นางสาวปิยากร นวลแก้ว หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติได้ตระหนักและห่วงกังวลถึงปัญหาพันธุ์พืชหายากและใกล้สูญพันธุ์ ตามบทบาทด้านการอนุรักษ์ การฟื้นฟูและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อการเกษตร “ต้นเท้ายายม่อม” เป็นพืชใช้ทำแป้งชนิดหนึ่งที่เคยขึ้นอยู่ทั่วไปในแถบชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของประเทศไทยโดยเฉพาะ จ.ชลบุรี เท้ายายม่อม เป็นพืชล้มลุกอายุยืน ไม่มีลำต้น เหง้าใต้ดินเป็นหัว กลมแบนหรือรีกว้าง เปลือกหัวบาง ผิวเรียบ เมื่ออ่อนสีขาว แก่แล้วเป็นสีเทาหรือสีน้ำตาล เนื้อหัวสีขาว ฉ่ำน้ำเล็กน้อย ดอกสีเหลืองหรือเขียวแกมม่วงเข้ม ผลสีส้ม มีเมล็ดมาก เมล็ดแบน เนื้อผลฝาดๆ หัวสดรับประทานไม่ได้มีรสขมมีพิษ หัวอ่อนรสขมมากกว่าหัวแก่ แต่สามารถสกัด

แป้งมาใช้ประโยชน์ได้ แป้งที่ได้ใช้ทำขนมและอาหารได้หลายชนิด เช่น ช่อม่วง ไดฟุกุ เต้าส่วน ออส่วน ฯลฯ ใบรับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริก ก้านใบและก้านดอกให้เส้นใยใช้ทำหมวกและอุปกรณ์ตกเบ็ด หัวและแป้งใช้รักษาโรค ปัจจุบันถูกแทนที่ด้วยมันสำปะหลัง และด้วย “ต้นเท้ายายม่อม” เป็นพืชที่ใกล้สูญหายไปจากชุมชนและเป็นพืชที่นำมาทำแป้งที่มีคุณสมบัติเฉพาะที่นำไปทำอาหารประจำถิ่นอันเป็นภูมิปัญญาเดิมที่ควรสืบทอดและคนในชุมชนก็เห็นความสำคัญและปรารถนาที่จะอนุรักษ์เพื่อสืบทอดภูมิปัญญา สภาเกษตรกรจังหวัดชลบุรีจึงร่วมส่งเสริมให้มีการขยายพันธุ์และพื้นที่ปลูกโดยได้ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกันจัดตั้งเป็นกลุ่มอนุรักษ์เท้ายายม่อมและประสานหน่วยงานทำการศึกษาค้นคว้าเพื่อหาคุณสมบัติเฉพาะและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชนต่อไป

ด้านผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 ต.บ้านปึก อ.เมือง จ.ชลบุรี นางสาวศรีวรรณ จิตจินดา ประธานศูนย์อนุรักษ์เท้ายายม่อม กล่าวเพิ่มเติมว่า เท้ายายม่อมเป็นพืชเศรษฐกิจประจำถิ่น ปลูกและฝนเป็นแป้งมาตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า เป็นตำนานของคนชลบุรี ปลูกร่วมกับพืชชนิดอื่นที่ให้ร่มเงารำไร เช่น มะม่วง ลำไย มะพร้าว ขนุน เป็นต้น เป็นพันธุ์พื้นบ้านจึงมีความต้านทานโรค ไม่ต้องการการบำรุงอะไรเป็นพิเศษถ้าต้องการบำรุงให้ใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น 15-15-15 ปัญหาที่เจอคือพื้นที่ปลูกด้วยเป็นชุมชนเมืองและการขยายพันธุ์จึงไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ปัจจุบันกลุ่มศูนย์อนุรักษ์เท้ายายม่อม มีสมาชิก 50 คน ปลูก 20 คน พื้นที่รวม 20 ไร่ ปลูกเดือนพฤษภาคมเก็บเกี่ยวเดือนธันวาคม-มกราคม ใช้หัวขยายพันธุ์ ขึ้นได้ดีในพื้นที่ดินทราย หรือดินร่วน กลุ่มทำหน้าที่ส่งเสริมการผลิตและรวบรวมโดยรับซื้อผลสด 80 บาท/กิโลกรัม เพื่อแปรรูปเป็นแป้ง 300-400 บาท/กิโลกรัม ผู้ซื้อต้องสั่งจองล่วงหน้า คุณสมบัติของแป้งเท้ายายม่อมคือมีความละเอียดมาก มีสีขาว ใสและคงรูปไม่เหลวแตกต่างจากแป้งชนิดอื่นจนสัมผัสและสังเกตุได้ ทางด้านสรรพคุณ บำรุงร่างกาย แก้อ่อนเพลีย ช่วยทำให้จิตใจชุ่มชื่นอารมณ์ดี ช่วยผู้ป่วยฟื้นไข้เร็วขึ้นทำให้เจริญอาหาร แก้ร้อนใน ช่วยสมานแผลในกระเพาะอาหาร นักโภชนบำบัดสมัยใหม่ระบุว่าแป้งเท้ายายม่อมมีคุณสมบัติที่เหมาะกับระบบ

ทางเดินอาหารมากที่สุด โดยปัจจุบันมีหน่วยงานนำแป้งเท้ายายม่อมไปทำการวิจัยทำเครื่องสำอาง อาหารเสริม และอื่นๆ การทำแป้งเท้ายายม่อมนั้นจะนำหัวไปล้างให้สะอาด ปลอกเปลือกแล้วฝนด้วยหนังปลากระเบนหรือแผ่นสังกะสีเจาะรูเพื่อให้ได้เนื้อแป้งที่ละเอียดจากนั้นนำเนื้อไปคั้นน้ำแบบคั้นกะทิ ใช้ผ้าขาวบางกรองกาก ปล่อยแป้งตกตะกอน เทน้ำออก ทำซ้ำ 5-7 รอบจนน้ำใส จากนั้นนำไปผึ่งแดดจนแห้งสนิทจึงนำไปใช้ หัวเท้ายายม่อม 10 กิโลกรัมจะได้แป้ง 2.2 กิโลกรัม หรือร้อยละ 22 สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดชลบุรี โทร.0-3828-6878 หรือ คุณศรีวรรณ โทร.08-1553-6365