เปิดใจ
ผู้ใหญ่อี๊ด - อนันต์ อินทรเจ้าของไร่ธันยจิราพร
“ผู้ใหญ่อี๊ด – อนันต์ อินทร” หนุ่มใหญ่ร่างบาง ผิวคล้ำ พูดจาสุขุม เกษตรกรยุคใหม่ที่ใช้หลักทฤษฎีเกษตรพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาพัฒนาบ้านเกิดจากนักกฎหมายผันตัวเองเป็นเกษตรกร เจ้าของ “ไร่ธันยจิราพร” ไร่อ้อยที่ใหญ่สุดในนครสรรค์ ส่งต่อผลผลิตสู่กลุ่มโรงงานน้ำตาลมิตรผล “การทำอะไรก็ตาม อย่างแรกเราต้องมีใจรักก่อน แล้วมาศึกษา พร้อมกับวางแผน ซึ่งการทำงานของผมจะน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 3 ห่วง (ความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันที่ดี) 2 เงื่อนไข (ความรู้และคุณธรรม) ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้กับงานและการดำเนินชีวิตในประจำวัน” ผู้ใหญ่อี๊ด เล่าให้เราฟังว่าหลังจากจบการศึกษาระดับม. 6 แล้วเรียนต่อในด้านกฎหมาย จากนั้นหันมาทำไร่อ้อย เริ่มต้นลงมือทำเองทุกอย่าง โดยนำหลักต่างๆ มาประยุกต์ใช้ เน้นการคิดต่าง ผู้ใหญ่อี๊ดเล่าเพิ่มเติมว่าเริ่มทำไร่อ้อยตั้งแต่ปี 2529 จนถึงตอนนี้อายุ 49 ปีแล้ว ปัจจุบันมีไร่อ้อยที่เป็นของตัวเอง 400 ไร่ และมีลูกไร่อีก 3,000 กว่าไร่
ภาพบรรยากาศไร่ "ธันยจิราพร"
ภาพบรรยากาศไร่ “ธันยจิราพร”
การทำไร่อ้อย มีกระบวนการทำอย่างไรบ้าง?
-สิ่งแรกคือเราต้องรู้เกี่ยวกับระบบดินก่อน แล้วนำเอาเรื่องของวิชาการเข้ามาปรับใช้ โดยการนำดินไปตรวจ เพื่อดูว่าขาดแร่ธาตุอะไรบ้าง และนำมาปรับปรุง เมื่อได้ดินที่ดีแล้วเราก็มาศึกษาพันธุ์อ้อย ดูว่าพันธุ์ไหนที่เหมาะกับสภาพดินของไร่เราด้วยการทดลองปลูก เมื่อได้อ้อยที่เหมาะกับสภาพดินแล้ว จึงเริ่มเลี้ยงดูโดยการใส่ปุ๋ย รดน้ำ ตามกระบวนการ ซึ่งการปลูกอ้อยครั้งหนึ่งจะอยู่ได้ประมาณ 4-5 ปี เพราะเวลาตัดจะเหลือตอไว้ เพื่อให้แตกหน่อต่อ และเราก็จะตัดได้อีกประมาณ 3 ครั้ง ซึ่งปัจจัยหลักในการปลูกอ้อยคือน้ำครับ
การปลูกอ้อยใช้เวลานานเท่าไหร่ แล้วปลูกช่วงไหนบ้าง?
-การปลูกอ้อยใช้เวลาปลูกประมาณ 12 เดือน เพื่อให้ได้ความหวานหรือน้ำตาลเยอะๆ โดยส่วนใหญ่จะเริ่มปลูกช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนธันวาคม เรียกว่าอ้อยปลายฝน เพราะถ้าเราปลูกอ้อยในช่วงนี้จะช่วยลดเรื่องต้นทุนในเรื่องของน้ำได้ระดับหนึ่ง หากเริ่มปลูกช่วงเดือนมกราคม เรียกว่า อ้อยราดน้ำ คือรอน้ำ และช่วงเดือนพฤษภาคม เรียกว่า อ้อยต้นฝน ซึ่งจำนวนอ้อยที่ได้ต่อครั้งจะได้ 100 กว่าโลต่อ 1 ตัน (ตกราคาตันล่ะ 1,050 บาท) ถ้าถามถึงเรื่องต้นทุนในการทำไร่อ้อยจะตกอยู่ที่ไร่ล่ะ 10,000 บาท โดยประมาณ
พันธุ์อ้อยที่ใช้ในไร่ของคุณอี๊ด?
-พันธุ์อ้อยที่ใช้ในไร่ของเรานั้น เป็นพันธุ์ขอนแก่น 3 และ KPK 98-51 ต้องอธิบายก่อนว่า กว่าจะได้พันธุ์อ้อยมาแต่ละพันธุ์นั้นไม่ง่ายเลย เพราะต้องใช้เวลาวิจัยถึง 12 ปี ซึ่งใน 12 ปีนี้จะมีการทดลองปลูกประมาณ 4 ครั้ง กว่าจะปล่อยพันธุ์อ้อยออกมาให้ชาวไร่ได้ปลูกก็จะอยู่ในช่วงปีที่ 7-8 ครับ
ภาพบรรยากาศการเตรียมดินเพื่อปลูกอ้อย
ภาพบรรยากาศการเตรียมดินเพื่อปลูกอ้อย
แหล่งน้ำที่ใช้มาจากไหน?
-แหล่งน้ำจะมี 2 รูปแบบ คือ แบบแรกจะเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ และแบบที่ 2 จะเป็นน้ำบาดาล ในส่วนของแหล่งน้ำจะมีข้อจำกัดคือ ถ้าเป็นน้ำบาดาลค่อนข้างจะใช้ต้นทุนสูงหน่อย ทางที่ดีผมแนะนำให้ใช้แหล่งน้ำธรรมชาติ จะสามารถช่วยประหยัดต้นทุนได้มากว่า สำหรับไร่ของเราใช้แหล่งน้ำทั้ง 2 รูปแบบ เมื่อให้น้ำแล้วจะอยู่ได้ประมาณเดือนครึ่ง ซึ่งการศึกษาในส่วนนี้จะทำให้เรามีความเข้าใจในการทำไร่อ้อยมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยประหยัดต้นทุนในการผลิตอีกด้วยครับ
มีการใช้ปุ๋ยบำรุงอ้อย?
-อ้อยของไร่เราจะใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการบำรุงดูแลรักษา เพราะปุ๋ยอินทรีย์จะช่วยรักษาสภาพดิน และช่วยประหยัดลดต้นทุนได้เป็นอย่างดี ส่วนการใส่ปุ๋ยบำรุงต้นอ้อยนั้น ใส่แค่ 2 ครั้งก็พอแล้ว โดยจะใส่รอบแรกตอนปลูก และรอบที่ 2 ในช่วงประมาณ 40 กว่าวันครับ
มีการส่งผลผลิตอ้อยให้กับกลุ่มโรงงานน้ำตาลมิตรผล?
-ใช่ครับ เราส่งให้กับกลุ่มโรงงานมิตรผลด้วย เริ่มแรกคือการทำไร่อ้อยจะต้องไปจดทะเบียนชาวไร่อ้อยก่อน จากนั้นโรงงานน้ำตาลมิตรผลจะเปิดโควตาให้ไปจดสัญญากับโรงงาน แต่เราต้องบอกก่อนว่าเราไปโรงงานหลายที่ สุดท้ายมาจบที่มิตรผล เพราะเขาให้ข้อมูลทางวิชาการเราเยอะกว่าที่อื่น ซึ่งสัญญาที่เราทำกับทางโรงงานจะเป็นลักษณะปีต่อปี โดยทางโรงงานจะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการตรวจงาน คือ แต่ละไร่จะมีไอดีแปลง ซึ่งทางโรงงานใช้ GPS ในการตรวจจับ ฉะนั้นทางโรงงานจะสามารถรู้ได้ตลอดเวลาว่าเราตัดอ้อยเมื่อไหร่ หรือมีไร่ไหนแอบขายอ้อยบ้าง
ภาพบรรยากาศดารเก็บเกี่ยวอ้อย
ภาพบรรยากาศดารเก็บเกี่ยวอ้อย
มีเทคโนโลยีตัวใหม่เข้ามาช่วยในเรื่องของการตัดอ้อย?
-เป็นรถตัดอ้อย Austoft 7000 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีและเป็นตัวแรกๆในไทยเลยก็ว่าได้ที่เรานำเข้ามา ช่วยลดแรงงานลงไปได้เยอะ อีกทั้งยังสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพอีกด้วย
อุปสรรคในการทำงาน?
-ปัญหาหลักๆ เลย คือ เรื่องของแรงงาน ตอนนี้แรงงานที่มีอยู่มีประมาณ 20 คน และมีคนต่างด้าวด้วย แต่ถูกกฎหมายนะ (หัวเราะ) เพราะเราเดินเรื่องแรงงานต่างด้าวผ่าน MOU และปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือการขนส่ง เพราะการขนส่งมีข้อจำกัด จึงทำให้เกิดต้นทุนเพิ่มขึ้นตรงส่วนนี้
หลักที่ใช้ในการทำงาน?
-การทำงานทุกวันนี้ ผมใช้ระบบไอรอนแมน คือ ทุกเช้าเราจะมีการประชุมกับหัวหน้าทีม แล้วให้เขาไปกระจายงานต่อครับ
อยากให้ฝากอะไรถึงเด็กรุ่นใหม่ที่คิดจะทำธุรกิจเป็นของตัวเอง
-อย่างที่บอกไปตอนแรก คือ เราต้องมีใจรักกับสิ่งที่เราจะทำก่อน จากนั้นวางเป้าหมาย วางแผน และสิ่งสำคัญคือต้องลงมือทำ เพราะหากคิดแต่ไม่ลงมือทำ ย่อมไม่ทางเกิดผลสำเร็จอย่างแน่นอน

หมายเหตุ : “ผู้ใหญ่อี๊ด – อนันต์ อินทร” ปัจจุบันเป็นผู้ใหญ่ หมู่ 4 บ้านเลขที่ 55 ม.4 ต.สุขสำราญ อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ 60190

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated