เริ่มแล้ว! โปรยเมล็ดพันธุ์พืชเพิ่มผืนป่าต้นน้ำทั่วประเทศ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชเพิ่มผืนป่าต้นน้ำและเป็นแหล่งอาหารสัตว์ป่าทั่วประเทศ

วันที่ 13 กรกฎาคม 2560 เวลา 09.00 น. พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและเพิ่มผืนป่าทั่วประเทศไทย สานต่อพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ณ เขื่อนลำตะคอง อำเภอ สีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา พร้อมกล่าวว่า จากปัญหาวิกฤตการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ที่ถูกทำลาย ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากความต้องการใช้ที่ดินทำกินและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของราษฎรที่เข้าไปบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าไม้เพื่อทำการเกษตร ตลอดจนการล่าสัตว์ป่าเพื่อนำมาเป็นอาหาร ทำให้ปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทยถูกทำลายมากขึ้นทุกปี ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ในธรรมชาติและ ความแปรปรวนของสภาพอากาศ เช่น ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศลดลง กระบวนการเกิดฝนและปริมาณน้ำฝนตามธรรมชาติมีค่าผิดปกติตามมา การอนุรักษ์ป่าไม้ไม่ให้ถูกทำลายเพิ่มขึ้นและการฟื้นฟูสภาพผืนป่าที่ถูกทำลายให้กลับคืนสู่สภาพเดิม จึงจำเป็นจะต้องมีการบูรณาการจากหน้าที่ความรับผิดชอบหลักของแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้การฟื้นฟูผืนป่าเกิดประสิทธิภาพและเป็นไปตามวัตถุประสงค์พระบรมราโชวาทรัชกาลที่ 10 ที่กล่าวว่า “…ขอยึดพระราชดำริ รัชกาลที่ 9 ทำงานเพื่อชาติและประชาชน” และตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 “พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวาย ความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันก็จะสร้างป่า”

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการโปรยเมล็ดพันธุ์พืช

ในปี 2559 ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้กรมฝนหลวงและ การบินเกษตร ดำเนินโครงการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศหลังการปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันในพื้นที่แหล่งต้นน้ำภายใต้แนวคิด “9 สัปดาห์ สู่วันมหามงคล” ซึ่งถือได้ว่าเป็นการทำงานเชิงบูรณการที่มีผลดี ต่อระบบนิเวศและการทำฝนหลวง เนื่องจากพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่ต้นทุนในการให้กำเนิดความชื้นที่จะก่อตัว เป็นเมฆและตกเป็นฝนกลับสู่พื้นที่ป่าที่เป็นต้นน้ำ ไหลลงสู่พื้นที่การเกษตรและแหล่งกักเก็บน้ำตามธรรมชาติหรืออ่างเก็บน้ำไว้ใช้ต่อไป และเนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร 28 กรกฎาคม 2560 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จัดทำโครงการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศในพื้นที่แหล่งต้นน้ำ ภายใต้แนวคิด “9 วัน สู่วันมหามงคล 65 วันสืบสานพระราชปณิธาน” เพื่อเป็นการคืนผืนป่าเพื่อสานต่อพระราชปณิธาน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และเพิ่มความชื้นให้กับพื้นที่ป่า สร้างความสมบูรณ์ให้แก่ทรัพยากรป่าไม้ ที่ทุกฝ่ายตระหนักในคุณค่าของป่าต้นน้ำและน้อมนำแนวพระราชดำริศาสตร์พระราชา มาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

ร่วมประกาศสืบสานพระราชปณิธาน
ร่วมประกาศสืบสานพระราชปณิธาน

พลเอก ฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของพื้นที่แหล่งต้นน้ำ โดยเฉพาะบริเวณเขื่อน ลำตะคอง ที่ในปี 2560 นี้ มีปริมาณน้ำเก็บกักในระดับที่น้อย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มีการสั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรและกรมชลประทาน ประสานการทำงานร่วมกันโดยมีการปรับแผนการบินปฏิบัติการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความต้องน้ำของพื้นที่การเกษตรและเพิ่มปริมาณน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือเขื่อนลำตะคอง ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึง 9 กรกฎาคม 2560 โดยมีการระดมสรรพกำลังที่หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครราชสีมา และบูรณาการร่วมกับหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จังหวัดลพบุรี ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน จำนวน 26.99 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นน้ำจากการปฏิบัติการ ฝนหลวง 6.12 ล้านลูกบาศก์เมตร และจะยังคงติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดต่อไป”

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร

ด้าน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร  กล่าวว่า “โครงการ โปรยเมล็ดพันธุ์พืชเพื่อสร้างความชุ่มชื้นและเพิ่มผืนป่าทั่วประเทศไทย สานต่อพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าต้นน้ำและเป็นแหล่งอาหารให้สัตว์ป่า” โดยได้มีการเตรียมความพร้อมของโครงการในระยะที่ 1 คือการปั้นเมล็ดพันธุ์พืช ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมฝนหลวงและการบินเกษตรกับกองทัพบก โดยกองทัพภาคที่ 2 จังหวัดนครราชสีมา มณฑลทหารบกที่ 31 จังหวัดนครสวรรค์ และมณฑลทหารบกที่ 15 จังหวัดเพชรบุรี เพื่อเตรียมเมล็ดพันธุ์พืชสำหรับใช้โปรยในโครงการดังกล่าว ซึ่งมีชนิดเมล็ดพันธุ์พืชที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมป่าไม้ ที่จะใช้โปรยในพื้นที่เป้าหมายตามที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กำหนดให้ทั้ง 3 ภาค ได้แก่ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ คือ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำทีมร่วมปั้นเมล็ดพันธุ์พืช
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำทีมร่วมปั้นเมล็ดพันธุ์พืช
  • ภาคกลาง โปรยเมล็ดพันธุ์พืชจำนวน 11 ชนิด ได้แก่ กัลปพฤกษ์ กาฬพฤกษ์ ขี้เหล็ก แดง พฤกษ์ มะค่าแต้ ราชพฤกษ์ (คูน) สาธร (กระเจาะ) สีเสียด (สีเสียดแก่น) อะราง (นนทรีป่า) และมะค่าโมง โดยความรับผิดชอบของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง ในพื้นที่เป้าหมายบริเวณอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวและอุทยานแห่งชาติเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โปรยเมล็ดพันธุ์พืชจำนวน 2 ชนิด ได้แก่ ไผ่รวกและพะยูง โดยความรับผิดชอบของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในพื้นที่เป้าหมายบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา
  • ภาคใต้ โปรยเมล็ดพันธุ์พืชจำนวน 2 ชนิด ได้แก่ ประดู่ (ตีปีก) และมะค่าโมง โดยความรับผิดชอบของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ ในพื้นที่เป้าหมายบริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โชว์การปั้นเมล็ดพันธุ์พืช
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โชว์การปั้นเมล็ดพันธุ์พืช

สำหรับการประเมินผลโครงการฯ ในปี 2560 ระหว่างเดือนสิงหาคม – กันยายน 2560 จะแบ่งการประเมินผลเป็น 2 ส่วน คือ การประเมินอัตราการงอกของเมล็ดพันธุ์ในแปลงทดลอง (Field Test) ซึ่งเป็นการทดสอบอัตราการงอกของเมล็ดพันธุ์จากการนำเมล็ดพันธุ์ที่ปั้นเพื่อใช้ในการโปรย มาทดสอบโดยใช้แปลงทดลองเสมือนจริง บริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่จริง โดยทำแปลงทดลองทั้งหมด 3 สถานที่ และใช้เมล็ดพันธุ์ชนิดเดียวกันกับที่ใช้ในการโปรยในแต่ละพื้นที่ และการประเมินอัตราการงอกของเมล็ดพันธุ์จากพื้นที่จริง (Field Survey) โดยทีมลาดตระเวนของกรมอุทยานฯ อีกด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และคณะชมนิทรรศการ"โครงการ โปรยเมล็ดพันธุ์พืชเพื่อสร้างความชุ่มชื้นและเพิ่มผืนป่าทั่วประเทศไทย"
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และคณะชมนิทรรศการ”โครงการ โปรยเมล็ดพันธุ์พืชเพื่อสร้างความชุ่มชื้นและเพิ่มผืนป่าทั่วประเทศไทย”

อย่างไรก็ตาม ในโครงการดังกล่าว ยังมีกิจกรรมการปลูกป่าในพื้นที่ที่ประชาชน นักเรียน นักศึกษาสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกรมการปกครองและกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในการช่วยประชาสัมพันธ์เชิญชวนและดูแลกล้าไม้ที่ปลูก ซึ่งในปีนี้กำหนดพื้นที่การปลูกป่าบริเวณพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่จะทำการฟื้นฟู จังหวัดเพชรบุรี พื้นที่ป่าชุมชนบ้านทรัพย์มะค่างาม ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา และพื้นที่ป่าชนิดป่าหวายในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ซึ่งอยู่ในความดูแลของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 จังหวัดนครสวรรค์ นายสุรสีห์ กล่าวทิ้งท้าย

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated