ทุ่มงบกว่า 80,000 ล้านบาท กรมชลประทานเดินหน้าแก้ปัญหาน้ำสนับสนุนโครงการ EEC เตรียมเพิ่มปริมาณความจุอ่างเก็บน้ำ 6 แห่ง สร้างใหม่อีก 4 แห่ง พร้อมวางแผนผันน้ำมาจากกัมพูชา รองรับความต้องการใช้น้ำของภาคอุตสาหกรรมและการเกษตร ในอีก 20 ปีข้างหน้า
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้วางแผนในการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำ สนับสนุนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัดชายฝั่งทะเลตะวันออกคือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และจันทบุรี ซึ่งมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกๆปี คาดว่าภายในปี 2580 หรืออีก 20ปี จะมีความต้องการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรมเพิ่มสูงถึง 1,200 ล้านลบ.ม./ปี ทั้งนี้เนื่องจากมีการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม และภาคการท่องเที่ยว จำเป็นจะต้องวางแผนจัดหาน้ำให้เพียงพอกับความต้องการในทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ในปัจจุบันภาคตะวันออกทั้งภูมิภาค มีแหล่งกักเก็บน้ำทั้งขนาดใหญ่ กลางและเล็ก กักเก็บน้ำได้รวมกัน ประมาณ 2,337 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 9.5 ของปริมาณน้ำท่าในธรรมชาติเท่านั้น ในขณะที่มีความต้องการใช้น้ำในทุกภาคส่วนประมาณ 19,585 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อปี โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัด EEC คือ จ.ฉะเชิงเทรา จ.ชลบุรี และจ.ระยอง ซึ่งเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมหลักของประเทศ
สำหรับแผนการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำเพื่อสนับสนุน EEC นั้น ในระยะ 5 ปีแรก จะเป็นการจัดหาน้ำจากแหล่งภายในประเทศ โดยจะทำการเพิ่มความจุของอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ 6 แห่ง เพื่อให้งานให้เต็มศักยภาพ คือ อ่างฯคลองใหญ่ อ่างฯหนองปลาไหล อ่างฯคลองสียัด อ่างฯหนองค้อ อ่างฯบ้านบึง และอ่างฯมาบประชัน ซึ่งจะสามารถกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้นรวมกันได้อีก 84 ล้าน ลบ.ม. ใช้เงินลงทุนประมาณ 1,190 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังจะทำการสร้างอ่างฯแห่งใหม่ในพื้นที่ลุ่มน้ำวังโตนด 4 แห่ง ได้แก่ อ่างฯคลองพะวาใหญ่ อ่างฯคลองหางแมว และ อ่างฯคลองวังโตนด มีความจุรวมกัน 308.5 ล้าน ลบ.ม.โดย อ่างฯคลองประแกด ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆนี้ อ่างฯคลองพะวาใหญ่ และอ่างฯคลองหางแมว จะเริ่มก่อสร้างปี 2561 ส่วนอ่างฯคลองวังโตนด กำลังดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล่้อม (EHIA) คาดว่าจะสามารถก่อสร้างได้ในปี 2563 พร้อมทั้งจะมีการสร้างท่อผันน้ำจากคลองวังโตนดมายังอ่างฯประแสร์ จ.ระยอง โดยจะผันน้ำส่วนเกินในฤดูฝนมาไว้ที่อ่างฯประแสร์ เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรม 60 ล้าน ลบ.ม./ปี และสามารถเพิ่มเป็น 100 ล้านลบ.ม./ปี ได้ในอนาคต คาดว่าจะใช้เงินลงทุนอีกประมาณ 2,493 ล้านบาท ซึ่งไม่รวมอ่างฯคลองประแกดที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง
รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวต่อว่า ในอนาคตอีกประมาณ 10 ข้างหน้า กรมชลประทานยังมีแผนการผันน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านที่ดำเนินการร่วมกับการพัฒนาด้านพลังงาน โดยผันจากเขื่อนสตึงนัมประเทศกัมพูชา มายังอ่างฯประแสร์ เพื่อนำมาใช้ในการอุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC จำนวน 300 ล้านลบ.ม.ต่อปี คาดว่าจะใช้วงเงินลงทุนจากการประเมินเบื้องต้นรวมทั้งหมดประมาณ 74,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถรองรับความต้องการในอีก 20 ปีข้างหน้าได้
อย่างไรก็ตาม ในระยะเร่งด่วนการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ ในบางพื้นที่กรมชลประทานได้นำระบบสูบน้ำกลับมาใช้ โดยได้ทำการการปรับปรุงระบบสูบน้ำท้ายอ่างฯหนองปลาไหลกลับไปเก็บไว้ในอ่างฯ ได้ปีละ 5 ล้าน ลบ.ม. และการสูบน้ำจากคลองสะพานไปเก็บไว้ในอ่างฯ ประแสร์ปีละ 10 ล้านลบ.ม. ใช้วงเงิน 710 ล้านบาท คาดว่าสามารถดำเนินการได้ในปี 2561
สำหรับปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ 3 จังหวัด EEC เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่กรมชลประทานได้ดำเนินการป้องกันแก้ไขควบคู่กับการวางแผนจัดหาแหล่งน้ำเพราะเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่สร้างความเสียหายให้ระบบเศรษฐกิจเป็นมูลค่าจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.เมือง จ.ระยอง ซึ่งเกิดจากปริมาณน้ำหลากจากคลองทับมาที่ไหลผ่านตัวเมืองเนื่องจากลำน้ำแคบ มีเป็นลักษณะเป็นคอขวด และที่ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรีที่เป็นพื้นท่ีอุตสาหกรรม ซึ่งเกิดจากน้ำหลากที่มา จากคลองท่าลาด และคลองหลวง ประกอบกับความสามารถการในระบายน้ำต่ำ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ท่ีดิน มีส่ิงกีดขวางทางน้ำต่าง ๆเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้โดย การสร้างประตูระบายน้ำ สร้างระบบสูบน้ำที่มีประสิทธิภาพ ท่อระบายน้ำหลาก เป็นต้น ใช้เงินลงทุน 2,225 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในปี 2561