เรื่อง/ภาพ : เรืออากาศโทประวิทย์ เชื้อชาญ
หมูป่า เป็นสัตว์ที่เมื่อกล่าวถึง จะนึกถึงเขี้ยวของมันที่โผล่แทงขึ้นจากด้านล่างของมุมปากทั้งสองข้าง และสร้างความน่ากลัวให้กับผู้พบเห็น เพราะด้วยลักษณะผิวที่หยาบกร้าน สีผิวที่ดำคล้ำ ขนของหมูป่าที่ไม่อ่อนนุ่ม สามารถสร้างจินตนาการของผู้ที่ไม่รู้จักอีกมุมของหมูป่าให้ต้องการหลีกไกลจากสัตว์ชนิดนี้
ในที่นี้ขอกล่าวถึงหมูป่าในอีกมุมที่คุณอาจไม่เคยรู้จักและพบเห็นภาพน่ารักๆ ของหมูป่า ที่เรียกได้ว่า เป็นสัตว์เลี้ยงกลางสวนอีกชนิดหนึ่ง
เรืออากาศโทประวิทย์ เชื้อชาญ หนุ่มใหญ่วัย 44 เศษ ชาวอุบลราชธานี แต่กำเนิด เป็นเจ้าของ ซึ่งในครั้งนี้ขอเอ่ยถึงเฉพาะส่วนของหมูป่าอินทรีย์ที่ เรืออากาศโทประวิทย์เพาะเลี้ยงไว้
“ที่ต้องเลี้ยงหมูป่า เพราะหมูป่าไม่เหมือนหมูขาวที่ต้องทำวัคซีน ซึ่งการให้วัคซีนก็ถือเป็นการนำสารเข้าร่างกายของสัตว์อย่างหนึ่ง และเมื่อได้มูลมา มูลสัตว์ชนิดนั้นก็มีส่วนของเคมีจากวัคซีนที่ได้ จึงต้องเลือกหมูป่า เพราะเป็นสัตว์ที่มีภูมิต้านทานในร่างกายของตัวมันเองสูง และไม่ต้องทำวัคซีนใดๆ กับกรมปศุสัตว์ ที่เหลือก็เป็นเรื่องของการดูแลการให้อาหาร ที่ไม่ผ่านการแปรรูปหรือปลอดเคมี นอกจากนี้ มูลหมูยังมีธาตุฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมสูง ซึ่งเป็นธาตุอาหารที่ไม้ผลในไร่ต้องการ” เมื่อความต้องการให้ปลอดสารลงตัว หมูป่าจึงเป็นปศุสัตว์ที่ตอบโจทย์ที่สุด
เรืออากาศโทประวิทย์ ยอมรับว่าไม่มีความรู้ในเรื่องของการทำปศุสัตว์แม้แต่น้อย แต่ข้อมูลที่ค้นคว้าศึกษาก่อนเลี้ยงหมูป่า ทำให้ทราบว่า หมูป่าเลี้ยงง่าย กินทุกอย่าง ตายยาก ซึ่งเมื่อนำมาเลี้ยงก็ไม่ผิดหวัง แม้กระทั่งหญ้า ผักตบชวา ในไร่ หมูป่าก็กินอย่างง่ายดาย ถือเป็นเรื่องดี
จุดเริ่มต้นของการเลี้ยงหมูป่า
เรืออากาศโทประวิทย์ เล่าว่า เมื่อ 2 ปีที่แล้ว หลังสรุปโจทย์ความต้องการลดต้นทุน ด้วยการเลี้ยงหมูป่าเพื่อใช้มูลแทนปุ๋ยอินทรีย์ ก็เริ่มออกหาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์หมูป่า โดยตระเวนไปซื้อที่จังหวัดบุรีรัมย์ ในขณะที่ไปปฎิบัติราชการที่เขาพนมรุ้ง ใน ตำแหน่งผู้บังคับกองร้อย เลือกซื้อพันธุ์หน้ายาว ซึ่งมีจุดเด่นด้านโครงสร้างใหญ่ ทนโรค ที่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ
การเลี้ยงหมูป่าของเรืออากาศโทประวิทย์ ไม่ใช่เพียงได้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์มาแล้วจะหยุดอยู่เพียงเท่านั้น ยังได้ผสมข้ามสายพันธุ์ เช่น หมูป่าหน้ายาว หมูป่าหน้าสั้น เหมยซาน ดูร๊อก หมูขุน หมูดำภูพาน โดยคำนึงถึงจุดเด่น ของแต่ละสายพันธุ์ คำนึงค่าใช้จ่ายที่ต้องมีต้นทุนของการเลี้ยงหมูป่า จึงคิดขยายพันธุ์ โดยคัดสายพันธุ์ไว้ทุกครั้งที่ผสม เพื่อให้ได้หมูป่าลูกผสม คุณภาพดี เนื้อเยอะ โครงสร้างใหญ่ ทนทานต่อโรค และเลี้ยงง่าย
ในช่วงแรกที่นำหมูป่ามาเลี้ยง หมูป่าลูกผสม เลี้ยงปล่อยให้เหมือนสัตว์เลี้ยงทั่วไป แต่ด้วยลักษณะนิสัยของหมูป่า จะไปเรื่อยๆ ไม่หยุดอยู่กับที่ ออกนอกพื้นที่สวนของ เรืออากาศโทประวิทย์ ไปกินพืชในพื้นที่ของเกษตรกรรายอื่น ก่อให้เกิดปัญหา ทำให้เรืออากาศโทประวิทย์ เลือกปล่อยหมูป่าบางตัวที่เชื่อง ไม่ออกนอกอาณาเขตสวน ให้กินและอยู่อาศัยอย่างอิสระ ส่วนหมูป่าบางตัว จำเป็นต้องเลี้ยงไว้เฉพาะในคอก เพราะออกนอกอาณาเขตบ่อยครั้ง
“2 ปี ที่ผ่านมา ผมคัดหลายรุ่น คัดสายพันธุ์เพื่อนำมาทำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ของตนเอง ซึ่งเมื่อเราเลี้ยงเยอะ มีการขยายพันธุ์ จึงมองไปถึงการเพาะเลี้ยงเพื่อจำหน่าย ซึ่งผมขายทุกแบบที่ลูกค้าต้องการ มีทั้งซื้อไปเลี้ยง ซื้อไปเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ หรือซื้อไปทำเป็นอาหาร”
อาณาเขตในการเลี้ยงหมูป่า
หมูป่า 3 คอก คุณประยูร แบ่งคอกไว้สำหรับพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ และหมูรุ่น 1 คอก อีก 2 คอกที่เหลือ เป็นคอกที่กั้นไว้อย่างหลวมๆ บนพื้นดิน สำหรับหมูป่าท้อง หมูป่าเล็ก และแม่หมู คอกสำหรับพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ปล่อยรวมทั้งตัวผู้และตัวเมีย ประมาณ 50 ตัว โดยให้สัดส่วนเพศผู้น้อย เนื่องจากธรรมชาติของหมูป่าจะมีจ่าฝูง และแบ่งอาณาเขตการอยู่อาศัย ดังนั้น หากหมูป่าเพศผู้อยู่รวมกันเยอะจะทำให้เกิดการต่อสู้ บางครั้งอาจกัดกันถึงตายได้
ธรรมชาติของหมูป่า ในอดีตไม่สามารถจับต้องได้ เพราะเป็นสัตว์ดุร้าย แต่ปัจจุบัน เรืออากาศโทประวิทย์ บอกว่า หมูป่าที่เลี้ยงไว้เริ่มคุ้นเคยกับคน ทำให้พฤติกรรมบางอย่างเปลี่ยนไป หมูป่าจะจำเจ้าของได้ หากเห็นหน้าหรือได้กลิ่นทุกวัน จะไม่ทำร้ายแม้จะเข้าใกล้ อุ้มหรือกอด ทั้งยังปล่อยเล่นภายในสวนหรือบริเวณบ้านได้เหมือนกับสัตว์เลี้ยงทั่วไป
ข้อที่ไม่ควรทำในการเลี้ยงหมูป่า
ข้อควรระวัง หากต้องการนำหมูป่าไปเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงภายในสวนหรือบริเวณบ้าน เรืออากาศโทประวิทย์ แนะว่า ไม่ควรเข้าใกล้หรือจับตัวหมูป่าขณะหลับ เพราะสัญชาตญาณสัตว์ป่ายังมีอยู่ หากทำให้ตกใจขณะหลับ อาจกัดหรือวิ่งพุ่งชนได้ ดังนั้น เมื่อหมูป่าหลับอยู่ ควรทำให้ตื่นด้วยการส่งเสียงเสียก่อน แล้วจึงเข้าไปเล่นด้วย นอกจากนี้ หมูป่าจะลืมเจ้าของหากไม่เห็นหน้าหรือไม่ได้กลิ่นนานเกิน 3 วัน ดังนั้น เมื่อต้องอยู่ห่างหมูป่านานกว่า 3 วัน ควรเริ่มทำความคุ้นเคย โดยการให้ดมกลิ่นให้หมูป่าคุ้นเคยก่อน แล้วจึงดำเนินกิจกรรมตามปกติ
อาหารที่ใช้เลี้ยงหมูป่า
การให้อาหาร หมูป่าเป็นสัตว์กินง่าย กินได้ทุกอย่าง แต่หมูป่าที่เรืออากาศโทประวิทย์ ต้องการให้เป็นคือ หมูป่าอินทรีย์ จึงต้องหาอาหารที่ปลอดสารเคมีหรือผ่านการแปรรูป เรืออากาศโทประวิทย์ เลือกใช้ เศษอาหาร กากมันหมักยีสต์ หญ้าขน หญ้าเนเปีย ผักตบชวา เพราะขึ้นเองตามธรรมชาติและปลอดสาร นำ เป็นอาหารที่ให้ประจำทุกวันหมูป่าจะชอบมาก ส่วนกากมันหมักยีสต์ หมูจะชอบมากเหมือนกินเบียร์กินเสร็จก็นอน ที่ให้เป็นอาหาร มีการเพิ่มกากน้ำตาลให้หมูป่ากินซึ่งจะสนใจมากเป็นอาหารเสริมที่ดี เพราะมีโปรตีนสูง 7-14 เปอร์เซ็นต์ และมีไขมันไม่ต่ำกว่า 11 เปอร์เซ็นต์ และมีราคาถูก ต้นทุนเรื่องของอาหารที่ดูเหมือนจะเป็นส่วนที่มากที่สุดของการเลี้ยงหมูป่า วันละไม่เกิน 100 บาท เท่านั้น
การผสมพันธุ์ การคลอด การเลี้ยงลูกหมู ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติของหมูป่า เมื่อลูกหมูป่าอายุได้ 2 เดือน ก็สามารถจำหน่ายได้ ซึ่งผู้ที่สนใจนำไปเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง มักจะซื้อหมูป่าวัยนี้ ด้วยราคา ตัวละ 1,000 บาท ส่วนหมูป่าไซต์ใหญ่ขึ้นมา เรืออากาศโทประวิทย์ จะขายตามน้ำหนัก โดยคิดราคากิโลกรัมละ 100 บาท สำหรับหมูตัว และหมูชำแหละ ในราคากิโลกรัมละ 150 บาท
ปัจจุบัน เรืออากาศโทประวิทย์ มีหมูป่าอินทรีย์กว่า 200 ตัว มีจำหน่ายทุกไซต์ ทุกวัย พร้อมส่งให้ถึงที่ ขึ้นอยู่กับการตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ท่านใดสนใจวิธีการเลี้ยงหมูป่าแบบอินทรีย์และเลี้ยงปล่อยตามธรรมชาติเช่นเดียวกับเรืออากาศโทประวิทย์ ติดต่อสอบถามหรือขอเข้าชมได้ กองพันทหารอากาศโยธิน กองบิน 21 โทรศัพท์ 086 -719- 0626