สวนกระท้อนในช่วงนี้จะเข้าสู่ระยะที่ต้นกระท้อนเริ่มติดผล กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกกระท้อนเฝ้าระวังช่วงที่อากาศร้อน และมีฝนตกชุก ให้สังเกตการเข้าทำลายของแมลงวันผลไม้ มักพบตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่เป็นกลุ่มในผลกระท้อน ลึกจากผิวประมาณ 2-5 มิลลิเมตร กลุ่มละ 2-3 ฟอง หลังจากกระท้อนติดผลแล้ว 60 วันจะเข้าสู่ระยะที่หนอนฟักจากไข่และอาศัยชอนไชกินเนื้ออยู่ภายในผล ทำให้ผลเน่าและร่วงหล่น
เกษตรกรควรหมั่นทำความสะอาดแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ ควรเก็บผลที่ถูกแมลงวันผลไม้เข้าทำลาย หรือผลที่เน่าเสียออกจากแปลงไปทำลายนอกแปลงปลูก โดยนำไปฝังกลบให้มีระดับหน้าดินหนา 15 เซนติเมตร เพื่อลดการสะสมและขยายพันธุ์ของแมลงวันผลไม้ในแปลง จากนั้นให้ตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง เพื่อลดร่มเงาในทรงพุ่ม อากาศถ่ายเทสะดวก แดดส่องถึง ทำให้สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมต่อการแพร่ระบาดของแมลงวันผลไม้ และให้ศัตรูธรรมชาติมีบทบาทในการทำลายแมลงวันผลไม้ได้มากขึ้น
นอกจากนี้ หลังจากต้นกระท้อนติดผลแล้ว 45 วัน เกษตรกรควรเริ่มห่อผลด้วยถุงกระดาษสีน้ำตาล ขนาด 7×10 นิ้ว โดยห่อ 1 ผลต่อ 1 ถุง เพื่อป้องกันการเข้าทำลายของแมลงวันผลไม้ และให้ใช้กับดักที่ภายในแขวนก้อนสำลีหยดสารเมทธิลยูจินอลผสมสารมาลาไทออน 83% อีซี ในอัตรา 4 :1 โดยปริมาตรสารหยดลงบนก้อนสำลี 3-5 หยด นำไปแขวนไว้ในทรงพุ่มที่ระดับความสูงประมาณ 1 เมตร จำนวน 2 กับดักต่อพื้นที่ 1 ไร่ เพื่อกำจัดตัวเต็มวัยเพศผู้ และให้สังเกตปริมาณแมลงวันผลไม้ในกับดักทุกสัปดาห์ เพื่อเป็นตัวชี้วัดปริมาณแมลงวันผลไม้ในแปลงปลูก
กรณีพบแมลงวันผลไม้ในกับดักเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ใกล้เก็บเกี่ยวผลผลิตกระท้อน ให้เกษตรกรพ่นด้วยเหยื่อพิษที่ประกอบด้วยยีสต์โปรตีน อัตรา 200 มิลลิลิตร ผสมกับสารมาลาไทออน 83% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตรผสมในน้ำ 5 ลิตร และควรพ่นในเวลาเช้าตรู่ตั้งแต่ห่อผลเสร็จจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิตหมด เนื่องจากในเวลาเช้าตรู่เป็นช่วงที่แมลงวันผลไม้ออกมาหาอาหาร โดยให้เดินพ่นแบบเป็นแถบ ทุก 7 วัน