สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดสรรงบประมาณให้แก่ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. รับผิดชอบในการคัดเลือกและบริหารโครงการภายใต้แผนงานวิจัยมุ่งเป้าตอบสนองความต้องการประเทศโดยเร่งด่วน : กลุ่มเรื่องข้าว ภายใต้ยุทธศาสตร์ในการวิจัย 6 ด้าน โดยได้สนับสนุนทุนอุดหนุนการวิจัยโครงการวิจัย เรื่อง “การวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์อัตโนมัติกำจัดวัชพืชในนาข้าว” แก่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไทยศิริ เวทไว แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มงคล เอกปัญญาพงศ์ แห่งสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีการผลิตข้าว
โครงการวิจัยนี้ได้พัฒนาหุ่นยนต์กำจัดวัชพืชอัตโนมัติขึ้น เนื่องจากเห็นว่าการกำจัดวัชพืชเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการทำนา วัชพืชจะแย่งอาหาร แสงแดด และพื้นที่การเติบโตจากต้นข้าว ทำให้ต้นข้าวไม่เติบโตหรือโตช้ากว่าที่ควร ทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง และลดรายได้ของชาวนาจากการทำนา ซึ่งการกำจัดวัชพืชในปัจจุบันสามารถทำได้หลายวิธีด้วยกัน วิธีแรกคือ การใช้แรงงานคนในการถอนต้นวัชพืช ซึ่งต้องอาศัยแรงงานคนจำนวนมากและมีค่าแรงที่สูง วิธีที่สองคือ การใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืช วิธีนี้มีค่าใช้จ่ายด้านสารเคมีที่สูง และมีสารเคมีตกค้างในต้นข้าวได้
หุ่นยนต์กำจัดวัชพืชอัตโนมัติที่พัฒนาขึ้นนี้ สามารถทำงานได้อย่างอัตโนมัติในสภาพแปลงนาที่หลากหลาย เป็นการลดการใช้แรงงานคนที่ขาดแคลน และส่งเสริมการปลูกข้าวแบบเกษตรอินทรีย์ที่ไม่ใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืช โดยได้ออกแบบให้มีต้นทุนต่ำ และสามารถทำงานได้ตามความต้องการของชาวนา เน้นให้หุ่นยนต์มีขนาดเล็ก น้ำหนักน้อย ลอยตัว หรือวิ่งบนพื้นได้ ทำให้ควบคุมได้ง่าย และไม่จมในโคลน การหาตำแหน่งของหุ่นยนต์ในแปลงนาจะเป็นการประสานกันระหว่างหลายเทคโนโลยีทั้ง image processing
และ machine,vision,GPS,Laser,IMU,accelerometer,encode เพื่อระบุตำแหน่งของหุ่นยนต์ รวมถึงเพื่อให้สามารถเคลื่อนไหวในนา โดยที่ไม่ทับต้นข้าวที่กำลังเติบโต โดยจะใช้การสังเกตจากแนวต้นข้าวที่ได้ทำการปลูกเป็นแนว สี และรูปร่างของต้นข้าว การทดสอบการใช้บนนาจริง รวมถึงการศึกษาความคุ้มทุนในการนำหุ่นยนต์มาใช้จริง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการกำจัดวัชพืช ซึ่งการออกแบบได้คำนึงถึงราคาต้นทุนต่อตัวที่ไม่สูงเกินไป
หุ่นยนต์กำจัดวัชพืช ที่พัฒนาขึ้นมานี้ สามารถตอบสนองการปลูกข้าวแบบอินทรีย์หรือการปลูกข้าวแบบไร้สารได้ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชาวนาในการลดต้นทุนการผลิตด้านแรงงาน และทำให้สุขภาพดีขึ้น ปลอดภัยจากการพ่นสารเคมี รวมถึงการมีสุขภาพที่ดีของผู้บริโภคด้วย การปลูกข้าวแบบอินทรีย์จะทำให้มูลค่าของข้าวสูงขึ้น โดยปัจจุบันรายได้จากการปลูกข้าวเกษตรอินทรีย์อยู่ที่ 16,000–20,000 บาทต่อไร่ ทำให้เกษตรกรมีกำไรที่สูงขึ้น เป็นการลดภาระการช่วยเหลือจากทางภาครัฐลงได้ และบริษัทเครื่องจักรกลการเกษตรสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้