เรื่อง/ภาพ : วาสนา เพิ่มสมบูรณ์
ช่วงเวลาหกโมงเย็นของทุกวัน เป็นเวลาคึกคักที่สุดของศูนย์เรียนรู้ชุมชนตำบลชากไทย อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี ที่เป็นทั้งสถานที่เรียนรู้และเป็นที่ประมูลของล้งต่างๆ และยอมทุ่มทุนซื้อมังคุดให้เต็มคันรถ เพื่อส่งออกต่างประเทศ โดยผู้ส่งออกบอกว่ามีเท่าไรก็รับซื้อทั้งหมด ซึ่งตรงกับความเชื่อมั่นของอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรโดยตรง
คุณสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า มังคุดปีนี้ออกมาแสนกว่าตัน เก็บเกี่ยวไปแล้วกว่าครึ่ง เฉลี่ยเปิดตลาดมา 131 บาท ซึ่งราคาค่อนข้างสูง และไม่ลงเร็ว ขณะนี้ราคายังสูงกว่าทุกปี
“มังคุดมีตลาดประมูล อันเนื่องมาจากแปลงใหญ่ เมื่อก่อนกินมังคุดจะมีปัญหาเนื้อแก้วบ้าง เนื้อไม่สม่ำเสมอ ปีนี้เนื้อมีคุณภาพดี จากการประมูลครั้งนี้ทำให้มังคุดเกรด A เพิ่มขึ้นถึง 83 เปอร์เซ็นต์ จากอดีตที่เก็บมังคุดขายเหมาสวน ทำให้ผลผลิตปะปนกัน แต่เมื่อต้องเก็บมาประมูลในตลาด ทำให้เกษตรกรต้องคัดแยกคุณภาพดี เพื่อจำหน่าย กลายเป็นว่ามีมังคุดเกรด A เพิ่มขึ้น ราคาก็เพิ่มขึ้น ต้นทุนลดลง เพียงแค่เปลี่ยนวิธีการคัด และจำหน่าย ผ่านการประมูล”
สมาชิกมีการคัดเกรด แบ่งเกรดตามมาตรฐานชัดเจน ร่วมกันตรวจสอบคุณภาพก่อนจำหน่าย ผู้ประกอบการหลายรายจะเข้าร่วมการประมูลราคา โดยที่สมาชิกจะจำหน่ายผลผลิตมังคุดให้กับผู้ประกอบการที่ให้ราคาสูงสุด
ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ ผลผลิตที่สมาชิกนำมาขาย มีแบ่งเกรดไว้อย่างชัดเจน และผู้ประกอบการหลายรายเป็นผู้ยื่นราคาทำให้เกิดการแข่งขัน ซึ่งราคาสินค้าที่สมาชิกได้รับเกิดจากผู้ประกอบการที่ให้ราคาสูงสุดในการประมูล ทำให้ไม่มีการกดราคาแต่อย่างใด
เขาประมูลมังคุดกันอย่างไร?
- สมาชิกคัดเกรดคุณภาพ 3 เกรด ผิวมันรวม,ตกไซส์ (60-65 กรัม/ผล) และผลแตก
- สมาชิกชั่งน้ำหนักผลผลิตตะกร้าละ 23 กก. และแจ้งปริมาณผลผลิตทางไลน์กลุ่ม
- สมาชิกนำผลผลิตมาลงทะเบียน และชั่งน้ำหนัก (ตาชั่งกลางของกลุ่ม) ณ สถานที่ประมูล
- สมาชิกร่วมกันตรวจสอบคุณภาพ ถ้ามีมังคุดไม่ได้คุณภาพปนจะทำการคัดใหม่ เพื่อให้มีมาตรฐานตรงกัน และเมื่อมีสมาชิกรายใหม่จะทำการตรวจสอบคุณภาพใหม่ทุกครั้ง
- ตัวแทนผู้ประกอบการ (ล้ง) ใส่ราคา ที่ต้องการตามคุณภาพผลผลิตโดยใส่ในตระกร้าผลผลิตของสมาชิกทุกราย
- เปิดราคาเมื่อล้งใส่ราคาครบทุกล้ง ผู้ได้ราคาสูงสุดเป็นผู้ชนะการประมูล
- ล้งจ่ายเงินให้เหรัญญิก จ่ายเงินให้สมาชิก (โอนเข้าบัญชี/เงินสด) ในวันเดียวกัน
คุณพิพัฒน์ อินทรเจริญ ประธานแปลงใหญ่มังคุด อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี บอกว่า “เกษตรกรทุกคนดีขึ้นมาก หลังจากที่ได้ร่วมเข้าแปลงใหญ่ และต่อยอดด้วยตลาดประมูลมังคุด เนื่องจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนที่ลดลง และประกอบกับราคาสูงขึ้น ผมว่าชาวบ้านก็รู้สึกยินดี หลังจากที่เรามาประมูล ราคาค่อนข้างจะสูงกว่าราคาที่ชาวบ้านไปเทขายกัน ที่สำคัญอยากจะให้ทุกคนเข้าร่วมแปลงใหญ่ เพราะต่อไปตั้งใจจะขยายเครือข่ายให้ใหญ่ขึ้น ให้มีการประมูลหลายจุดมากขึ้น หรือถ้าเป็นไปได้ อยากให้มีการประมูลทุกจังหวัด เพื่อการันตีความเข้มแข็ง และเพิ่มรายได้ ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง”
สรุปว่า การประมูลมังคุดเป็นอีกวิธีที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องการตลาดได้เป็นอย่างดี เป็นวิธีที่จะทำเกษตรกรมีส่วนร่วม…กลุ่มเกษตรที่อยากศึกษาการรวมกลุ่มเป็นเกษตรแปลงใหญ่และวิธีการประมูลมังคุด ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 092 5239866…คุณพิพัฒน์ ยินดีแบ่งปันความรู้ค่ะ