วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ เพิ่งผ่านไปหยกๆ (5 มิถุนายน 60) เราจะเห็นว่าหลายฝ่ายให้ความสำคัญต่อข้าวและชาวนาไทย เช่น กระทรวงเกษตรฯ นำชาวนาเข้าพบนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทางกรมการข้าวเองก็จัดงานวันข้าวและชาวนา เป็นประจำทุกปี เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยเกษตรฯ ที่จัดงานน้อมรำลึกรัชกาลที่ 8 ทรงหว่านข้าว ณ เกษตรกลาง บางเขน หลายปีติดต่อกัน
แน่นอนละว่า ทำให้ชาวนาไทยคึกคัก แต่เมื่อผ่านพ้นวันนี้ไปแล้ว จะยังคงคึกคักได้อีกสักกี่วัน ขอให้มีวันข้าวและชาวนา ในทุกวันได้หรือไม่?
เมื่อวันที่18 พฤษภาคมที่ผ่านมา อ.ศักดา ศรีนิเวศน์ นักวิชาการเกษตรอิสระ ได้นำคณะไปศึกษาดูงานการปลูกข้าวของเกษตรกรเวียดนาม และได้เผยแพร่ข้อมูลผ่านทางเฟสบุ๊ค…“ทำไม ข้าวเวียดนามจึงมีผลผลิตมากกว่าข้าวไทย”…ดังรายละเอียด ต่อไปนี้
ผมพาคณะผู้สนใจการเกษตรจากประเทศไทยเดินทางไปเวียดนามอีกครั้งหนึ่ง…คราวนี้มีโปรแกรมมาดูเกษตรกรเวียดนามทำนา เพื่อหาข้อมูลว่า ทำไมถึงปลูกข้าวได้ผลผลิตสูงกว่าเกษตรกรไทย…สถานที่ที่ไปดูนั้นก็คือ จังหวัดอันยาง เขตติดต่อกัมพูชา
หลายท่านที่อยู่ในวงการข้าวคงได้ยินได้ฟังในประเด็นนี้มากมากแล้ว ผมจึงไม่กล่าวย้ำที่มาที่ไป เอาเป็นว่าขอตอบโดยสรุปประเด็นหลักๆ ว่าทำไมเกษตรเวียดนามถึงปลูกข้าวได้ผลผลิตสูงกว่าเกษตรกรไทย และพัฒนาการปลูกข้าวได้เร็วกว่าไทย คือ
7 เหตุผล-ทำไมข้าวเวียดนามจึงมีผลผลิตมากกว่าไทย
- ดินดีกว่าบ้านเรา เพราะเป็นที่ราบลุ่มปากแม่น้ำโขง
- เกษตรกรขยันและเอาใจใส่มากกว่าเกษตรกรไทย
- พันธุ์ข้าวส่วนใหญ่เป็นลูกผสม ที่ตอบสนองต่อการใช้ปุ๋ย ส่วนมากผลผลิตเกินกว่า 1,000 กก./ไร่
- เกษตรกรใช้ปุ๋ย และมีความรู้เรื่องการเลือกใช้ปุ๋ยมากกว่าเกษตรกรไทย
- เกษตรกรทำนาพร้อมกันตามคำแนะนำของทางราชการ จึงลดปัญหา เรื่องการระบาดของศัตรูพืช
- หนี้สินในครัวเรือนน้อยกว่าเกษตรกรไทย เขาใช้จ่ายน้อยกว่ารายได้ ส่วนเกษตรกรไทยใช้จ่ายเกินกว่ารายได้
- เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สนใจเรื่องซื้อรถยนต์ แต่จะให้ความสนใจในการซื้อเครื่องจักรกลเกษตร เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพมากกว่า
- ที่สำคัญคือ เขาไม่มีโครงการ รับจำนำข้าว ประกันราคาข้าว และไม่แจกเงิน หรือสอนให้เกษตรกรเสียนิสัยรอความช่วยเหลือ หรือการยัดเยียดจากรัฐ เหมือนบ้านเรา แม้แต่เอกสารคำแนะนำในการปลูก ดูแลรักษาพืชก็ไม่มีฟรี อยากได้เกษตรกรต้องซื้อเอง
“นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเด็นครับ พิมพ์ไม่ไหว ถ้าจะให้ไปบรรยายอย่างน้อยต้องสักครึ่งวัน คงจะพอได้ ชั่วโมงเดียวไม่ต้องเชิญมาครับ” อ.ศักดา ศรีนิเวศน์ ได้ตอบเพื่อนๆ ที่สนใจใคร่รู้เพิ่มเติมหลังจากที่ลงเผยแพร่ แต่เจ้าตัวก็พิมพ์บอกตามข้อความที่ยกมา
(สำหรับ อ.ศักดา ศรีนิเวศน์ เคยแสดงความคิดเห็นเรื่อง “อินทผาลัมจะถลำลึกหรือไปโลด?” https://goo.gl/aRZF0X …ผ่านทาง “เกษตรก้าวไกล” จนเป็นที่กล่าวขานกันมาแล้ว ถือว่าเป็นผู้มีความคิดอิสระ ตรงไปตรงมา โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับเกษตรเวียดนามถือว่ารู้ลึกมากที่สุดคนหนึ่ง…ผู้สนใจต้องการพูดคุยเพิ่มเติมกับ อ.ศักดา ศรีนิเวศน์ โทร. 081 899-0710)
ข้าวไทยกับข้าวอาเซียน…ใครผลิตได้มากกว่ากัน?
อนึ่ง เพื่อเป็นการให้ข้อมูลรอบด้าน “เกษตรก้าวไกล” จึงขอนำข้อมูลผลผลิตข้าวต่อ 1ไร่ ของประเทศในกลุ่มอาเซียนมานำเสนอเพิ่มเติมดังนี้
ชาวนาในกลุ่มอาเซียนผลิตข้าวได้ประมาณ ปีละ 112.5 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 4 ของการผลิตข้าวทั้งโลก โดยอินโดนีเซียผลิตข้าวได้มากที่สุด จำนวน 35.50 ล้านตัน รองลงมาคือเวียดนาม ผลิตข้าวได้จำนวน 26.40 ล้านตัน และลำดับที่สามคือประเทศไทย ผลิตข้าวได้ 20.26 ล้านตัน
จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยผลิตข้าวได้น้อยกว่าเวียดนาม ทั้งที่ประเทศไทย มีพื้นที่สำหรับใช้ในการปลูกข้าว ประมาณ 66.69 ล้านไร่ ในขณะที่ประเทศเวียดนาม มีพื้นที่สำหรับใช้ในการปลูกข้าว ประมาณ 46.38 ล้านไร่ นั่นเป็นเพราะว่าชาวนาไทย มีผลผลิตข้าวต่อ 1 ไร่ น้อยกว่าเวียดนามถึงเท่าตัว
ผลผลิตข้าวต่อ 1 ไร่ ของกลุ่มประเทศอาเซียน
- ลำดับที่ 1 ประเทศเวียดนาม ผลิตข้าวได้ 803.2 กิโลกรัม ต่อ 1 ไร่
- ลำดับที่ 2 ประเทศอินโดนีเซีย ผลิตข้าวได้ 801.6 กิโลกรัม ต่อ 1 ไร่
- ลำดับที่ 3 ประเทศมาเลเซีย ผลิตข้าวได้ 588.8 กิโลกรัม ต่อ 1 ไร่
- ลำดับที่ 4 ประเทศลาว ผลิตข้าวได้ 579.2 กิโลกรัม ต่อ 1 ไร่
- ลำดับที่ 5 ประเทศฟิลิปปินส์ ผลิตข้าวได้ 576.6 กิโลกรัม ต่อ 1 ไร่
- ลำดับที่ 6 ประเทศไทย ผลิตข้าวได้ 454.4 กิโลกรัม ต่อ 1 ไร่
- ลำดับที่ 7 ประเทศกัมพูชา ผลิตข้าวได้ 443.2 กิโลกรัม ต่อ 1 ไร่
- ลำดับที่ 8 ประเทศพม่า ผลิตข้าวได้ 422.4 กิโลกรัม ต่อ 1 ไร่
ในเรื่องของการส่งออกข้าวในตลาดโลกไทยครองอันดับที่ 1 มาอย่างยาวนาน แต่ในช่วงปี 2555 เป็นต้นมา ไทยส่งออกข้าวลดลง กลายเป็นอันดับสาม รองจากเวียดนาม และอินเดีย…ก็ไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนที่ไทยจะกลับมาครองตลาดอันดับ 1 อีกครั้ง!
ขอบคุณภาพ : เฟสบุ๊ค ศักดา ศรีนิเวศน์