สศก. คาดปี 60 ภาคเกษตรโต 2.5-3.5%...ชี้
แนวโน้มขยายตัว เนื่องจากการผลิตทางการเกษตรมีการปรับตัวดีขึ้น (ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต)

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร คาดปี 2560 ภาคเกษตรขยายตัว 2.5-3.5 ทุกสาขาส่งสัญญาณทิศทางดี แจงมุมวิเคราะห์รายภาค ระบุ ภาคใต้ ขยายตัวสูงสุด ร้อยละ 3.6-4.6 จากการขยายตัวของสาขาพืชและสาขาประมงเป็นหลัก ระบุ มีปัจจัยบวกหนุนหลายประการ ทั้งสภาพอากาศ นโยบายเกษตรฯ และเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น

นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการวิเคราะห์และประมาณการณ์ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรตลอดปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5-3.5 เมื่อเทียบกับปี 2559 โดยทุกสาขาการผลิตทั้งพืช ปศุสัตว์ ประมง บริการทางการเกษตร และป่าไม้ มีแนวโน้มขยายตัว มีปัจจัยเชิงบวกหลายประการ อาทิ สภาพอากาศและปริมาณน้ำที่เอื้ออำนวยต่อการผลิตมากกว่าปีที่แล้วซึ่งประสบภัยแล้ง และสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มทิศทางที่ดีขึ้น และแนวโน้มความต้องการสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่เป็นอาหารและแปรรูปอุตสาหกรรมอื่นเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับเศรษฐกิจโลก และสอดคล้องกับสต๊อกผลผลิตโลกที่ลดลง รวมถึงการดำเนินนโยบายและมาตรการด้านการเกษตรต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องของรัฐบาล รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 2560 ที่มีทิศทางดีขึ้น ปัจจัยเกื้อหนุนในประเทศที่สำคัญมาจากนโยบายขับเคลื่อนและปฏิรูปภาคเกษตรอย่างต่อเนื่อง ทั้งนโยบายส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ศูนย์เรียนรู้ ศพก. 882 ศูนย์ Agri-Map ระบบส่งน้ำและกระจายน้ำ ระบบเกษตรปลอดภัยและอินทรีย์  การสร้าง Smart / Young Smart Farmer และยกระดับความเข้มแข็งสหกรณ์ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง พัฒนาในระดับพื้นที่เด่นชัดขึ้นเป็นลำดับ ทำให้ราคาสินค้าเกษตรอยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญให้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรขยายตัว ซึ่งคาดการณ์ว่า ครัวเรือนเกษตรมีรายได้ทางการเกษตร 160,835 บาทต่อครัวเรือน สัดส่วนรายได้จากผลผลิตพืช ร้อยละ 70.98 ผลผลิตสัตว์ ร้อยละ 25.43 และรายได้ทางการเกษตรอื่น ร้อยละ 3.59 ซึ่งกลุ่มสินค้าเกษตรสำคัญ ซึ่งเป็นที่มาของรายได้ในภาพรวมของประเทศ ได้แก่ ข้าว ไม้ผลไม้ยืนต้น พืชไร่ ปศุสัตว์และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรแบบรายภาค พบว่า ทุกภาคมีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากการผลิตทางการเกษตรมีการปรับตัวดีขึ้น หลังจากได้รับผลกระทบจากภาวะแห้งแล้งและปริมาณน้ำไม่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกในช่วงปีที่ผ่านมา และสถานการณ์ราคาสินค้าที่ปรับตัวดีขึ้น โดยภาคใต้มีการขยายตัวมากที่สุด รองลงมา คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคเหนือ

ภาคใต้ คาดว่าภาคเกษตรจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.6-4.6 จากการขยายตัวของสาขาพืชและสาขาประมงเป็นหลัก โดยสินค้าเกษตรสำคัญที่คาดว่าจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าว ผลไม้ (ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง) และกุ้งเพาะเลี้ยง เกษตรกรมีรายได้เงินสดทางการเกษตร 222,622 บาทต่อครัวเรือน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คาดว่าภาคเกษตรจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.4-3.4 จากการขยายตัวของสาขาพืช สาขาปศุสัตว์ และสาขาประมง เป็นหลัก โดยสินค้าที่คาดว่าจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา หอมแดง โคเนื้อ และไก่เนื้อ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของการจับสัตว์น้ำจืดตามธรรมชาติ และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด เกษตรกรมีรายได้เงินสดทางการเกษตร 107,007 บาทต่อครัวเรือน

ภาคกลาง* คาดว่าภาคเกษตรจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.2-3.2 จากการขยายตัวของสาขาพืช สาขาปศุสัตว์ สาขาประมง และสาขาบริการทางการเกษตร โดยสินค้าเกษตรสำคัญที่คาดว่าจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว ผลไม้ (ทุเรียน มังคุด และเงาะ อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ไก่เนื้อ สุกร ปลาน้ำจืด และกุ้งเพาะเลี้ยง เกษตรกรมีรายได้เงินสดทางการเกษตร 264,395 บาทต่อครัวเรือน

ภาคเหนือ คาดว่าภาคเกษตรจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 1.6-2.6 จากการขยายตัวของสาขาพืชและสาขาบริการทางการเกษตรเป็นหลัก โดยสินค้าเกษตรสำคัญที่คาดว่าจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปรัง ลำไย อ้อยโรงงาน ลิ้นจี่ ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และสับปะรดโรงงาน เกษตรกรมีรายได้เงินสดทางการเกษตร 167,854 บาทต่อครัวเรือน

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร ปี 2560 รายภาค

ภาค/ประเทศ
อัตราการเติบโต 
(ร้อยละ)
มูลค่าเพิ่ม
(ล้านบาท)
รายได้เงินสด
ทางการเกษตร
(บาท/ครัวเรือน)
ทั้งประเทศ
2.5 – 3.5
639,000 – 645,000
160,835
ภาคใต้
3.6 – 4.6
115,000 – 117,000
167,854
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
2.4 – 3.4
140,000 – 142,000
107,007
ภาคกลาง*
2.2 – 3.2
210,000 – 212,000
264,395
ภาคเหนือ
1.6 – 2.6
174,000 – 176,000
222,622

 ที่มา : ประมาณการโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ข้อมูล ณ วันที่ 16 มิถุนายน 2560

หมายเหตุ : *ภาคกลาง ในที่นี้หมายถึง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคกลาง ยกเว้นกรุงเทพฯ

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated