เรื่อง/ภาพ : ศุภชัย เกษตรก้าวไกล
หลายคนบอกว่าอินทผาลัม ทั้งสายพันธุ์และสภาพแวดล้อม ไม่เหมาะสมกับประเทศไทยที่เป็นดินแดนเขตร้อนชื้นแตกต่างกับทะเลทรายอย่างสิ้นเชิง แต่ดูเหมือนเกษตรกรไทยยังคงเดินหน้าที่จะปลูก พยายามทดลองค้นคว้าสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งภาครัฐและเอกชน เนื่องจากผลผลิตหรือราคารับซื้อค่อนข้างสูง
กลุ่มผู้ปลูกอินทผาลัม ภาคตะวันตก (WDP) เป็นการรวมตัวของกลุ่มเกษตรกร 3 จังหวัด คือ กาญจนบุรี ราชบุรี และสุพรรณบรี มีสมาชิกกว่า 30 ราย รวมปลูกประมาณ 20,000 ต้น จุดประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารซึ่งกันและกัน หวังพัฒนาอินทผาลัมเป็นพืชเศรษฐกิจที่แท้จริง
คุณประวิทย์ เชาวานิชย์กุล ประธานกลุ่ม WDP กล่าวว่า ตนมีอาชีพดั้งเดิม คือ ปลูกอ้อยส่งโรงงานกว่า 200 ไร่ในพื้นที่ ตำบลช่องด่าน อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี หลังจากที่ตนศึกษาอินทผาลัมมาระยะหนึ่ง พบว่า พื้นที่ของตนน่าจะเหมาะสมกับการปลูกพืชชนิดนี้ จึงทดลองพืชหลายสายพันธุ์ โดยเน้นผลผลิตสด เพราะว่าการจัดการง่าย ปรากฏว่า สายพันธ์ Barhi เกิดจากเพาะเลี้ยงเนื้อเยื้อจากต่างประเทศ เป็นสายพันธุ์ที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากมีรสชาติ หวาน กรอบ อีกทั้งใช้ระยะเวลาปลูก 2 ปีครึ่ง ก็ทยอยให้ผลผลิตแล้ว โดยแต่ละต้นแทงช่อดอกรอบต้น ประมาณ 6-10 ช่อ รวมๆน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 5 กิโลกรัมต่อช่อ เลยทีเดียว
“อินทผาลัม 1 ต้นให้ผลผลิตปีแรก เกือบ 50 กิโลกรัม สมมุติเราขายกิโลกรัมละ 500 บาท ก็ได้เงินกลับมาแล้ว 25,000 บาท คืนทุนได้เลย เมื่อผลผลิตออก 1 ปีแรก พอย่างเข้าปีที่สอง และสาม ผลผลิตแต่ละต้นเพิ่มขึ้นมากเรื่อยๆ มากสุดน่าจะเป็นช่วงอายุ 7 ปี คงจะสุดถึง 10 กิโลกรัมต่อช่อ”
ในขณะต้นทุนการปลูกและการดูแลอินทผาลัมพันธุ์ดังกล่าวก็สูงเหมือนกัน โดยเฉพาะต้นพันธุ์จากประเทศอังกฤษสูงถึง 1,200 บาทต่อต้น และยังมีต้นทุนการจัดการเรื่องน้ำ-ปุ๋ย อย่างไรก็ตามพืชชนิดนี้ปัจจุบันราคารับซื้อยังดีมาก
“ขณะนี้ทางกลุ่มฯ ได้ไปเซ็นสัญญา เอ็มโอยูกับห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ไว้แล้ว คาดว่าผลผลิตชุดแรกจะออกสู่ตลาดในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมนี้ ปัจจุบันมีราคารับซื้อ (ขายปลีก) 700 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งขณะนี้ผลผลิตมีปริมาณไม่ค่อยเพียงพอกับความต้องการ เพราะว่าทางกลุ่มฯเราเพิ่งเริ่มทำโครงการนี้ สำหรับผมนั้นลงมือปลูกไปแล้ว 130ไร่บนพื้นที่ไร่อ้อยเดิม โดยปลูก 25 ต้นต่อไร่ (ปลูกระห่างเหมือนๆกับปาล์มน้ำมัน) ซึ่งขณะนี้ให้ผลผลิตไปแล้ว 800 ต้น และน่าจะทยอยให้ผลผลิตในปีต่อๆไป เพราะว่าปลูกไม่พร้อมกัน” คุณประวิทย์ กล่าว
และบอกอีกว่า จริงๆแล้ว อินทผาลัมสายพันธุ์นี้ หากปลูกที่ต่างประเทศหรือถิ่นกำเนิดเดิมจะเริมให้ผลผลิตเมื่อย่างเข้าสู่ปีที่ 5 แต่ที่นี่ 2 ปีครึ่งก็ให้ผลผลิตแล้ว แถมตลาดรับซื้อให้ราคาดีด้วย ดีกว่าปลูกพืชอื่นๆเยอะ โดยเฉพาะไร่อ้อยหลายเท่าตัวเลยทีเดียว.