วันที่ 5 มิถุนายน 2560 ณ ห้องประชุมสุธรรม อารีกุล อาคารสารนิเทศ ๕๐ ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นประธานในงาน “งานวันรำลึกพระบาทสมเด็จ พระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จพระราชดำเนินทรงหว่านข้าว ณ เกษตรกลางบางเขน เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๔๘๙” โดยมี ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะผู้บริหาร คณะกรรมการชมรม มก.อาวุโส บุคลากร นิสิต และนักเรียนโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา พร้อมใจกันแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระมหากษัตริย์ไทยทั้ง ๒ พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จทอดพระเนตรกิจการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ทรงหว่านข้าวในแปลงนาหลังตึกขาว (ปัจจุบันคือตึกพืชพรรณของกรมวิชาการเกษตร) เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ อันเป็นพระราชกรณียกิจครั้งแรกที่เสด็จ ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และยังเป็นพระราชกรณียกิจสุดท้ายในแผ่นดิน
“งานวันรำลึกพระบาทสมเด็จ พระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จพระราชดำเนินทรงหว่านข้าว ณ เกษตรกลางบางเขน เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๔๘๙” มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และชมรม มก.อาวุโส ได้จัดกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ เพื่อพสกนิกรไทย และยังเป็นการสืบทอดพระราชปณิธานของพระมหากษัตริย์ไทย ที่ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมี ภูมิปัญญา อันเนื่องมาจากการปลูกข้าวและมีข้าวเป็นอาหารหลักสืบมาเป็นเวลาช้านานแล้ว
กิจกรรมประกอบด้วย พิธีทำบุญถวายเป็นพระราชกุศล พิธีถวายราชสดุดีรำลึก การฉายวีดิทัศน์ ๕ มิถุนารำลึก พระอัฐมรามาธิบดินทร ทรงยาตรามาหว่านข้าวและวีดิทัศน์ข้าวของพ่อ การแสดงของนิสิตชมรมนาฏศิลป์ไทย การแสดงดนตรีไทยโดยชมรมดนตรีไทยและนิสิตภาควิชาดนตรี การจัดแสดงนิทรรศการพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร การเสด็จทอดพระเนตรกิจการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๙ และเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินทรงหว่านข้าว ณ เกษตรกลางบางเขน โดยมีประวัติศาสตร์คำบอกเล่าจากบูรพาจารย์ผู้อยู่ในเหตุการณ์ อาทิ ศาสตราจารย์กิตติคุณ คุณชวนชม จันทระเปาระยะ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ศาสตราจารย์ระพี สาคริก และการจัดแสดงนิทรรศการห้วงเวลาประวัติศาสตร์ของการปฏิรูปข้าวไทย จวบจนถึงการวิจัยและพัฒนาข้าวไทยในปัจจุบัน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ จนถึงรัชกาลที่ ๙ พร้อมกับแจกพันธุ์ข้าวพระราชทานเนื่องในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๐ จากกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แก่ผู้มาร่วมงานเพื่อเป็นสิริมงคลด้วย
ความเป็นมาของการจัดงาน
ประเทศไทย มีภูมิปัญญาอันเนื่องมาจากการปลูกข้าวและมีข้าวเป็นอาหารหลัก สืบมาเป็นเวลาช้านาน ในวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2552 คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ เนื่องจากวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระอนุชา ทอดพระเนตรการทำนาและกิจการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งได้ทรงหว่านข้าวด้วยพระองค์เองในแปลงนาหลังตึกขาว (ปัจจุบันคือตึกพืชพรรณของกรมวิชาการเกษตร) ณ เกษตรกลางบางเขน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานต่อพสกนิกรชาวไทยและข้าวไทย นับเป็นวาระสำคัญแห่งประวัติศาสตร์ของกิจกรรมข้าวไทย และยังเป็นพระราชกรณียกิจสุดท้ายในแผ่นดินของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8
และเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้วันที่ 9 มิถุนายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของรัชกาลที่ 8 เป็นวันรัฐพิธี โดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติ โดยจะมีพิธีถวายราชสักการะพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 8 ดังนั้น วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2558 จึงถือว่าเป็นวันรัฐพิธีเป็นปีแรก โดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ และในปี พ.ศ.2560 จึงเป็นปีที่สามของวันรัฐพิธี ซึ่งหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะพร้อมใจกันมาวางพวงมาลา ถวายราชสักการะพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 8
วันที่ 5 มิถุนายน วันสำคัญของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และของชาติ
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันอุดมศึกษาที่มีการเรียนการสอนทางด้านการเกษตรแห่งแรกของประเทศไทย มีภารกิจสำคัญในงานสอนงานวิจัยพัฒนาปรับปรุงพันธุ์และการเพิ่มมูลค่าเกี่ยวกับข้าวมา โดยตลอด การจัดกิจกรรมอันเนื่องด้วยการส่งเสริมการเกษตร จึงนับเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความเป็นศาสตร์แห่งแผ่นดินของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง และ ในวันที่ 5 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันสำคัญยิ่งของชาวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในอดีตได้ถือเอาวันที่ 5 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันต้อนรับน้องใหม่ (เริ่มปีใดไม่ปรากฏหลักฐาน) เนื่องจากเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ ที่พระมหากษัตริย์ไทย คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และสมเด็จพระอนุชา ได้เสด็จ ฯ เยี่ยมชมกิจการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นครั้งแรก จึงถือว่าวันนี้เป็นวันสิริมงคลในการจัดงานต้อนรับน้องใหม่ ไม่ว่าวันที่ 5 มิถุนายนจะตรงกับวันใดก็ตาม ถ้าตรงกับวันธรรมดามหาวิทยาลัยต้องหยุดเรียน 3 วัน คือ วันที่ 4 มิถุนายน เป็นวันเตรียมงาน วันที่ 5 เป็นวันพิธี และวันที่ 6 เป็นวันเก็บงาน ถือเป็นประเพณีต้อนรับน้องใหม่ในยุคนั้นและได้ถือปฏิบัติกันสืบเนื่องต่อมาจนถึงปี พ.ศ. 2502 จึงได้เปลี่ยนเป็นวันใดก็ได้ที่เป็นวันเสาร์และวันอาทิตย์ เพราะเป็นการสะดวกสำหรับนิสิตที่ไม่ต้องหยุดเรียน ซึ่งปัจจุบันวันรับน้องใหม่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้ปรับเปลี่ยนไปตามระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย และระบบเปิดปิดภาคการศึกษาใหม่ตามประชาคมอาเซียน
เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในครั้งนั้น มิได้เลือนหายไปจากความทรงจำของชาวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่ยังคงฝังแน่นไว้ด้วยความจงรักภักดีและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระมหากษัตริย์ไทยทั้ง 2 พระองค์ ได้เสด็จฯ เยี่ยมชมกิจการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ทรงหว่านข้าว ณ เกษตรกลาง บางเขน เพื่อเป็นการสืบทอดพระราชปณิธานของพระมหากษัตริย์ไทย ที่ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ ชมรม มก.อาวุโส และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่วมกันจัดงานทำบุญถวายเป็นพระราชกุศล ในวันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี โดยใช้ชื่องานว่า “งานวันรำลึกพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ทรงหว่านข้าว ณ เกษตรกลางบางเขน เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2489″ โดยจัดกิจกรรมงานรำลึกครั้งแรกในปีพ.ศ. 2546 และจัดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน