษตรยั่งยืน

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า “ปัจจุบันสถานการณ์ด้านการเกษตรเปลี่ยนไปมาก สภาพอากาศแปรปรวน ที่ดินทำการเกษตรมีจำกัด แรงงานสูงอายุ ต้องใช้เครื่องจักร ราคาผลผลิตเป็นไปตามกลไกตลาดโลก ความต้องการบริโภคสินค้าคุณภาพดีและปลอดภัยต่อสุขภาพมีมากขึ้น และเกษตรกรมีรายได้ไม่เพียงพอ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมี “นโยบายยกกระดาษ A4” เพื่อให้เกษตรปรับเปลี่ยนทำเกษตรสมัยใหม่ เพิ่มรายได้ และภูมิใจในอาชีพ ด้วยการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และยกมาตรฐานสินค้าเกษตร ใช้พื้นที่สูงสุด ใช้ความรู้ เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับพื้นที่ สภาพอากาศ สภาพสังคมด้วยเกษตรทฤษฎีใหม่และผสมผสาน วิเคราะห์พื้นที่แบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารเชิงรุก (Agri-Map) เมื่อเหมาะสมต้องต่อยอดเป็นเกษตรแปลงใหญ่ เกษตรอินทรีย์ และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (Good Agriculture Practices หรือ GAP) ให้ศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ทั้ง 882 แห่งเป็นศูนย์ถ่ายทอดความรู้ ข้อมูลข่าวสาร และบริการด้านเกษตรของชุมชน ให้ความสำคัญกับงานวิจัยพัฒนา ซึ่งภาคราชการมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ จึงต้องร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีความพร้อม

โดยเฉพาะด้านเครื่องจักรกลและเทคโนโลยี ทำงานในลักษณะประชารัฐ  เป็นแบบอย่างให้งานอื่นต่อไป ให้เน้นงานวิจัยที่ขยายผล นำไปประยุกต์ใช้ได้ง่าย ใช้เงินทุนต่ำ แต่เกิดประโยชน์ และยั่งยืน โดยงานวิจัยนำร่องในครั้งนี้จะมีอยู่ทั้งสิ้น 3 งานได้แก่

1)  โครงการการวิจัยการปลูกพืชหลังนาเพื่อเป็นพืชหมุนเวียน และบำรุงรักษาดิน

2) โครงการวิจัยการป้องกันศัตรูพืชด้วยสารควบคุมศัตรูพืชที่ได้จากธรรมชาติ (Biocontrol) และ

3) โครงการปรับปรุงคุณสมบัติของดินโดยปุ๋ยชีวภาพ (Biofertilizer) ซึ่งตรงตามนโยบายยกกระดาษ A4 เป็นหลัก”

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินชม นิทรรศการ”วิจัยเกษตรเชิงพาณิชย์” นำร่อง 3 โครงการ ที่ขอนแก่น
“ผมต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมกันผลักดันงานวิจัยที่จะเสริมและสนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายกระดาษ A4 ให้บรรลุผลอย่างมีประสิทธิภาพ และขอให้การดำเนินการภายใต้ความร่วมมือ MOU ครั้งนี้ สำเร็จผลตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้” พลเอกฉัตรชัยกล่าวปิดท้าย

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ หัวหน้าทีมภาคเอกชนคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ และประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล กล่าวว่า “จากการที่ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทและความร่วมมือพัฒนาการเกษตรตามนโนบายประชารัฐในช่วงเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ภาคเอกชนได้นำความรู้ความเชี่ยวชาญ ทั้งในด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีมาพัฒนาภาคการเกษตร ส่งผลให้ช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิตเป็นอย่างมาก ตรงต่อความต้องการของตลาด และลดต้นทุน ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาในภาคเกษตรกรอย่างครบวงจร”

“ความร่วมมือระหว่าง สวก. และกลุ่มมิตรผล มุ่งเน้นให้เกิดการต่อยอดเทคโนโลยีการวิจัยการเกษตรเพื่อการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม นับเป็นการปฏิรูปภาคการเกษตรตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง และผลักดันให้นำผลงานวิจัยที่จะเกิดขึ้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์จริงในวงกว้าง”

นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.)  กล่าวว่า “ในฐานะหน่วยงานที่สนับสนุนทุนวิจัยด้านการเกษตร การลงนามข้อตกลงร่วมมือกับกลุ่มมิตรผลครั้งนี้เป็นหนึ่งในภารกิจในการสนองตอบนโยบายภาครัฐ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะพัฒนาการวิจัยการเกษตร โดยมีแนวทางการร่วมกันพัฒนางานวิจัยด้านเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนให้ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิผล ทั้งข้อมูล บุคลากร เทคโนโลยี วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ พื้นที่สำหรับดำเนินการโครงการ อีกทั้งพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้และทักษะด้านการวิจัยการเกษตร เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และประสบการณ์ด้านการวิจัยการเกษตรของไทย และผลักดันให้นำผลงานวิจัยนี้ไปใช้ประโยชน์ทั้งเชิงนโยบายและการพาณิชย์ให้มากที่สุด ด้วยคาดหวังว่าจะทำให้เกษตรกรไทยพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”

นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่
กลุ่มมิตรผล
กล่าวว่า “กลุ่มมิตรผลมีความยินดียิ่งที่ได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เพื่อสร้างงานวิจัยและผลักดันให้นำผลงานวิจัยนั้นไปพัฒนาการเกษตรของไทยให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์  อีกทั้งเป็นการช่วยภาคเกษตรที่มีสัดส่วน 1 ใน 3 ของประเทศ และเพื่อผลักดันภาคเกษตรในการสร้างรายได้ให้ประเทศมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันสามารถสร้างรายได้ไม่ถึง 10% ของ GDP อีกทั้งเพื่อสนับสนุนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (ปี พ.ศ.2559-2564) ที่ระบุเป้าหมายให้พัฒนาภาคเกษตรให้ขยายตัวเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3% ต่อปี และด้วยปรัชญาการทำงานตลอด 60 ปีของกลุ่มมิตรผล “ร่วมอยู่…ร่วมเจริญ” ต่างฝ่ายต่างต้องเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ทุกคนก็จะอยู่และเจริญเติบโตไปด้วยกันได้

สวก. จับมือกลุ่มมิตรผล "วิจัยเกษตรเชิงพาณิชย์" นำร่อง 3 โครงการ ที่ขอนแก่น
ผลิตภัณฑ์จากกลุ่มมิตรผล

ทั้งนี้ กลุ่มมิตรผลให้ความสำคัญด้านการวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมและการวิจัยมิตรผลมานานกว่า 20 ปี ปัจจุบันมีนักวิจัยระดับปริญญาโทและปริญญาเอกกว่า 80 คน ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในแต่ละส่วนงานวิจัย เช่น ด้านการวิจัยอ้อย, น้ำตาล, ชีวเคมี (Biochemistry) ด้วยการจัดสรรงบประมาณ 1-1.5% ของรายได้รวมของกลุ่มมิตรผลต่อปี เริ่มจากการวิจัยอ้อยซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลัก จากนั้นเริ่มต่อยอดวิจัยการเกษตรอื่น ๆ อันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคการเกษตรโดยรวมอย่างต่อเนื่อง และยังมีความเข้าใจและทำงานใกล้ชิดกับเกษตรกรมาอย่างสม่ำเสมอ มีศักยภาพในการขยายผลการวิจัยในวงเกษตรกรรมเพื่อประโยชน์ทั้งด้านการค้าได้อย่างจริงจัง

ข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ สวก. จะร่วมมือกับกลุ่มมิตรผลในโครงการวิจัยจำนวน 3 โครงการ คือ
  • โครงการการวิจัยการปลูกพืชหลังนาเพื่อเป็นพืชหมุนเวียน และบำรุงรักษาดิน – เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์พื้นที่นา เนื่องจากข้าวล้นตลาด จึงหาทางเลือกให้ชาวนาปลูกพืชทดแทนข้าวด้วยถั่วเหลือง เพราะตลาดมีความต้องการสูง แต่ผลผลิตในประเทศต่ำจึงยังต้องพึ่งพาการนำเข้าต่อปีในปริมาณที่มาก ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการถั่วเหลืองโดยเฉลี่ยประมาณ 2 ล้านตัน แต่เราสามารถผลิตได้ในประเทศเฉลี่ยเพียงปีละ 50,000 ตันเท่านั้น  โดยในโครงการนี้จะศึกษาการปลูกถั่วเหลืองทั้งเมล็ดพันธุ์และเมล็ดพืชให้มีคุณภาพบนพื้นที่ 150 ไร่ โดยใช้เกษตรสมัยใหม่เข้ามาจัดการแปลง รวมถึงการรวมเป็นเกษตรแปลงใหญ่ด้วย เป้าหมายของโครงการวิจัย คือสามารถนำผลที่ได้จากโครงการวิจัยไปสู่การขยายผลให้เป็น 1,000 ไร่
  • โครงการวิจัยการป้องกันศัตรูพืชด้วยสารควบคุมศัตรูพืชที่ได้จากธรรมชาติ (Biocontrol) มุ่งเน้นสนับสนุนนโยบายรัฐที่ให้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น เพื่อลดปัญหาการใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชของการทำเกษตรกรรมในไทย โดยโครงการวิจัยนี้จะพัฒนาทั้งสารควบคุมศัตรูพืชที่ได้จากธรรมชาติ การกำจัดศัตรูพืชแบบชีววิธี รวมทั้งนวัตกรรมมาใช้แทนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ที่จะสนองนโยบายเกษตรอินทรีย์ของรัฐ และช่วยเกษตรกรลดการได้รับสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีรายงานว่า จำนวนผู้ป่วยจากพิษสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ  จากปี 2553 มีผู้ป่วย 1,851 ราย เพิ่มเป็น 8,066 รายในปี 2555  อีกทั้งยังลดการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ประเทศไทยมีการนำเข้าเฉลี่ยถึงปีละ 150,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าถึง 20,000 ล้านบาท
  • โครงการปรับปรุงคุณสมบัติของดินโดยปุ๋ยชีวภาพ (Biofertilizer) – สืบเนื่องจากการทำเกษตรกรรมของไทยแบบไม่ยั่งยืนมายาวนาน ปัญหาโลกร้อน รวมทั้งลักษณะทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ ส่งผลให้หลายพื้นที่ในประเทศไทยไม่สามารถทำการเกษตรได้ เพราะคุณภาพดินไม่เหมาะสม จากข้อมูลจากกรมพัฒนาที่ดิน พบว่าประเทศไทยมีพื้นที่ประมาณ 182 ล้านไร่ ที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ โครงการนี้จึงมุ่งศึกษาวิธีการปรับปรุงคุณสมบัติดินให้คุณภาพดีขึ้น จนสามารถทำเกษตรกรรมในพื้นที่นั้น ๆ ได้ โดยในช่วงแรกดินทรายจะเป็นดินประเภทดินแรกที่จะศึกษาวิธีการปรับปรุง
SIMA_webbanner_468x90_TH_animated