ธนาคารปุ๋ยอินทรีย์เป็นอีกหนึ่งโครงการตามนโยบายธนาคารสินค้าเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการการปฏิรูปภาคการเกษตรไทย โดยมุ่งเน้นการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต และยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร ตลอดทั้งผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มและความต้องการสินค้าที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 20 ปี ตามแนวคิดประเทศไทย 4.0 โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ เกษตรกรมั่นคง ภาคการเกษตรมั่งคั่ง สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งในปี 2560 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดให้เป็น “ปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน” โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้นทั้งด้านสังคม มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ตลอดทั้งมีความภาคภูมิใจในอาชีพเกษตรกร
นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินการจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบของสถานีพัฒนาที่ดินในแต่ละจังหวัด รวมถึงหน่วยงานภายในกรมพัฒนาที่ดินที่มีศักยภาพในการผลิต เพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์ โดยมุ่งเน้นให้เกษตรกรนำเอาเศษวัสดุเหลือใช้ในไร่นา ในครัวเรือน และจากโรงงานอุตสาหกรรม มาฝากไว้ที่ธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งธนาคารจะทำการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ให้เกษตรกรมาเบิกถอนเอาไปใช้ประโยชน์เมื่อวัสดุนั้นย่อยสลายเป็นปุ๋ยแล้ว หรือให้เกษตรกรกู้ยืมปุ๋ยอินทรีย์จากธนาคารไปใช้แล้ว ให้ใช้หนี้ด้วยเศษวัสดุเหลือใช้จากไร่นา และโรงงานอุตสาหกรรมหรือปุ๋ยคอก เพื่อให้เกิดการผลิตอย่างต่อเนื่องและมีการนำไปใช้ประโยชน์ได้ถูกต้อง มีราคาถูก พร้อมทั้งช่วยลดปัญหาการเผาตอซังฟางข้าวและเศษวัสดุต่างๆ ในพื้นที่ทำการเกษตร และปัญหาจากการกำจัดหรือทิ้งขยะในอนาคต นอกจากนี้ กรมพัฒนาที่ดินได้น้อมนำปุ๋ยหมักสูตรพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาเผยแพร่ให้เกษตรกรนำไปดำเนินการผลิตและใช้ในพื้นที่ของตนเองด้วย
สถานีพัฒนาที่ดินสุพรรณบุรีเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีพื้นที่ของธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ในการดูแล พร้อมทั้งให้การสนับสนุนวัสดุในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ และปัจจัยอื่นๆ ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และสารอินทรีย์ รวมถึงการน้อมนำสูตรปุ๋ยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี มาเป็นจุดตั้งต้นในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ในพื้นที่ ตัวอย่างเช่นพื้นที่ของศูนย์เรียนรู้และบริการด้านการพัฒนาที่ดิน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ทุ่งทองยั่งยืน เลขที่ 355/1 หมู่ที่ 5 ต.จรเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เป็นอีกหนึ่งโครงการนำร่อง “ธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ (ปุ๋ยหมักสูตรพระราชทาน และน้ำหมักชีวภาพ)” ที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินการ โดยมีการคัดเลือกกลุ่มเกษตรกรที่มีความสนใจในการดำเนินการทำการเกษตรแบบเกษตรอินทรีย์ กำหนดคุณสมบัติของสมาชิกที่มาใช้บริการ จัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ บทลงโทษในกรณีทำผิดเงื่อนไข รวมทั้งการจัดทำบัญชี รับฝาก ถอน กู้ยืมและกำหนดอัตราดอกเบี้ยในการฝากและกู้ยืม ซึ่งการจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ในพื้นที่ทำให้เกษตรกรสามารถใช้ปุ๋ยอินทรีย์และสารอินทรีย์ที่ได้มาตรฐานอย่างพอเพียง ต่อเนื่อง ในราคายุติธรรม เกษตรกร เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เกิดการพัฒนา ความเป็นมืออาชีพด้านการเกษตร เพื่อลดละเลิกการใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีทางการเกษตร เกิดเครือข่าย การผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในชุมชน โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์และสารชีวภาพอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้สภาพดินมีความอุดมสมบูรณ์อยู่เสมอ ทำให้สามารถยืดอายุการใช้ประโยชน์ให้นานขึ้น ลดต้นทุนการผลิตด้านการปลูกพืช ทำให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น ช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ทำให้มีชีวิตที่ดีขึ้นผู้ผลิตลดความเสี่ยงต่อการใช้สารเคมีที่เป็นโทษผู้บริโภคลดความเสี่ยงต่อการบริโภคสารเคมีปนเปื้อนในอาหาร รัฐลดงบประมาณในการดูแลผู้ป่วยจากการบริโภคอาหารไม่ปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ในพื้นที่นอกจากจะเป็นการเพิ่มพื้นที่เกษตร และมีจำนวนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นการเพิ่มสัดส่วนตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศและตลาดต่างประเทศ รวมทั้งยกระดับกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีพื้นบ้านเพิ่มขึ้น มุ่งให้ความสำคัญกับกลุ่มเกษตรอินทรีย์ที่มีความพร้อมเป็นผู้นำต้นแบบในการดำเนินการเพื่อให้มีอาหารปลอดภัยและได้มาตรฐาน โดยมีเป้าหมายสุดท้าย คือ คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น มีความภูมิใจในอาชีพเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และหนี้สินลดลง ซึ่งทั้งหมดนี้มาจาก สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีคุณภาพ มีตลาดรองรับ มีต้นทุนต่ำ และมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ธนาคารสินค้าเกษตรสามารถเชื่อมโยงกับนโยบายหลักได้ เมื่อรู้ปริมาณ ระยะเวลาผลผลิตสินค้าเกษตรออกสู่ตลาด และคุณภาพของสินค้าเกษตร เพื่อวางแผนชะลอการออกสู่ตลาดพร้อมกันของสินค้าเกษตร