สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ลงพื้นที่ฟาร์มโคนม บริษัท เชียงใหม่เฟรชมิลค์ จำกัด ศึกษาแนวทางบริหารจัดการฟาร์มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Green Farm ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ สามารถรีดนมพร้อมกันถึง 64 ตัว ใช้เวลาทั้งกระบวนการไม่เกิน 15 นาที ส่วนมูลโค นำมาใช้ผลิตก๊าซชีวภาพ สู่การผลิตกระแสไฟฟ้าที่เทียบเท่าก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์
นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ฟาร์มโคนม บริษัท เชียงใหม่เฟรชมิลค์ จำกัด ณ อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2560 ซึ่งเป็นตัวอย่างฟาร์มโคนมขนาดใหญ่ที่พัฒนาเพื่อให้ได้คุณภาพและมาตรฐานระดับสากล มีระบบบริหารจัดการที่ดีและมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ผสมผสานกับการเลี้ยงและดูแลวัวนมตามพฤติกรรมและความเป็นธรรมชาติ โดยมีนักวิชาการด้านสัตวบาล นักวิจัย และสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ใหญ่คอยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง
ระบบโรงเรือน ได้ออกแบบให้มีการระบายอากาศที่ดีเพื่อช่วยลดความร้อนที่เกิดจากตัวของวัวนม โดยออกแบบตามหลักวิศวกรรม มีชายคาสูง 4 เมตร มีพัดลมระบายอากาศโล่งโปร่งให้ลมเข้าออกได้สะดวก มีการออกแบบซองนอนพร้อมเบาะรองนอน เพื่อให้วัวนอนพักผ่อนและหลับอย่างสบาย และมีระบบ Happy Cow ซึ่งเป็นเครื่องนวดที่ช่วยทำความสะอาดวัวนมอีกด้วย
นอกจากนี้ ภายในโรงเรือนยังใช้เครื่องกวาดมูลแบบอัตโนมัติ ช่วยให้ภายในโรงเรือนสะอาดตลอดเวลา และทำให้วัวนมมีสุขอนามัยที่ดีขึ้น การให้อาหารของวัวนม เน้นตั้งแต่การปลูกหญ้าเอง ที่แปลงหญ้าอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน มีกระบวนการผสมอาหาร TMR (Total mixed ration) ซึ่งเป็นการนำอาหารหยาบและอาหารข้นมาผสมกันในอัตราส่วนที่เหมาะสม จนถึงการให้อาหารตามคอกที่เป็นเวลาเพื่อให้วัวนมมีสุขลักษณะที่ดี มีระบบรีดนมอัตโนมัติที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย เป็นระบบปิดอัตโนมัติแบบพาราเรล ซึ่งสามารถรีดนมวัวได้พร้อมกันครั้งละ 64 ตัว ใช้เวลารีดตลอดทั้งกระบวนการเพียง 10-15 นาที
ด้านสิ่งแวดล้อม มีระบบเปลี่ยนน้ำเสียและมูลสัตว์เป็นพลังงานทดแทน ถือเป็น Green Farm ที่มีการจัดการฟาร์มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศด้วยการนำมูลโคทั้งหมดภายในโรงเรือน ผลิตก๊าซชีวภาพ หรือ ไบโอก๊าซ สู่ระบบการผลิตกระแสไฟฟ้าและสามารถนำก๊าซไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบก๊าซไบโอเทนอัด หรือ compressed bio-methane gas (CBG) ที่มีคุณสมบัติเทียบเท่าก๊าซธรรมชาติสำหรับเติมรถยนต์ เครื่องจักรการเกษตร และปั่นไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์ม ส่วนกากตะกอนที่ได้สมารถนำไปผลิตปุ๋ยอัดเม็ดอีกด้วย
ทั้งนี้ สินค้าโคนม นับเป็นหนึ่งในสินค้าเศรษฐกิจที่สำคัญ (Top 4) ของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจากการลงพื้นที่ ในครั้งนี้ทำให้เห็นต้นแบบความสำเร็จจากการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการเกษตรตลอดกระบวนการผลิต เพื่อให้น้ำนมมีคุณภาพ มาตรฐาน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกร โดยตลอดกระบวนการผลิตได้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ ระยะ 20 ปี