เรื่อง/ภาพ : เบียร์ เกษตรก้าวไกล
เริ่มกันแล้ว สำหรับชาวไร่อ้อยในพื้นที่ภาคอีสาน ที่ออกมาปรับวิธีการทำไร่อ้อยให้สอดรับกับนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ หวังให้มีอำนาจการต่อรองด้านราคาและอื่นๆ มากขึ้น ซึ่งต้องปรับตัวและปรับวิธีคิดให้มีความมั่นคงทางรายได้

วันนี้ “เกษตรก้าวไกล” ได้เดินทางไปถึงแดนอีสาน เพื่อพาไปดูแปลงใหญ่อ้อยประชารัฐ ที่จังหวัดอำนาจเจริญ แปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่ (อ้อยโรงงาน) โดยหัวใจของแปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ ก็คือการดำเนินการร่วมกันระหว่างเกษตรกร ภาครัฐ และเอกชน ในการพัฒนารายได้สินค้าเกษตร สร้างรายได้เร็ว เชื่อมโยงตลาด เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการให้แก่เกษตรกรรายย่อย คาดหวังให้สามารถดูแลตัวเองได้อย่างยั่งยืน
ก่อนอื่นต้องบอกว่า แปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่ (อ้อยโรงงาน) จังหวัดอำนาจเจริญ มีพื้นที่รวม 7,323 ไร่ รวม 3 อำเภอ คือ อำเภอเมืองอำนาจเจริญ อำเภอเสนางนิคม อำเภอหัวตะพาน มีเกษตรกรสมาชิก 534 ราย สินค้าอ้อยและพันธุ์อ้อย มีผลผลิตรวม 8,678 ตัน

นายสำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวระหว่างลงพื้นที่อ้อยประชารัฐ จ.อำนาจเจริญว่า หนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักที่เกษตรกรสามารถลดพื้นที่ปลูกข้าวคืออ้อย มีราคารับซื้อที่แน่นอน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พยายามผลักดันแปลงใหญ่ประชารัฐ เพราะมีเอกชนดูตลาด รัฐให้ความรู้โดยศูนย์ ศพก. 882 ศูนย์ทั่วประเทศจะเป็นเสาหลักแนะนำเกษตรกร
เมื่อพูดถึงลักษณะของเกษตรแปลงใหญ่อ้อย หลายคนคงคิดถึงไร่อ้อยโรงงานที่เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ผืนเดียวกัน แต่จริงๆแล้ว เกษตรแปลงใหญ่คือการรวมกลุ่มของเกษตรกรในหลายๆพื้นที่เข้าด้วยกัน อย่างเช่น ที่ตำบลกุดปลาดุก อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ที่มีการรวมกลุ่ม เกษตรกร 10 ราย เนื้อที่รวมกัน จำนวน 121 ไร่

คุณชาญชัย สุภิวงศ์ เกษตรกรเข้าร่วมอ้อยประชารัฐ จำนวน 36 ไร่ ต.กุดปลาดุก อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ ได้บอกกับทีมเกษตรก้าวไกลว่า “เริ่มปรับพื้นที่นาที่ไม่เหมาะสมมาปลูกอ้อย เข้าร่วมโครงการเกษตรสมัยใหม่ นำรูปแบบเทคโนโลยี มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม มาปรับใช้ เพิ่มผลผลิตได้ร้อยละ 25 จากผลผลิตเดิม 12 ตัน/ไร่ เพิ่มเป็น 15 ตัน/ไร่ ”
คุณชาญชัยยังบอกอีกว่า ทางมิตรผลได้เข้ามาประกันราคาตลาดที่แน่นอน ตามราคาอ้อยโรงงาน 1,050 บาท/ไร่ และอ้อยพันธุ์ 1,200 บาท/ตัน และค่า C.C.S. ความหวานเกิน 10 ราคาเพิ่ม C.C.S.ละ 63 บาท เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ก็ทำให้กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่สบายใจขึ้น

เดินทางกันต่อปลายทางคือ แปลงใหญ่อ้อยประชารัฐ ต.เค็งใหญ่ อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ ที่มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนามาปลูกอ้อย จำนวน 144 ไร่ เกษตรกร 14 ราย โดยมี คุณสง่า ปานะพรม เกษตรกรเข้าร่วมอ้อยประชารัฐ นำร่องปีนี้เป็นปีแรกในพื้นที่จำนวน 43 ไร่
“ใช้การบริหารจัดการแปลงแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม ทางมิตรผลส่งคนมาคอยให้คำปรึกษา ทั้งสำรองออกค่าปุ๋ยทุกอย่างให้ก่อน ถือว่าไปได้ดี เพราะทำสัญญากับบริษัทมิตรผล เขาจะรับซื้อผลผลิตทั้งหมด ทำให้หมดห่วงเรื่องราคา มีความหวังว่าผลผลิตจะดีขึ้นเรื่อยๆ แม้จะทำเป็นปีแรก”

นายไพฑูรย์ ประภาถะโร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานอ้อย บริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด และผู้จัดการ เกษตรสมัยใหม่อ้อยประชารัฐ ได้พูดถึงศักยภาพพื้นที่ปรับเปลี่ยนนาข้าว จึงสนับสนุนเกษตรสมัยใหม่แปลงใหญ่อ้อย จ.อำนาจเจริญ เน้นนวัตกรรมวิจัยรวมกลุ่มผลิตในพื้นที่เหมาะสมเชิงเศรษฐกิจ เริ่มต้นใน 3 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.เสนางคนิคม และ อ.หัวตะพาน
“ผลผลิตอ้อยทั้งหมดโรงงานจะรับซื้อและดูเรื่องการตลาดให้กับเกษตรกร พร้อมเงินช่วยเหลือค่าปรับล้มคันนา ใช้นวัตกรรมการทำไร่อ้อยสมัยใหม่แบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มมาปรับใช้ ด้วยทฤษฎี 4 เสาหลัก ปลูกพืชบำรุงดิน ลดการไถพรวน ควบคุมแนววิ่งของรถ และลดการเผาใบอ้อยโดยใช้รถตัด ลดต้นทุน 25%”

นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของแปลงใหญ่อ้อยประชารัฐ หากจะให้ยั่งยืนต้องเกิดจากความพร้อมใจกันของเกษตรกร และชุมชนต้องเข้มแข็ง มีความโปร่งใสในการจัดการ ต้องทำให้สำเร็จเพื่อเป็นตัวอย่างจริง จึงจะโน้มน้าวให้เกิดกลุ่มแปลงใหญ่อ้อยที่ยั่งยืนได้