เรื่อง/ภาพ : ดร.วีรวุฒิ กตัญญูกุล /
การทำการเกษตรกรรมทุกวันนี้ เป็นที่ยอมรับทั่วกันว่า การปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าว ข้าวโพด สับปะรด อ้อย และพืชอื่นๆ ที่ปลูกชนิดเดียวกันในพื้นที่ขนาดใหญ่ติดต่อกันหรือปลูก
ในพื้นที่ทั้งหมด โดยเฉพาะการปลูกพืชอาศัยน้ำฝน มีความเสี่ยงต่อความล้มเหลว หากเกิดสภาวะฝนแล้งติดต่อกันนาน หรือเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคและศัตรูพืช นอกจากนี้แล้วต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงด้านสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และเสี่ยงต่อการขาดทุน เมื่อผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้มีราคาตกต่ำ อาจเกิดเพราะมีปริมาณผลผลิตมากเกินความต้องการของตลาด หรือเกิดจากผลกระทบจากราคาตลาดโลก
ด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงตระหนักและเล็งเห็นปัญหาดังกล่าว ได้ทรงแนะนำให้เกษตรกรทำการเกษตรตามหลัก “เศรษฐกิจพอเพียง” โดยการปลูกพืชหลายชนิดผสมผสานกัน รวมทั้งอาจมีกิจกรรมทางปศุสัตว์ และการประมง ตามความต้องการและความเหมาะสมของพื้นที่ ทำให้เกษตรกรที่มีพื้นที่ทำกินขนาดเล็กเพียง 5-10 ไร่ สามารถดำรงชีพพออยู่พอกิน หลุดพ้นจากสภาวะความเป็นหนี้สิน และมีความเป็นอยู่ดีขึ้นทั่วประเทศ

หลักการทำการเกษตรในรูปแบบของเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้สำหรับการทำการเกษตรที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ สำหรับการเกษตรในรูปแบบกึ่งอุตสาหกรรม เช่น การทำสวนผลไม้ที่มีจุดประสงค์ในการผลิตเพื่อการค้า เพื่อลดปัญหาที่อาจเกิดจากสาเหตุดังกล่าวข้างต้น โดยการปลูกพืชแบบผสมผสานตั้งแต่ 2-3 ชนิดในสวน มีข้อดีทำให้มีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตได้ตลอดทั้งปี และเป็นการกระจายแรงงานทำงานให้มีงานทำตลอดปี นอกจากนี้แล้วยังสามารถปลูกพืชเสริม เช่น กล้วย ไผ่ สะตอ และพืชอื่นๆ ในพื้นที่ว่างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ได้อีกด้วย เพื่อเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง

4 ข้อดี-ปลูกสะตอในสวนผลไม้
สะตอ นอกจากปลูกเป็นพืชเสริมรายได้ในสวนแล้ว อาจยกระดับขึ้นมาเป็นพืชหลักของสวนได้ เพราะสะตอเป็นพืชที่ปลูกได้ง่าย การดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก ปัญหาด้านโรคและแมลงศัตรูพืชน้อย โดยปกติแล้วไม่ต้องใช้สารกำจัดศัตรูพืชเลย การปลูกสะตอจึงเป็นการลดแรงงาน และสามารถใช้เวลาที่เหลือในการดูแลสวนผลไม้ที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด และมีปัญหาศัตรูพืชค่อนข้างมาก นอกจากนี้แล้ว การปลูกสะตอในสวนผลไม้ยังก่อให้เกิดประโยชน์มากหลายประการอย่างที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน ดังต่อไปนี้

1.ปลูกสะตอเป็นไม้พี่เลี้ยงของไม้ผล เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด และลองกอง โดยภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ เกษตรกรหลายพื้นที่โดยเฉพาะภาคใต้ จะปลูกสะตอเป็นไม้พี่เลี้ยงในสวนผลไม้ และปล่อยให้เจริญเติบโตควบคู่ไปกับพืชหลัก ถ้าหากระยะปลูกชิดกันมากเกินไป อาจมีการตัดสะตอออกบ้าง ทั้งนี้เพื่อให้สะตอเป็นร่มเงาสำหรับพืชประธานขณะที่มีขนาดเล็ก และสร้างความชุ่มชื่นให้แก่พืชหลักอีกด้วย ทำให้พืชหลักมีอัตราการอยู่รอดสูง และเมื่อออกดอกติดผลแล้ว เกษตรกรมีรายได้ทั้งขายผลไม้ และฝักสะตอ

2.การปลูกสะตอร่วมกับไม้ผล เป็นวิธีที่ทำให้สามารถขยายพื้นที่เพาะปลูกไม้ผลที่ต้องปลูก และเจริญเติบโตในสภาพพื้นที่มีปริมาณฝนมาก มีความชุ่มชื้นสูง อุณหภูมิไม่สูงมากและแสงแดดไม่มากนัก เช่น เงาะ ทุเรียน มังคุด และลองกอง ในกรณีที่ต้องการปลูกในพื้นที่ภาคเหนือหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีปริมาณฝนตกน้อยเพียง 1,400-1,500 มิลลิเมตรต่อปี แสงแดดจัด ความชื้นน้อย เพราะเมื่อปลูกสะตอร่วมกับผลไม้ดังกล่าวแล้ว สะตอเป็นพืชที่เจริญเติบโตเร็ว ต้นสูง สามารถลดปริมาณแสงแดด เป็นร่มเงาและสร้างความชุ่มชื้นให้แก่สวนผลไม้ ทำให้สภาพแวดล้อมเหมาะสมกับพืชที่ต้องการนำมาปลูก ขณะนี้มีเกษตรกรจำนวนมากต้องการปลูกทุเรียน เพราะตลาดมีความต้องการสูงให้ผลตอบแทนต่อไร่มากกว่าพืชผลอื่นๆ ก็สามารถขยายพื้นที่ปลูกนอกเหนือจากภาคตะวันออกและภาคใต้โดยอาศัยต้นสะตอเป็นไม้พี่เลี้ยง

3.สภาวะอากาศของประเทศไทยขณะนี้ มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก เพราะผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนในช่วงฤดูฝนมักเกิดลมพายุกรรโชครุนแรง และทำให้เกิดความเสียหายแก่สวนผลไม้เสมอ โดยทำสวนผลไม้หักโค่นล้ม และหากเกิดในช่วงผลไม้กำลังติดผลมักทำให้ผลไม้ร่วงหล่นจากต้น บางครั้งเสียหายหมดทั้งสวน ดังนั้น ในการวางแผนทำสวนผลไม้ควรปลูกต้นไม้เพื่อป้องกันลมในด้านที่มักเกิดพายุพัดกรรโชก ซึ่งสะตอเป็นพืชตัวเลือกที่น่าสนใจมากที่สุด เพราะเป็นไม้โตเร็ว ใบมีขนาดเล็ก สามารถลู่ตามลม และลดความเสียหายที่เกิดจากลมพายุได้ดี

4.สะตอ เป็นพืชที่ปลูกง่ายและสามารถเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝนค่อนข้างมาก แต่สามารถปลูกได้ในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝนปานกลาง เช่น ภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง และสามารถติดดอกออกฝักได้ตลอดปี หากมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญที่สุด การปลูกสะตอในสวนผลไม้ ก่อให้เกิดความร่มรื่นและสร้างความชุ่มชื่นแก่สวนแล้ว ยังสร้างความหลากหลายทางชีวภาพของสภาพแวดล้อมในสวน สะตอยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของแมลงศัตรูธรรมชาติอย่างดี ที่คอยช่วยทำลายและลดการระบาดของศัตรูพืชในสวนผลไม้ ยิ่งไปกว่านั้นในระยะสะตอออกดอกเป็นแหล่งอาหารของแมลงที่ช่วยผสมเกสรประเภทผึ้งต่อแตนเป็นจำนวนมาก ที่ช่วยผสมเกสรของผลไม้ เช่น ลำไย และไม้ผลอื่นๆ ในสวนอีกด้วย
ในขณะนี้พื้นที่ทางภาคเหนือที่เกษตรกรปลูกลำไยมากและปลูกในพื้นที่ขนาดใหญ่ เกษตรกรพ่นสารกำจัดแมลงบ่อยครั้งมาก ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้ลำไยติดผลไม่ดี เพราะขาดแมลงผสมเกสร บางแห่งเกษตรกรต้องนำรังผึ้งเลี้ยงเข้ามาไว้ในสวนเพื่อช่วยผสมเกสรของดอกลำไย

ดังนั้น การปลูกสะตอในสวนผลไม้ เป็นการสร้างที่อยู่อาศัยให้แมลงที่เป็นประโยชน์เหล่านี้อยู่รอดปลอดภัย และสามารถช่วยผสมเกสรในระยะพืชติดดอก ทำให้ไม้ผลที่ปลูกติดผลได้มากและได้ผลผลิตสูง
ควรปลูกสะตอพันธุ์อะไรดี?
การเลือกพันธุ์สะตอที่ปลูกในสวนผลไม้ สะตอที่ปลูกในประเทศไทยมี 2 พันธุ์ด้วยกัน คือ สะตอข้าวและสะตอดาน สะตอดานเป็นพันธุ์หนัก มีเมล็ดขนาดใหญ่ จำนวนเมล็ดต่อฝักน้อยและเมล็ดห่าง ฝักมีขนาดตรง จึงขอแนะนำให้ปลูกสะตอข้าว เพราะเป็นพันธุ์เบา เติบโตเร็ว จำนวนเมล็ดต่อฝักมาก ประมาณ 10-16 เม็ด ฝักมีลักษณะบิดเป็นเกลียว เป็นพันธุ์ที่ตลาดมีความนิยมมากกว่าเพราะมีกลิ่นฉุนน้อย และมีความนุ่มมากกว่า เนื่องจากขณะนี้ผลผลิตสะตอยังมีไม่มากเพียงพอต่อความต้องการของตลาด เพราะมีความนิยมรับประทานมากขึ้นทั่วประเทศ ทำให้ราคาจำหน่ายจากสวนมีราคาสูงถึง 3-5 บาทต่อฝัก แล้วแต่ช่วงฤดู แต่ราคาที่ซื้อขายทั่วไปประมาณ 8-12 บาท ดังนั้นหากปลูกเป็นพืชหลัก 500-1000 ต้น ก็สามารถมีรายได้เป็นหลักแสนเมื่อสะตอมีอายุ 8-10 ปีขึ้นไป

ข้อพิจารณาในการเลือกซื้อพันธุ์สะตอที่จะนำมาปลูก ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของการใช้งาน หากปลูกเป็นไม้บังลมของสวนควรเลือกพันธุ์จากการเพาะเมล็ด ซึ่งอาจติดฝักช้า แต่ต้นเจริญเติบโตแล้วต้นจะสูง แข็งแรง ต้านลมได้ดี การออกฝักอาจต้องใช้เวลา 5-6 ปี และควรปลูกระยะชิดประมาณ 5-6 เมตรต่อต้น อาจปลูกเป็นแถวเดี่ยวหรือปลูกสองแถวสลับฟันปลา ถ้าต้องการปลูกเป็นพืชหลักหรือพืชเสริมรายได้ภายในสวนควรซื้อพันธุ์ที่เพาะเลี้ยงโดยการติดตา เพราะออกฝักเร็วประมาณ 3-4 ปี ต้นไม่สูงมาก เก็บฝักได้ง่าย ระยะปลูกอาจปลูกระยะ 10×10 หรือ 8×10 เมตร หลังจากปลูกแล้วประมาณ 1 ปี หรือเมื่อต้นมีความสูง 1.5-2 เมตร ควรตัดยอดเพื่อให้แตกยอดใหม่ เมื่อแตกยอดใหม่แล้วควรเลือกไว้ยอด 3-4 ยอด ทำให้ต้นไม่เอนล้มง่าย และมีทรงพุ่มสมดุลให้ร่มเงาดี เมื่อคิดฝักต้นไม่สูงมาก เก็บเกี่ยวฝักได้ง่าย

สำหรับการปลูกสะตอเพื่อรักษาและสร้างสภาพแวดล้อมให้แก่สวน หากเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ ไม่จำเป็นต้องปลูกปะปนกับพืชหลัก (พืชประธาน) แต่อาจแบ่งเป็นโซนเพื่อความสะดวกในการดูแลและจัดการสวน แต่ถ้าเป็นสวนขนาดเล็ก อาจปลูกตามพืชว่างทั่วไป หรือปะปนกับพืชหลัก โดยเว้นระยะห่างจากพืชหลักตามความเหมาะสมของพืชที่ปลูก
บทสรุป
จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่สวนเพชรนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ที่ปลูกพืชหลัก คือ มะม่วง ทุเรียน และลำไย และพืชเสริมคือหน่อไม้และสะตอ ในพื้นที่รวม 60 ไร่ โดยปลูกสะตอประมาณ 1000 ต้น ในลักษณะเป็นไม้กันลมรอบๆ สวน และการสร้างสวนป่าปลูกร่วมกับไม้กฤษณา ในพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ เพื่อสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างความชุ่มชื่นและความร่มรื่นในบริเวณสวนผลไม้ พบว่าทุเรียนสามารถเจริญเติบโตได้ดี และเริ่มให้ผลผลิตเมื่อเข้าปีที่ 4 ขณะนี้ได้นำทุเรียนเข้ามาปลูกแซมในพื้นที่ที่ปลูกมะม่วงมากขึ้น เพราะทุเรียนเมื่อให้ผลผลิตแล้ว การดูแลง่ายกว่ามะม่วง ค่าใช้จ่ายในการดูแลและการกำจัดศัตรูพืชน้อยกว่ามะม่วง แต่ให้ผลตอบแทนการขายมากกว่าและไม่มีปัญหาด้านการตลาด

สวนผลไม้หลักที่ปลูกทั้งทุเรียน มะม่วง และลำไย ติดดอกและออกผลดก ให้ผลผลิตสูงและเป็นที่สังเกตว่ามีปริมาณผึ้ง ต่อ แตน ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในช่วงมะม่วงและลำไยกำลังออกดอก และที่สำคัญที่สุด ความจำเป็นในการใช้สารกำจัดศัตรูพืชตลอดฤดูปลูก โดยเฉพาะสารกำจัดแมลงน้อยมาก ดังนั้นการปลูกสะตอในสวนผลไม้ นอกจากสามารถเป็นรายได้เสริมแล้ว ยังมีประโยชน์หลายประการตามที่ได้กล่าวมาแล้ว

สนใจเยี่ยมชมสวนตัวอย่างได้ที่ สวนเพชรนครไทย เลขที่ 219 บ้านแก่งไฮ หมู่ 11 ต.หนองกะท้าว อ.นครไทย จ.พิษณุโลก หรือติดต่อ ฝ่ายวิชาการ บริษัท ฟลอราเทค จำกัด เลขที่ 92/440 หมู่บ้านเมืองเอก โครงการ 3 ตำบลหลักหก อำเภอเมืองปทุมธานี จ.ปทุมธานี 12000 โทร.0-2997-7138-9 แฟกซ์ 0-2997-6507 อีเมล์ floratek1@hotmail.com
หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูลจากนิตยสารเกษตรวาไรตี้ รู้แล้วรวย โดย คุณจอย นันท์นภัส ราชเจริญ