ท่องเที่ยวเกษตร “กรุงเก่า” จากท้องนาสู่ตลาดอียูโว้ย!
ท่องเที่ยวเกษตร “กรุงเก่า” ชมสวนเมล่อน

เรื่อง/ภาพ : ต.โต้ง เกษตรก้าวไกล

 “เกษตรก้าวไกล” ขอพาท่านผู้อ่านลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อชมแหล่งท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของคนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา…

จุดแรก ที่ห้ามพลาดคือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเมล่อนหมู่ใหญ่ร่วมใจพัฒนา ต.คู้สลอด อ.ลาดบัวหลวง ที่นี้เป็นกลุ่มวิสาหกิจน้องใหม่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่เริ่มรวมตัวกันหลังปี2554 หลังจากที่ราคาข้าวตกต่ำ ไม่ได้ราคาเหมือนสมัยก่อน ชาวบ้านที่นี้เลยต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ด้วยการหันมาปลูกเมล่อน

เกษตรกรชาวสวนเมล่อน
เกษตรกรชาวสวนเมล่อน

“เดิมชาวบ้านแถวนี้มีอาชีพทำนาและปลูกผักบุ้งจีนขาย แต่ในช่วงที่ผ่านมา เกิดภาวะน้ำท่วมและน้ำแล้งต่อเนื่องหลายปี เป็นเหตุให้อาชีพทำนาและปลูกผักบุ้งจีน ไม่สามารถทำรายได้ให้ชาวบ้านได้ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงนำเกษตรกรไปศึกษาดูงานผู้ปลูกเมล่อนที่จังหวัดสุพรรณบุรี ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพืชที่ปลูกและเริ่มให้ความสนใจเมล่อนมากขึ้น” นายสวาท สุขนุ่ม ประธานกลุ่มวิสาหกิจฯ กล่าวถึงจุดเริ่มต้น

เมล่อนที่นี้จะปลูกภายในโรงเรือน เนื่องจากป้องกันโรคและแมลงได้ดีกว่าปลูกกลางแจ้ง ที่สำคัญลดการใช้สารเคมีได้ด้วย ทำให้ผลผลิตปลอดภัยจนได้รับมาตรฐาน GAP ผลผลิตของกลุ่มส่วนใหญ่จะผลิตเพื่อส่งจำหน่ายให้กับโมเดิร์นเทรด ส่วนที่เหลือจะจำหน่ายให้กับพ่อค้ารายย่อย

“รายได้จากการปลูกเมล่อนถือว่าดีกว่าทำนา สมาชิกกลุ่มอยู่ได้ ไม่ต้องเผชิญกับสารเคมีเหมือนแต่ก่อน” เกษตรกรสมาชิกกลุ่มรายหนึ่ง กล่าว

“หากมีการแผนการท่องเที่ยวสวนเมล่อนเข้ากับแผนการท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คาดว่าจะสร้างรายได้ให้เกษตรได้มากขึ้น จึงขอเชิญชวนให้มาท่องเที่ยวกันเยอะ” ประธานกลุ่มวิสาหกิจฯ กล่าว

สนใจเยี่ยมชมสวนเมล่อน ติดต่อที่ประธานกลุ่มได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 086-086-6930

จากกลุ่มเมล่อน ไม่ไกลกันมาก เราได้พบกับกลุ่มปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษตำบลสิงหนาท ที่ผลิตผักสวนครัว ส่งออกไปยังยุโรป หรือ EU มานานตั้งแต่ปี 2543 ทุกวันจะมีรถจากบริษัทส่งออกมารับผักภายในหมู่บ้าน ที่นี้รวมกลุ่มกันปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ

“ที่บอกว่าผักปลอดภัยจากสารพิษ เพราะพื้นที่ไม่สามารถทำเกษตรอินทรีย์ได้ จะมีการใช้สารเคมีบ้างแต่ถือว่าน้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะไม่ใช้สารเคมี จึงกลายเป็นปลูกผักปลอดภัยจากสารเคมี ไม่ใช้ปลอดสาร” นายบัญชา พวงสวัสดิ์ กำนันตำบลสิงหนาท กล่าว

ท่องเที่ยวเกษตรอยุธยา
ท่องเที่ยวเกษตรอยุธยา

ที่ตำบลสิงหนาท กำลังเตรียมตัวเพื่อทำโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวได้เข้าพัก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรวมกลุ่มเพื่อทำความเข้าใจกับชาวบ้าน และวางแผนกิจกรรมให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตชาวบ้าน ใครสนใจอยากไปศึกษาเรียนรู้ สามารถติดต่อกำนันบัญชา ได้ที่เบอร์ 089-804-3854

จากลาดบังหลวง ข้ามมาฝั่ง อ.บางบาล พื้นที่แห่งวีระบุรุษอย่าง “นายขนมต้ม” ที่แห่งนี้มีประวัติศาสตร์อันยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน “บางบาล” ในความเข้าใจของคนภายนอกคือพื้นที่รับน้ำ และรับถุงยังชีพ น้อยคนที่จะรู้ว่าที่แห่งนี้มี “โฮมสเตย์” ที่เข้มแข็งจากการรวมตัวของชาวบ้านในนาม “โอมสเตย์ไทยน้อย”

ที่นี้ชาวบ้านรวมกลุ่มทำโฮมสเตย์ โดยนำวิถีชีวิตของคนในชุมชนมาเป็นจุดขาย ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ เข้ามาท่องเที่ยว

“เรามีต้นทุนเดิมคือชุมชนชาวมอญที่อพยพจากหงสาวดี ตามเสด็จพระนเรศวรจากพม่า มาตั้งรกรากที่นี้ ทำให้มีวิถีชาวมอญยังหลงเหลืออยู่ ไม่ว่าจะเป็น หลวงพ่อใหญ่ วัดไทรน้อย หรือ วัดมอญ การทำอิฐมอญ นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังจะได้เรียนรู้การปลูกกล้วยหอม กล้วยไข่ การปลูกข้าวโพด จากเกษตรกรตัวจริง” นางมยุรี ศรีนาค ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ไทรน้อย

วิถีชีวิตเหล่านี้ถูกนำมาจัดให้เป็นกิจกรรมสำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยวที่สนใจ มีทั้งโปรแกรม 1 วัน หรือ โปรแกรม 2 วัน 1 คืน สนใจติดต่อที่ประธานกลุ่ม คุณมยุรี โทร 081-946-5457

หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โฮมสเตย์ไทรน้อย
หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โฮมสเตย์ไทรน้อย

แต่ดูเหมือนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์จะยังขาดบางอย่างนั้นคือ การท่องเที่ยวทางน้ำ ที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองกรุงเก่า นั้นคือ การล่องเรือชมทัศนียภาพสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ศึกษาประวัติศาสตร์สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ขึ้นเรือที่ท่าน้ำวัดพนัญเชิง ศึกษาหมู่บ้านญี่ปุ่น หมู่บ้านฮอลันดา หมู่บ้านโปรตุเกส

นายธารทิพย์ มีลักษณะ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า เส้นทางท่องเที่ยวทั้ง 4 เส้นทางยังไม่ได้รับการประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวาง ซึ่งทั้ง 4 แห่งจะเป็นเส้นทางเชื่อมต่อการท่องเที่ยวที่เป็นแม่เหล็กสำคัญของจังหวัดต่อไป

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated