เรื่อง/ภาพ : เบียร์ เกษตรก้าวไกล

ไม่น่าเชื่อว่าบนพื้นที่ 6 ไร่ ในเขตโรงเรียนบ้านห้วยยาง จะมีแปลงเกษตรที่น่าสนใจ ทั้งพริกสด ผักชี น้ำเต้า และอีกสารพัดผักสวนครัว ที่ให้ดอกออกผลกันดกดื่น พืชเหล่านี้ผลิดอกออกผลขึ้นมาจากฝีมือของเด็กวัยประถม ออกจะเกินจริงไปหน่อย แต่นี่คือความจริงที่เกิดขึ้นแล้ว พืชพันธุ์เหล่านี้คือพยานชิ้นเอกที่ว่า แม้จะหนักแค่ไหนก็ไม่เหลือบ่ากว่าแรงของเกษตรกรรุ่นจิ๋ว ที่มีทั้งใจและกำลัง
ความสุขยุวเกษตรกร
ภายในโรงเรียนบ้านห้วยยาง ตำบลเขาขลุง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เขตพื้นที่ด้านหลัง 2 ไร่ ถูกจัดสรรให้เป็นพื้นที่ปลูกผักสวนครัว เพาะเห็ด เพาะถั่วงอก เลี้ยงปลาดุก และทำนา กิจกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นโดยกลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านห้วยต้ม ที่เป็นอีกหนึ่งโครงการของกรมส่งเสริมการเกษตร

สองมือน้อยๆ ของ ด.ช.กฤษณศักดิ์ ฉิมพาลี หรือที่เพื่อนๆ เรียกว่า “โต้” หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม ค่อยๆ โยนอาหารเม็ดลงในบ่อปลาดุกขนาดเล็ก ที่ปูด้วยพลาสติก ก่อนจะหันมาพูดกับทีมงาน ‘เกษตรก้าวไกล’ ด้วยรอยยิ้มว่า “ผมชอบเลี้ยงปลาดุก ซื้อมาตั้งแต่ตัวแค่ 1-2 นิ้ว ตอนแรกขุดสระก่อน แล้วก็ให้อาหาร เลี้ยงมาเรื่อยๆ จนได้ 3 เดือน ก็สามารถกินได้เลย พอโตเต็มที่ก็เอาไปแปรรูป ปิ้งย่าง ทำปลาดุกฟูกินกัน หรือขายบ้าง บางครั้งก็เอาไปปล่อย”

นอกจากน้องโต้แล้ว ยังมีเด็กๆที่เป็นสมาชิกกลุ่มอีก 30 คน แต่ละคนแบ่งหน้าที่รับผิดชอบชัดเจนตามความสนใจ บ้างก็ปลูกผัก หมักปุ๋ย ทำนา ใครที่ชอบตัวเลขก็มาทำบัญชีรายรับรายจ่าย ส่วนใครที่ชอบถือเงินก็รับตำแหน่งเหรัญญิกไปครอง เรียกได้ว่า เอาที่เด็กๆสบายใจ กิจกรรมทั้งหมดมีเพียงหลักการเดียว คือนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการทำงาน เน้นการนำความรู้และเทคโนโลยีจากภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ มุ่งเน้นกระบวนการปฏิบัติจริงและเรียนรู้ร่วมกัน พร้อมทั้งฝึกฝนทักษะการเป็นผู้นำให้แก่เด็กๆ ส่งผลให้เด็กที่นี่เกิดความรักสำนึกในอาชีพเกษตรกรรม ด้วยการขยายผลกิจกรรมด้านการเกษตรจากโรงเรียนสู่ครอบครัว
หลังจากที่ให้อาหารปลาเสร็จ น้องโต้ได้เอ่ยถึงความรู้สึกให้ฟังอย่างตั้งใจว่า “ผมรู้สึกดีครับ ได้ความสุข ได้ความรู้ ทำเกษตรผมชอบ ที่บ้านก็นำไปใช้ ผมเอาไปปลูกแล้วก็เอาไปให้พ่อแม่ช่วยปลูก การเป็นยุวเกษตรเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้” น้องโต้ ตอบด้วยแววตาภูมิใจ

เมื่อได้เห็นเหล่ายุวเกษตรกรกำลังปลูกผัก หมักปุ๋ย เลี้ยงปลา ถึงมือไม้จะเปรอะเปื้อนไปบ้าง แต่ก็ยังไม่ชัดเท่าใบหน้าที่เปื้อนยิ้มของเด็กๆ ขณะที่พูดคุยกัน น้องๆยังบอกอีกว่า อยากมาโรงเรียนทุกวัน จะได้ดูแลผักที่ตัวเองปลูก
เบื้องหลัง ยุวเกษตรกรรุ่นจิ๋ว
หลังจากที่พูดคุยกับเด็กไปแล้ว เราก็มีโอกาสได้พูดคุยกับเกษตรกรวัยโจ๋ นามของเขาคือ คุณศรีราชา บัวเบา ผู้เป็นทั้งเกษตรกรและครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านห้วยยาง เล่าว่า กลุ่มยุวเกษตรกรตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2543 ดำเนินกิจกรรมน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอพียงมาประยุกต์ใช้ในการสอนเด็กๆ และใช้เป็นเครื่องมือหลักในการดำเนินชีวิต และอยากเห็นเด็กๆที่มีใจรักเกษตรได้ลองทำ เพราะสมัยนี้ไม่ค่อยมี เนื่องจากเป็นอาชีพที่เหน็ดเหนื่อยจึงจำเป็นต้องมีนวัตกรรมต่างๆมาช่วยให้การทำเกษตรกรรมง่ายขึ้น

ด้วยความที่คุณครูกลัวเด็กจะใจไม่สู้ จึงคิดวิธีการแปรรูปแบบง่ายๆ และเนื่องจากมีการปลูกอ้อยอยู่แล้ว เมื่อถึงขั้นตอนแปรรูป จึงคิดค้นการทำเครื่องบีบอ้อยโดยใช้เครื่องปั่นจักรยานให้เด็กๆได้ปั่นออกกำลังกายไปด้วย ซึ่งสามารถลดพลังงาน ลดต้นทุน และรักษาสิ่งแวดล้อม ส่วนน้ำอ้อยที่ได้ ก็นำมาแปรรูปทำไอศกรีม เด็กๆได้ออกกำลังกาย ครูได้รอยยิ้มกลับไปเป็นกำลังใจ นี่ก็ถือเป็นมุมเล็กๆที่น่ารักของคุณครูและเด็กๆที่นี่
ก่อนกลับเกษตรกรวัยโจ๋ก็ได้ทิ้งท้ายให้ฟังจากก้นบึ้งหัวใจว่า “ความสุขคือชื่นใจที่เห็นเด็กๆ นำสิ่งที่สอนไปใช้ที่บ้าน มีความสุขมากๆ เวลาไปเยี่ยมที่บ้าน เห็นเขาปลูกผัก ผักโตกินโน่นกินนี่กันหลากหลาย ผมยิ่งมีความสุขมาก ในวันข้างหน้าอยากเห็นเด็กที่จบไป ทำเกษตรที่ปลอดภัย ทำอาหารที่ปลอดภัยกินในครอบครัว แล้วไปต่อยอดเป็นธุรกิจ” คุณครูเอ่ยทิ้งท้ายด้วยแววตาจริงใจ
กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านห้วยยาง ถือเป็นแปลงเกษตรที่บ่มเพาะทั้งคนปลูกและพืชผักสวนครัวให้โตไปพร้อมๆกัน เพราะนอกจากจะรดน้ำพรวนดินใส่ปุ๋ยแล้ว ยังใส่ใจลงไปอีกด้วย ทั้งยังเป็นแปลงที่มีเกษตรกรรุ่นจิ๋วคอยแบ่งปันความสดใสกันอยู่เสมอ
