วันที่ 21 กรกฎาคม 2560 นางสุดารัตน์ วัชรคุปต์ เหล่าวิชยา อธิบดีกรมหม่อนไหม และรศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง เรื่อง การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีการผลิตเส้นไหม และการออกแบบแฟชั่น ณ ห้องประชุม กรมหม่อนไหม

นางสุดารัตน์ วัชรคุปต์ เหล่าวิชยา อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ มาจากการที่คณะนักวิชาการกรมหม่อนไหม ได้เข้าเยี่ยมชมภาควิชาวิศวกรรม สิ่งทอ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เมื่อปี 2559 โดยได้ข้อมูลและองค์ความรู้ ด้านการผลิตเส้นใยและสิ่งทอจากบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ พร้อมทั้งเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการที่มีเครื่องจักรอุปกรณ์อันทันสมัย และมีความพร้อมต่อการพัฒนาเส้นใยสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

จากนั้นในปี 2560 สำนักวิจัยและพัฒนาหม่อนไหม กรมหม่อนไหม จึงได้ดำเนินโครงการการผลิตเส้นไหม กึ่งสังเคราะห์จากเศษรังไหมโดยกระบวนการปั่นเส้นใยแบบเปียก โดยได้รับคำแนะนำในการดำเนินงานวิจัยจาก รศ. ดร.สุจิระ ขอจิตต์เมตต์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และดร.บิณฑสันต์ ขวัญข้าว หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งทอ คณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากไหม และส่งเสริมให้มีการนำไหมไปใช้งานได้อย่างหลากหลาย รวมถึงเป็นการเพิ่มมูลค่าเศษไหมเหลือทิ้งอีกด้วย นอกจากนี้ ดร.บิณฑสันต์ ยังได้ให้เกียรติมาบรรยายพิเศษ เรื่อง การวิจัยและพัฒนาสิ่งทอเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ไหมไทย ในงานประชุมวิชาการหม่อนไหม ประจำปี 2560 ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์อย่างมากในการนำองค์ความรู้ที่ได้รับมาต่อยอดเทคโนโลยีการผลิตเส้นไหมของกรมหม่อนไหมในอนาคต

ทั้งนี้ การร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างกรมหม่อนไหมและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคลธัญบุรีในครั้งนี้ จึงเป็นการสนับสนุนการทำงานแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการศึกษา พัฒนาศักยภาพงานวิจัยและนักวิจัยด้านเทคโนโลยีหม่อนไหม ที่จะสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการผ้าไหมไทยต่อไป