ลำไยแตกใบอ่อน
กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรชาวสวนลำไยเฝ้าระวัง "โรคราน้ำฝน"

ระยะนี้ต้นลำไยเริ่มแตกใบอ่อน กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรชาวสวนลำไยเฝ้าระวังช่วงที่มีความชื้นในอากาศสูง และมีฝนตกติดต่อกันหลายวัน ให้สังเกตการเข้าทำลายของโรคราน้ำฝน แสดงอาการที่ใบ กิ่ง และยอด ใบอ่อนเน่า กิ่งอ่อนและยอดอ่อนไหม้เป็นสีน้ำตาลเข้ม ยอดไหม้ และยอดแห้งตายอย่างรวดเร็ว มักพบเส้นใยสีขาวขึ้นฟูคลุมกิ่งอ่อนและยอดอ่อน แสดงอาการที่ผล ในระยะผลอ่อนบริเวณเปลือกผลอ่อนและขั้วผลมีสีน้ำตาลเข้ม กรณีมีฝนตกชุกติดต่อกัน จะพบเส้นใยสีขาวขึ้นฟูคลุมผล ต่อมาผลจะเน่า แตก และหลุดร่วง

นอกจากนี้ หากพบเริ่มระบาด ให้เกษตรกรหมั่นสำรวจสวนลำไยทำความสะอาดกำจัดวัชพืชโคนต้น เก็บกวาดเศษซากพืชส่วนกิ่ง ใบ ผลที่เป็นโรคใต้ต้นไปเผาทำลายนอกสวนอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในช่วงที่มีฝนตกชุก จากนั้นควรตัดแต่งกิ่ง ใบ และทรงพุ่มต้นลำไยให้โปร่ง อากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อลดการสะสมความชื้นใต้ทรงพุ่มไม่ให้มีมากเกินไป อีกทั้งเกษตรกรควรล้างทำความสะอาดอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางการเกษตรต่างๆ ให้สะอาด และผึ่งแดดให้แห้งหลังการใช้งานทุกครั้งอยู่เสมอ เมื่อได้นำไปใช้กับต้นที่เป็นโรคในสวนที่มีการระบาดก่อนนำกลับมาใช้ใหม่ในครั้งต่อไป

สำหรับในสวนลำไยที่พบการระบาดของ“โรคราน้ำฝน” เป็นประจำ หลังตัดแต่งกิ่งและทำความสะอาดสวนแล้ว ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชเมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50-60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารเมทาแลกซิล-เอ็ม+แมนโคเซบ 68% ดับเบิ้ล ยูจี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นให้ทั่วต้นทุก 5-7 วัน และหยุดพ่นก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไยอย่างน้อย 15 วัน

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated