วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๐ นายสมปรารถนา สุขทวี ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นประธานเปิดการประชุมวิพากษ์ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การวิจัยรายประเด็น ด้านการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ชุมชน ณ ห้องแคทลียา ๒ ชั้น ๑ โรงแรมรามาการ์เด้น ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะหน่วยงานกลางในการกำหนดทิศทางและขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยการวิจัย และเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์ การวิจัยของชาติ จึงได้ให้ความสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวในเชิงวิชาการและจากการที่รัฐบาลได้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การบูรณาการการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วช. เห็นว่าจะต้องมีงานวิจัย เพื่อใช้ในงานดังกล่าว จึงได้จัดทำร่างยุทธศาสตร์การวิจัยรายประเด็นด้านการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ชุมชนขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำหนดกรอบวิจัยและการจัดสรรทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศให้สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติสามารถใช้ตอบโจทย์ปัญหาการวิจัยได้อย่างถูกต้องต่อไป ทั้งนี้ วช. จึงเห็นควรให้มีการประชุมวิพากษ์ดังกล่าวขึ้น เพื่อเป็นการระดมสมองและเปิดรับฟังความคิดเห็นสำหรับนำมาปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์การวิจัยรายประเด็นด้านการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ชุมชนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผลที่ได้จากการวิพากษ์ในครั้งนี้จะได้นำไปสู่ความมีส่วนร่วมและตระหนักถึงปัญหาของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและหาแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ชุมชนที่สำคัญต่อประเทศต่อไป
ศาสตราจารย์ ดร.อภิชัย พันธเสน ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะประธานคณะทำงานจัดทำร่างยุทธศาสตร์ฯ นำเสนอร่างยุทธศาสตร์ฯ และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมการประชุมต่อ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การวิจัยรายประเด็น ด้านการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ชุมชน โดยมี นายสมบูรณ์ วงค์กาด รองเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องจากพระราชดำริ และ รองศาสตราจารย์ ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองของชาติ ร่วมเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมการประชุม ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมการประชุม จำนวน ๑๒๐ คน
อนึ่ง ผลของการประชุมวิพากย์ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การวิจัยรายประเด็นด้านการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ชุมชนในครั้งนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จะได้นำไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขต่อไป