พื้นที่ อ. ลาดหลุมแก้ว จ. ปทุมธานี แม้จะมีโรงงาน และโครงการที่พักอาศัยเกิดขึ้นมากมาย แต่ก็ยังคงเป็นหนึ่งในพื้นที่เกษตรกรรมสำคัญของประเทศ ข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดปทุมธานี ระบุว่าปี พ.ศ. 2558 มีอยู่กว่า 404,700 ไร่ หรือ 42% ของพื้นที่จังหวัดทั้งหมด โดยยังมีเกษตรกรที่ยึดอาชีพทำนา และปลูกพืชสวนเป็นหลักอยู่ แต่เกือบทั้งหมดยังเป็นเกษตรเชิงเดี่ยว มีการใช้สารเคมีสูง ทำให้ประสบปัญหาทางด้านต้นทุนการผลิต และราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอน เกษตรกรต้องไถกลบหรือถอนผลผลิตทิ้ง เนื่องจากไม่คุ้มทุนกับค่าแรงงานในการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ในช่วงที่สินค้าเกษตรมีภาวะตกต่ำ อีกทั้งการใช้สารเคมีไม่ถูกหลัก ส่งผลต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค ที่สำคัญทำให้เกิดความเสื่อมโทรมต่อทรัพยากรธรรมชาติ ผืนดิน และแหล่งน้ำ

นายสมคิด พานทอง เกษตรกรในพื้นที่เจ้าของแปลงกระเพราป่ากว่า 15 ไร่ ที่วันนี้ได้พลิกฟื้นชีวิต หลังจากได้เข้าไปศึกษาดูงานที่ศูนย์การเรียนรู้ด้านการเกษตร กับบริษัท ซีพีแรม จำกัด โรงงานลาดหลุมแก้ว ใน ‘โครงการเรียนรู้คู่อาชีพ เพื่อวิถีเกษตรที่ยั่งยืน’ ได้รับความรู้ในการปลูกพืชภายใต้ จีเอพี ( GAP : Good Agricultural Practices) หรือการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสมมาตรฐานระดับโลก ซึ่งเป็นแนวทางการเพาะปลูกอย่างยั่งยืน ปลอดภัย ต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อให้ผลผลิตได้มาตรฐานความปลอดภัยสำหรับตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ

นายสมคิด พานทอง และคู่ชีวิต เกษตรกรในพื้นที่เจ้าของแปลงกระเพราป่ากว่า 15 ไร่
นายสมคิด พานทอง และคู่ชีวิต เกษตรกรในพื้นที่เจ้าของแปลงกระเพราป่ากว่า 15 ไร่

“ตั้งแต่ลดการใช้สารเคมี แล้วหันมาใช้สารชีวภาพหรือจุลินทรีย์เป็นส่วนผสมในการเพาะปลูกตามหลักจีเอพี กระเพราของเราจึงปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค ตัวผมและภรรยา รวมทั้งคนงานก็ไม่ต้องเสี่ยงกับการเจ็บไข้ได้ป่วยเหมือนแต่ก่อน นอกจากนี้ยังได้รับคำแนะนำให้ปลูกกะเพราป่าที่มีความหอมกว่ากระเพราพันธุ์อื่น โดยมีบริษัท มารับซื้อผลผลิตในราคาประกันที่เป็นธรรมกับเกษตรกร จึงทำให้ผมมีรายได้ที่มั่นคง จัดการบัญชีก็ง่ายขึ้น รู้รายรับรายจ่ายแต่ละวันได้ทันที ผมปลูกกระเพราป่าส่งขายได้สัปดาห์ละ 700 กิโลกรัม รวมกับกระเพราเกษตรและโหรพา หักต้นทุนแล้ว มีกำไรประมาณเดือนละ 4-5 หมื่นบาท แต่ที่สำคัญคือทุกอย่างรอบตัวดีขึ้นทั้งคุณภาพชีวิตที่สามารถส่งลูกๆ เรียนหนังสือสูงๆ และยังส่งไปถึงผู้บริโภคได้กินอาหารปลอดภัย รู้สึกดีใจและภูมิใจที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการฯ ถือว่าเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ในชีวิต”

นางวาสนา เปรียเวียง
นางวาสนา เปรียเวียง เกษตรกรอีกรายหนึ่งที่ได้ตัดสินใจทิ้งอาชีพพนักงานบริษัท เพื่อจะได้มีเวลาอยู่กับสามีและลูกๆ รวมทั้งสานต่ออาชีพเกษตรกรของพ่อแม่

นางวาสนา เปรียเวียง คือเกษตรกรอีกรายหนึ่งที่ได้ตัดสินใจทิ้งอาชีพพนักงานบริษัท เพื่อจะได้มีเวลาอยู่กับสามีและลูกๆ รวมทั้งสานต่ออาชีพเกษตรกรของพ่อแม่ และได้เข้าร่วมโครงการเรียนรู้คู่อาชีพ เพื่อวิถีเกษตรที่ยั่งยืน เมื่อปีที่ผ่านมา และเลือกนำความรู้ที่ได้รับมาทำเกษตรกรรมปลอดภัยแบบผสมผสาน

“แปลงของเราปลูกพืชหลายชนิด ทั้งกระเพราป่า กระเพราเกษตร ยอดมะรุม ใบชะพลู ใบบัวบก และผลไม้ เช่น ฝรั่ง เพื่อลดการพึ่งพาพืชตัวใดตัวหนึ่ง และมีการรวมกลุ่มกับเกษตรกรละแวกเดียวกันในนามวิสาหกิจปลูกผักปลอดภัย
เพื่อช่วยเหลือกันเรื่องราคาสินค้าที่ไม่แน่นอน
และหาวิธีสร้างรายได้ที่มั่นคงยิ่งขึ้น จึงได้ตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ได้รับความรู้ที่ช่วยให้เราทันต่อความเปลี่ยนแปลง ทำให้เรารู้เรื่องข้อกำหนดการใช้สารเคมีและสารชีวภาพที่แตกต่างกันของตลาดส่งออกในแต่ละภูมิภาค เวลาเกิดปัญหา ก็มีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยเหลือให้คำแนะนำ เช่น ในช่วงที่เกิดโรคระบาด หรือการปรับปรุงให้สินค้าไม่มีปัญหาก่อนจัดส่ง ตอนนี้สามารถปลูกกระเพราป่าขายได้สัปดาห์ละ 200 กว่ากิโลกรัม รวมกับพืชตัวอื่นด้วยก็มีรายได้ตกเดือนละ 30,000 บาท เป็นรายได้ที่มั่นคงขึ้น และมีความสุขที่มีเวลาให้ครอบครัวและดูแลลูก ตามที่เราฝันไว้”

สวนผสมผสานตามหลักแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียง
สวนผสมผสานตามหลักแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียง

“โครงการเรียนรู้คู่อาชีพ เพื่อวิถีเกษตรที่ยั่งยืน” ไม่ได้ส่งเสริมเพียงแค่การเพาะปลูกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการมอบองค์ความรู้อื่นๆ เช่นการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตของชุมชน ที่มิใช่เพียงช่วยสร้างงานสร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้านอีกทางหนึ่งเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความสุขของคนในชุมชนดังเช่นที่  นางลำดวน ทองอำพันธ์ หัวหน้ากลุ่มแม่บ้านเกษตรกรตำบลระแหง ได้บอกเล่าให้ฟัง

“เดิมทีนอกจากทำนา ก็ยังมีการปลูกผัก ผลไม้ต่างๆ บ้าง ต่อมาแม่บ้านในชุมชนได้รวมตัวกันตั้งเป็นกลุ่มอาชีพสตรีขึ้นตอนนี้มีสมาชิก 32 คน เพื่อจะหารายได้เสริมให้ครอบครัว เรามองที่ผลผลิตในชุมชน เช่น มะม่วง กล้วย ขนุน ข่า ตะไคร้ที่หากขายโดยตรงไม่ค่อยได้ราคาที่ดี ทางโครงการฯ ได้เข้ามาสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการนำผลผลิตเหล่านี้มาแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่า มีทั้งที่ทำขายได้ตลอดปี เช่น กล้วยฉาบ และน้ำพริก ที่มีตลาดภายนอกมารับไปขาย และที่ทำตามฤดูกาล คือ ขนุนทอด แต่มีเท่าไหร่ก็จะมีหน่วยงานอย่าง อบต. มารับซื้อเกือบทั้งหมด อย่างกล้วยฉาบ ทำครั้งหนึ่งได้เงิน 1-2 พันบาท เดือนหนึ่งถ้าทำ 3 ครั้ง ก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 5-6 พันบาท หลายครอบครัวมีเงินใช้จ่ายคล่องตัวขึ้น แล้วยังหันหน้ามาพูดคุยปรึกษากันมากขึ้น โดยมีเจ้าหน้าที่โครงการฯ มาเยี่ยมถึงบ้าน ติดตามถามไถ่ และหาความรู้หรืออาชีพใหม่ๆ มาเสริมให้ตลอด เช่น การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ และการทำปุ๋ยชีวภาพ ทำให้ชุมชนของเรากลับมาเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น”

การแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตของชุมชน
การแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตของชุมชน

“โครงการเรียนรู้คู่อาชีพ สู่วิถีเกษตรที่ยั่งยืน” เริ่มจากความตั้งใจจริงของบริษัทซีพีแแรม เมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา โดยมุ่งหวังที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในชุมชนรอบโรงงานลาดหลุมแก้ว สอดคล้องกับนโยบายการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนบนหลักธรรมาภิบาลของเครือเจริญโภคภัณฑ์ จึงได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ด้านการเกษตรขึ้นเพื่อเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้และอบรมแก่ผู้ที่สนใจ ด้วยการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ ด้านการปลูกพืชปลอดภัย การปลูกพืชแบบผสมผสาน ข้อมูลทางพฤกษศาสตร์ กระเพรา การเลี้ยงปลานิล การเลี้ยงห่าน การเลี้ยงแพะ การเลี้ยงไส้เดือน การทำปุ๋ยหมัก การเพาะเลี้ยงเชื้อไตรโคเดอร์มา ทั้งยังสนับสนุนทางเลือกอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ที่เหมาะสมให้ครัวเรือน  ที่สำคัญคือการรับซื้อผลผลิตอย่างสม่ำเสมอในราคาที่เป็นธรรมต่อเกษตรกร พร้อมเปิดโอกาสให้เกษตรกรในชุมชน นำผลผลิตมาเปิดตลาดจำหน่ายให้แก่พนักงานในโรงงาน เป็นการสร้างตลาดที่แข็งแรงให้แก่ชุมชน

สร้างงานสร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้านอีกทางหนึ่ง รวมถึงความสุขของคนในชุมชน
สร้างงานสร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้านอีกทางหนึ่ง รวมถึงความสุขของคนในชุมชน

โครงการนี้เป็น 1 ใน 38 โครงการซีพีเพื่อชุมชนยั่งยืน ที่ได้รับ รางวัล ซีพีเพื่อความยั่งยืน ที่จัดขึ้นเพื่อยกย่องโครงการเพื่อสังคมดีเด่น สร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนสังคม ครอบคลุมมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นับเป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นของเครือฯ ในการดำเนินธุรกิจ ควบคู่การสนับสนุนให้เกษตรกรมั่นคงและชุมชนยั่งยืนอย่างแท้จริง 

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated