เรื่อง/ภาพ : คุณสิริพร ประสานเวช
นาแปลงใหญ่ตำบลคอรุม ไปได้สวย ที่นี่เขามีการบริหารจัดการที่เป็นทีมเดียวกัน มีผู้นำเข้มแข็ง เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ใครๆจึงมาดูงานที่นี่…

คุณอัษฎางค์ สีหาราช ประธานศูนย์ข้าวชุมชนตำบลคอรุม และประธานนาแปลงใหญ่ ตำบลคอรุม อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ (และยังเป็นผู้ใหญ่บ้านคอรุม หมู่ 2) กล่าวว่า นาแปลงใหญ่ของที่นี่เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2559 โดยเกิดจากการร่วมมือ และมีแนวความคิดร่วมกัน เพื่อให้เป็นแหล่งผลิตข้าวชั้นดี เหมาะสมกับพื้นที่ เป็นแหล่งผลิตข้าวที่มีคุณภาพมาตรฐานรองรับ สำหรับศูนย์ข้าวชุมชนแห่งนี้มีสมาชิก 148 ราย ทำเกษตรแปลงใหญ่ในพื้นที่รวมกลุ่มทำนา 4 รูปแบบ เพื่อทำการเปรียบเทียบการปลูกและผลผลิตที่ได้ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร
- รูปแบบที่ 1 คือ ปลูกแบบนาหว่าน ต้นทุนการปลูกแบบนี้จะอยู่ที่ไร่ละ 4,150 – 4,550 บาท ซึ่งการทำนาแบบนี้จะไม่สามารถทำเมล็ดพันธุ์ได้
- รูปแบบที่ 2 คือการทำนาดำ ซึ่งจะมีอุปกรณ์ใช้เครื่องมือทางเกษตรเข้ามาช่วย การทำนาประเภทนี้จะได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ แต่ต้นทุนจะค่อนข้างสูง
- รูปแบบที่ 3 คือการทำนาตม จะเน้นทำแบบเปียกสลับแห้ง ตรงนี้เราจะเน้นการใช้ภูมิปัญญาผสมผสานกับเทคโนโลยี ต้นทุนจะอยู่ที่ 3,200 บาทต่อไร่
- รูปแบบที่ 4 คือจะเป็นนาโยน วิธีนี้ต้นทุนต่ำ เพราะเมล็ดพันธุ์ จะใช้ 30 ถาดต่อไร่ แต่ต้องใช้แรงงานตนเอง เพราะจะถูกกว่าจ้างแรงงาน
“ผลผลิตที่ได้คือข้าวอินทรีย์จากแปลงใหญ่ จำหน่ายในนาม “เพชรพิชัย” ผลิตภัณฑ์ OTOP ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนตำบลคอรุม จังหวัดอุตรดิตถ์ ชื่อนี้ได้มาจากพระนามของพระยาพิชัยดาบหัก ผู้เป็นที่เคารพสักการะของคนจังหวัดอุตรดิตถ์”

นอกจากจะปลูกข้าวแล้ว ยังปลูกผัก ผลไม้ เช่น มะม่วง ต้นสัก ไว้เพื่อเป็นบำเหน็จ บำนาญไว้กินตลอดไป ไม่เพียงแค่นั้นยังมี ไก่เนื้อ 35 ตัว ทุกวันจะออกไข่ ประมาณ 30 ฟองโดยประมาณ
“การทำเกษตรของเรายึดหลักอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศการเกษตรในไร่นา ตลอดจนอนุรักษ์ฟื้นฟูชีวิตของชุมชนเกษตรกรรม อาศัยกลไกธรรมชาติเพื่อทำการเกษตร เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชุมชนเกษตรพื้นบ้าน การพึ่งพิงธรรมชาติ พัฒนาตามเกษตรแนวใหม่ และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”
ปัจจุบันคุณอัษฎางค์ ได้ชื่อว่าเป็นเกษตรกรที่น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้จนประสบความสำเร็จ และได้พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ซึ่งในการทำงานจะต้องทุ่มเทด้วยใจ
“ความสำเร็จก็คือ เราเอาความล้มเหลวของเรามาเป็นบทเรียน แล้วก็ทำทุกอย่างที่เราอยากจะทำ โดยเราจินตนาการไปล่วงหน้า ว่าอยากจะเห็น อยากจะเป็นอะไร แล้วเราก็ทำในสิ่งที่จินตนาการไว้ โดยเฉพาะภาคการเกษตร ตั้งเป้ายังไง เราต้องเดินไปอย่างนั้น”

นอกจากนี้ เบื้องหลังความสำเร็จของคุณอัษฏางค์ ยังมีบุตรสาว คือ น.ส.สมิตานันล์ สีหาราช ซึ่งจบการศึกษาคณะเกษตร สาขาส่งเสริมและนิเทศศาสตร์เกษตร จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เข้ามาช่วยงานในฐานะเกษตรกรรุ่นใหม่ กล่าวว่า
“รู้สึกภาคภูมิใจที่สามารถต่อยอดงานของพ่อได้ ต่อยอดกับเกษตรรุ่นเก่า ที่เขาไม่ได้เก่งเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ อีกอย่างหนึ่งก็คือ เราสามารถเปลี่ยนมุมมองคนรุ่นใหม่ได้ว่า การเป็นเกษตรกร ไม่จำเป็นจะต้องเหมือนในละคร ที่ต้องยืนตากแดดตัวดำในนา ทำงานหนักอะไรอย่างนี้”
ต้องการศึกษาดูงานหรือพูดคุยกับคุณอัษฎางค์ ติดต่อได้ที่ 60/2 หมู่ที่ 2 ตำบลคอรุม อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ 53120 โทรศัพท์ (089) 705-1677…ยินดีแบ่งปันความรู้ค่ะ