กรมประมงร่วมกับ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ และ บริษัท
ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จับมือเป็นพันธมิตรอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและฟื้นฟู
การประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืน ในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเลทั้งฝั่งภาคตะวันออก อ่าวไทยตัว ก อ่าวไทยและทะเลอันดามัน นำร่องสร้างปะการังเทียมเพิ่มที่อยู่ให้สัตว์น้ำในฝั่งอ่าวไทย 4 ชุมชน ของ 3 จังหวัดภาคใต้
นางอุมาพร พิมลบุตร รองอธิบดีกรมประมง นายนพปฎล เดชอุดม รองประธานสำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาลและสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ นายอภัยชนม์ วัชรสินธุ์ รองกรรมการผู้จัดการ ด้านประสานกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะผู้แทนมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์และดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนานโยบายเชิงกลยุทธ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมกันลงนามในบันทึกความร่วมมือโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและฟื้นฟูการประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืน ณ ห้องประชุมชั้น 31 อาคารเอไอเอ แคปปิตอล เซ็นเตอร์
นางอุมาพร พิมลบุตร รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่าจากสถานการณ์ความเสื่อมโทรมของท้องทะเล ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำในน่านน้ำของไทยมีปริมาณลดน้อยลงอย่างมากจนบางชนิดอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งส่งผลต่อการประกอบอาชีพของชาวประมง และทำให้รายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงครอบครัว กรมประมงจึงได้ดำเนินโครงการฟื้นฟูทรัพยากรประมงชายฝั่งทะเลโดยการจัดสร้างปะการังเทียมอย่างต่อเนื่อง มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 เพื่อเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย เลี้ยงตัว วางไข่ และหลบภัยของสัตว์น้ำ ทั้งยังเป็นการป้องกันการทำการประมงที่มีลักษณะทำลายทรัพยากร เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ท้องทะเล รวมทั้งเป็นการพัฒนาแหล่งทำการประมงทั้งการประมงพื้นบ้านและการประมงพาณิชย์ ทำให้ชาวประมงมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยปัจจุบันกรมประมงสามารถสร้างปะการังเทียมเพื่อเป็นแหล่งทำการประมงได้แล้วรวม 584 แหล่ง ครอบคลุมพื้นที่ 2,063.13 ตารางกิโลเมตร ในพื้นที่
20 จังหวัดชายทะเล
สำหรับโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและฟื้นฟูการประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืน ที่ได้ร่วมลงนามในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งมิติของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการร่วมกันดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและฟื้นฟูการประมง ในพื้นที่จังหวัดชายทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามันให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
นายนพปฎล เดชอุดม รองประธานสำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาลและสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการพัฒนาที่ยั่่งยืน ครอบคลุมทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อสอดคล้องกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ (Sustainable Development Goals–SDGs) ของสหประชาชาติ ประกอบกับเครือเจริญโภคภัณฑ์มีเจตนารมณ์ในการ อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และส่งเสริมการประมงเพื่อความยั่งยืน และป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ดังนั้นจึงเชื่อมั่นว่าการลงนามความร่วมมือในโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและฟื้นฟูการประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืนในครั้งนี้ ซึ่งนำร่องด้วยการสร้างปะการังเทียม นอกจากจะช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล แล้วยังช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับท้องทะเลไทย และจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรที่เป็นชาวประมงได้อีกด้วย
นายอภัยชนม์ วัชรสินธุ์ รองกรรมการผู้จัดการ ด้านประสานกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะผู้แทนมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงพร้อมที่จะเป็นหนึ่งในพลังเพื่อขับเคลื่อนโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและฟื้นฟูการประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืน โดยเริ่มที่การสร้างปะการังเทียม ซึ่งไม่เพียงจะช่วยสร้างความสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศในท้องทะเลไทย แต่ยังช่วยรักษาแหล่งอาหารของคนไทยได้อีกด้วย เนื่องจากปะการังเป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำ ใช้เป็นที่วางไข่และเป็นที่หลบภัย
ด้าน ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนานโยบายเชิงกลยุทธ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ด้วยความตั้งใจของกลุ่มทรูที่จะนำศักยภาพเทคโยโลยีสื่อสารและองค์ความรู้ต่างๆที่มีอยู่ เข้าร่วมยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมทุกภาคส่วนรวมถึงกลุ่มประมง กลุ่มทรูจึงยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมสนับสนุนในฐานะพันธมิตรอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและฟื้นฟูการประมงชายฝั่งทุกมิติอย่างยั่งยืนในพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออก อ่าวไทยตัว ก อ่าวไทยและทะเลอันดามันในครั้งนี้ โดยจะจัดทีมกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ ร่วมทำงานด้านอนุรักษ์กับชุมชนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประชาสัมพันธ์โครงการผ่านสื่อต่างๆ ในเครือเพื่อเพิ่มการรับรู้และสร้างการตระหนักถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมในทะเลอย่างยั่งยืน
ในบันทึกข้อตกลงเพื่อดำเนินโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและฟื้นฟูการประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืนนี้ จะนำร่องด้วยการสร้างปะการังเทียมซึ่งเป็นแท่งคอนกรีตสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ขนาด 1.5×1.5×1.5 เมตร จำนวน 2,000 แท่ง ในพื้นที่ชายฝั่งทะเล 4 แห่ง ใน 3 จังหวัดได้แก่ 1. ชุมชนชายฝั่งทะเลตำบลบ่อตรุ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา 2. ชุมชนชายฝั่งทะเล ตำบลกระดังงา อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา 3.ชุมชนชายฝั่งทะเลตำบลปะนาเระ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี และ 4. ชุมชนชายฝั่งทะเลตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส โดยจะใช้ระยะเวลาในการจัดสร้างและจัดวางปะการังเทียมให้แล้วเสร็จภายเวลาประมาณ 1 ปี