เปิดศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ เชื่อมข้อมูลและบริหารจัดการ แก้น้ำท่วม-ภัยแล้ง
เปิดตัวศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในโอกาสเปิดศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (Smart Water Operation Center) หรือ SWOC  อย่างเป็นทางการ ณ อาคาร “99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู” ภายในกรมชลประทาน สามเสน กรุงเทพฯ ว่าได้มอบนโยบายให้กรมชลประทานพัฒนาศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ หรือ SWOC โดยบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งศูนย์ฯนี้จะทำหน้าที่เป็นศูนย์บัญชาการบริหารจัดการน้ำ และศูนย์ประชาสัมพันธ์ ในช่วงวิกฤติที่เกิดอุทกภัย และภัยแล้ง สามารถบูรณาการวางแผนร่วมกันติดตามแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ทันเวลา และ มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกษตรกรวางแผนทำการเกษตรได้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ หน่วยที่เกี่ยวข้องสามารถช่วยเหลือเกษตรทั้งในระยะสั้น/ระยะยาว ลดผลเสียหายให้เหลือน้อยที่สุด

ห้องปฏิบัติการเชื่อมข้อมูลน้ำจากทุกหน่วยเพื่อใช้บัญชาการบริหารจัดการสถานการณ์น้ำอย่างเป็นระบบ
ห้องปฏิบัติการเชื่อมข้อมูลน้ำจากทุกหน่วยเพื่อใช้บัญชาการบริหารจัดการสถานการณ์น้ำอย่างเป็นระบบ

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานจะนำข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมอุทกศาสตร์ทหารเรือ การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค เป็นต้น มาเชื่อมโยงและจัดทำเป็นฐานข้อมูลกลาง สะดวกต่อการใช้งาน สามารถนำมาติดตาม วิเคราะห์ และคาดการณ์สถานการณ์น้ำ เป็นข้อมูลสำหรับสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำของผู้บริหารประเทศได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว น่าเชื่อถือ ทันเหตุการณ์

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รับฟังบรรยายการเชื่อมข้อมูลน้ำจากทุกหน่วยเพื่อใช้บัญชาการบริหารจัดการสถานการณ์น้ำอย่างเป็นระบบ

สำหรับส่วนประกอบของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ 1 ระบบข้อมูลบริหารจัดการน้ำซึ่งเป็นฐานข้อมูลกลาง ได้แก่ ข้อมูลโทรมาตรปริมาณน้ำฝน ปริมาณน้ำในลำน้ำธรรมชาติ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ข้อมูลระบบส่งน้ำ/ระบบระบายน้ำทั้งประเทศ ทั้งที่เป็นสถิติ และ Real Time รวมไปถึงฐานข้อมูล Agri-Map 2.  ระบบวิเคราะห์ข้อมูล โดยการประยุกต์แบบจำลองคณิตศาสตร์กับระบบ MIS (Management Information System) และ DSS (Decision Support System) โดยทั้ง 2 ระบบ จะพยากรณ์และให้ข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจแก่ผู้บริหารทั้งในด้านสถานการณ์น้ำและการจัดการความเสี่ยง ที่มีผลกับเขื่อนและการบริหารจัดการน้ำอย่างทรงประสิทธิภาพ และส่วนที่ 3 คือ ระบบการนำเสนอข้อมูลแบบบูรณาการ ประกอบด้วย 2 ส่วนแสดงผล ได้แก่  1. ส่วนแสดงผลการติดตามสถานการณ์น้ำแบบ real time จากกล้องวงจรปิดจากโครงการชลประทานทั่วประเทศ  และ 2 ส่วนแสดงข้อมูลจากระบบโทรมาตร ทั่วประเทศ 700 กว่าสถานี เพื่อให้เทคโนโลยีรองรับซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งมีการเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องด้านน้ำ และสำนักงานชลประทาน 17 สำนักงานทั่วประเทศเข้าด้วยกันด้วยระบบ Video Wall Management และ Video Conference เพื่อช่วยให้การนำเสนอข้อมูลและสั่งการในการบริหารจัดการน้ำ สามารถดำเนินไปได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพและทันสถานการณ์ตลอดเวลา

ประชุมการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ
ประชุมการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ

“ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะนี้จะเชื่อมโยงข้อมูลกับทุกหน่วยงาน ทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำทั้งในและนอกเขตชลประทานเพื่อให้ผ่านสถานการณ์วิกฤติไปได้ แตกต่างจากศูนย์อื่นๆ เช่น สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ทำหน้าที่คาดการณ์สภาพอากาศ, ศูนย์ของกรมทรัพยากรน้ำ ทำหน้าที่วางแผนน้ำในอนาคต เป็นต้น จึงไม่มีความซ้ำซ้อนกัน เนื่องจากภารกิจของกรมชลประทานต้องบริหารจัดการน้ำด้วยระบบชลประทาน และ ประสานหน่วยอื่นๆ ทำงานไปในแนวทางเดียวกัน” พลเอก ฉัตรชัย กล่าว

พิธีเปิดตัวศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ
พิธีเปิดตัวศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ

ด้านนายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 115 ปีกรมชลประทาน มีบทบาทภารกิจในการพัฒนาแหล่งน้ำ บริหารจัดการน้ำ บรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำ โดยได้มีการพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์บริหารทรัพยากรน้ำ และตอบสนองนโยบายรัฐบาลไทยแลนด์ 4.0 (Thailand 4.0) ซึ่งเป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไปสู่ Value Based Economy หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” ที่จะนำไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและใช้เทคโนโลยีหรือ Smart Farming ให้เกษตรกรมีความร่ำรวยขึ้น ดังนั้น กรมชลประทานจึงได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า กรมชลประทานเป็นองค์กรอัจฉริยะที่มุ่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำ (Water Security) เพื่อเพิ่มคุณค่าการบริการ ภายในปี 2579 และการเปิดศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่กรมชลประทาน 4.0 (RID 4.0)

บุคลากรประจำศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ
บุคลากรประจำศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ

 “SWOC นอกจากมีเป้าหมายเพื่อความรวดเร็วในการบริหารจัดการน้ำแล้ว ยังมั่นใจว่าศูนย์ฯดังกล่าวจะเป็นศูนย์กลางข้อมูลเรื่องน้ำที่จะช่วยสนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0โดยการให้ข้อมูลพร้อมคาดหมายสถานการณ์น้ำล่วงหน้าแก่เกษตรกร ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้ทำการเกษตรประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย และทำให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated