นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ อภิปรายในเวทีเกษตรกรยุคใหม่เพื่ออนาคตประเทศไทยจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ( สศช.) ในงาน “ขับเคลื่อนแผนฯ 12 สู่อนาคตประเทศไทย” เมื่อเร็วๆนี้ ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์บอลรุม เมืองทองธานี ว่า การทำแผนเพื่อพัฒนาไปสู่อนาคตจะต้องเข้าใจอดีตก่อน โดยอดีตสมัยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 3 ได้พูดถึงความเหลื่อมล้ำ จนถึงขณะนี้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ไทยติดอันดับต้นๆของโลกในเรื่องความเหลื่อมล้ำรองจากรัสเซีย อินเดีย แสดงให้เห็นว่าปัญหากองใหญ่ของสังคมไทยยังคงอยู่และเพิ่มมากขึ้น สังเกตได้จากภาครัฐรับขึ้นทะเบียนคนจนมีประชาชนมาขึ้นทะเบียนจำนวนตัวเลขมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่แน่ว่าอนาคตของแผนใดๆ ไทยจะเป็นอันดับ 1 ของโลก สาเหตุเพราะคนรวยมีแต้มต่อสูงกว่าเกษตรกร ตัวอย่างเช่น ปี 2558-2559 สถานการณ์ภัยแล้ง ข้าว ข้าวโพดที่ได้ผลผลิตลดลงต้องขายได้ในราคาที่สูงขึ้นเป็น 2 หรือ 3 เท่าตัวแต่ปรากฏว่าราคากลับตก สาเหตุมาจากการนำเข้าข้าวสาลีจากที่เคยนำเข้าราว 5 แสนตันเพิ่มเป็น 3 ล้านตัน โดยอ้างว่าเพื่อทำอาหารสัตว์และให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
นายประพัฒน์ ยังได้ระบุอีกว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรจะผลิตผลิตผลตามกันแบบตามมีตามเกิด ภาครัฐส่งเสริมให้ทำอะไร ปลูกอะไรก็ทำตาม แต่การเป็นเกษตรกรยุคใหม่ต้องเข้าถึงข้อมูลเพื่อตัดสินใจในอาชีพ ยกตัวอย่างเกษตรกรที่จังหวัดบุรีรัมย์หว่านข้าวไปแล้วฝนตกทำให้พันธุ์ข้าวเกิดความเสียหายถึง 3 ครั้ง แสดงถึงการไม่มีข้อมูลเรื่องน้ำฝน ส่วนตัวคาดหวังว่าเกษตรกรทุกหมู่บ้านจะมีข้อมูลการเกษตรจะได้วางแผนการทำเกษตรกรรมได้ วอนขอให้ภาครัฐปรับเปลี่ยนวิธีการจาก “รัฐบอกให้ทำ” เป็น “รัฐอำนวยความสะดวก” และจัดให้มีเวทีที่เกษตรกรสามารถคุยกันได้เอง โดยเกษตรกรต้องเปลี่ยนจากการผลิตแล้วขายผลผลิตที่ได้ทันที มาเป็นนำผลผลิตนั้นมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นต้นแล้วขายผลิตภัณฑ์นั้นๆ ซึ่งได้เสนอให้รัฐบาลจัดทำโครงการ SME เกษตร เพื่อให้เกษตรกรมีเงินลงทุนแปรรูป ที่สำคัญคือต้องสนับสนุนเงินทุนกับเกษตรกรตัวจริง อย่างไรก็ตาม ในนามของสภาเกษตรกรฯขอให้ สศช.นำแนวคิดต่างๆในงานครั้งนี้ไปต่อยอดขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุผลต่อไป