กรมชลประทานคลอดแผนแก้ปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้ง หนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้วและพื้นที่ใกล้เคียง หวังสร้างความสมดุลอย่างยั่งยืน ต่อภาคการเกษตร อุตสาหกรรมและอุปโภคบริโภค ตามนโยบายรัฐบาล มั่นใจจะมีพื้นที่เกษตรได้รับประโยชน์กว่า 68,000 ไร่ และพื้นที่ชุมชน-ย่านการค้าชายแดน ยังปลอดภัยจากน้ำท่วมอีกด้วย
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้จัดทำแผนหลักการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำห้วยพรมโหดและพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว เพื่อรองรับการจัดตั้ง “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว” ตามนโยบายของรัฐในการนำประเทศเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และส่งเสริมความมั่นคงของประเทศ โดยมุ่งเน้นในการจัดหาและบริหารจัดการน้ำให้เกิดความสมดุลยั่งยืน ต่อภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และอุปโภคบริโภค ทั้งปัจจุบันและอนาคต และป้องกันบรรเทาปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นเป็นประจำเช่นกัน
ทั้งนี้การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว ซึ่งครอบคลุมพื้นที่อำเภอวัฒนานคร และอำเภออรัญประเทศ โดยจะมีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ขึ้นที่ ตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ มุ่งเน้นอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร เครื่องมือเกษตร พลาสติก และโลจิสติกส์ จำนวน 660 ไร่ นั้น พื้นที่ดังกล่าวและพื้นที่ใกล้เคียงยังคงมีพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งและปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก โดยปัญหาภัยแล้งจะเกิดขึ้นในพื้นที่ อำเภอตาพระยา อำเภอโคกสูง และอำเภออรัญประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่จะต้องส่งผลผลิตเพื่อป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมส่วนปัญหาน้ำท่วมจะเกิดขึ้นในพื้นที่อำเภออรัญประเทศ โดยเฉพาะย่านชุมชน และตลาดการค้าชายแดน
“ในการศึกษาแผนหลักการพัฒนาแหล่งน้ำดังกล่าว พบว่า หากต้องการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน จะต้องดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำให้เต็มศักยภาพทั้งการสร้างแหล่งเก็บกักน้ำแห่งใหม่ การปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำเดิม การก่อสร้างอาคารควบคุมบังคับน้ำ ระบบกระจายน้ำ รวมถึงการผันน้ำมาจากลุ่มน้ำข้างเคียง โดยมีการกำหนดเป้าหมายแต่ละโครงการไว้ว่า เพื่อการเกษตรหรือการอุตสาหกรรมและอุปโภคบริโภค หรือเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย” รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าว
สำหรับการศึกษาแผนหลักการพัฒนาลุ่มน้ำดังกล่าว มีแผนงานที่สำคัญ 18 โครงการ จะสามารถกักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้นอีก 62 ล้าน ลบ.ม. และยังมีปริมาณน้ำที่ผันจากพื้นที่ลุ่มน้ำใกล้เคียงอีกประมาณ 35 ล้าน ลบ.ม./ปี มีพื้นที่รับประโยชน์ด้านการเกษตรรวม 68,500 ไร่ โดยแยกเป็นโครงการจัดหาน้ำเพื่ออุตสาหกรรมและอุปโภคบริโภคในเขตเศรษฐกิจพิเศษ 2 โครงการ คือ โครงการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำคลองพระปรง ซึ่งจะได้น้ำใช้การเพิ่มขึ้น 10 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี และโครงการวางท่อผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองพระปรงสู่พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งทั้ง 2โครงการอยู่ระหว่างก่อสร้างอยู่โดยกรมชลประทานและการประปาส่วนภูมิภาค ตามลำดับ
นอกจากนี้ยังมีโครงการเพื่อบรรเทาอุทกภัยพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 โครงการ ได้แก่ คลองผันน้ำหลากอ้อมเมืองอรัญประเทศ โครงการประตูระบายน้ำพร้อมสถานีสูบน้ำปลายคลองพรมโหด และโครงการพนังกั้นน้ำคลองพรมโหด ส่วนที่เหลือ 13 โครงการ เป็นการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรสำหรับพื้นที่บริเวณใกล้เคียงเขตเศรษฐกิจพิเศษ รองรับการเจริญเติบโตเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต แยกเป็นโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 8 แห่ง ก่อสร้างฝาย 2 แห่ง เพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำเดิม 1 แห่ง และขุดลอกอ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง โดยมีโครงการที่พร้อมจะดำเนินการได้ทันที 1 แห่ง คือโครงการอ่างเก็บน้ำแซร์ออ อำเภอวัฒนานคร ความจุ 2.34 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งกรมชลประทานมีแผนก่อสร้างในปี พ.ศ.2561
ส่วนอีก 12 โครงการในแผนที่เหลือได้ทำการจัดลำดับความสำคัญของโครงการ และนำมาศึกษาความเหมาะสมและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(IEE) จำนวน 5 โครงการ โดยแบ่งเป็น โครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและจัดหาน้ำพื้นที่เกษตร 3 โครงการ และโครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัยพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ 2 โครงการ
สำหรับโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและจัดหาน้ำพื้นที่เกษตรทั้ง 3 โครงการ ประกอบด้วย
- โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน อำเภอตาพระยา เป็นอ่างฯขนาดกลางมีความจุ 21 ล้าน ลบ.ม. สามารถบรรเทาปัญหาในพื้นที่แห้งแล้งในเขตอำเภอตาพระยา ประมาณ 10,000 ไร่ อย่างไรก็ตามโครงการนี้จะมีพื้นที่อ่างเก็บน้ำอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติตาพระยา ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
- โครงการประตูระบายน้ำบ้านคลองยาง ตำบลผักขะ อำเภอวัฒนานคร ซึ่งเดิมเป็นทำนบดินสร้างปิดลำห้วยพรมโหด แต่ถูกน้ำพัดจนขาดเมื่อปี 2553 ต่อมาได้สร้างเป็นท่อลอดถนน หากก่อสร้างเป็นประตูระบายน้ำคลองยาง จะสามารถกักเก็บน้ำในลำน้ำได้ 629,000 ลบ.ม. โครงการนี้นอกจากจะแก้ปัญหาภัยแล้งแล้วยังสามารถในการบริหารจัดการน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยได้อีกด้วย
- โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองบัวเหนือ ปัจจุบันเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กของกรมชลประทานตั้งอยู่ที่ ตำบลหันทราย อำเภออรัญประเทศ มีความจุประมาณ 400,000 ลบ.ม. โครงการนี้จะพัฒนาเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางให้สามารถเก็บกักน้ำได้ 7.65 ล้าน ลบ.ม. โดยการจัดซื้อที่ดินหน้าอ่างฯประมาณ 1,000 ไร่ ขุดเป็นสระขนาดใหญ่ความลึกประมาณ 5 เมตร พร้อมทั้งปรับปรุงทางระบายน้ำล้นเดิม(spillway) ให้เป็นอาคารระบายน้ำล้นแบบประตูระบายน้ำ ซึ่งทั้งโครงการประตูระบายน้ำบ้านคลองยาง และโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองบัวเหนือ สามารถดำเนินการก่อสร้างพร้อมกันได้ เนื่องจากที่ตั้งของโครงการอยู่ในลุ่มน้ำเดียวกันคือ ลุ่มน้ำพรมโหด แหล่งน้ำของเขตเศรษฐกิจพิเศษ สามารถบริหารจัดการน้ำร่วมกันได้
ส่วนโครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัยพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ 2 โครงการ นั้นประกอบด้วย
- โครงการคลองผันน้ำเลี่ยงเมืองอรัญประเทศ ซึ่งมีความเหมาะสมมากที่สุดที่จะต้องเร่งดำเนินการ
- โครงการประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำปลายห้วยพรมโหด พร้อมพนังป้องกันน้ำท่วม โดยทั้งสองโครงการจะช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ตอนล่างของลุ่มน้ำห้วยพรมโหด โดยเฉพาะบริเวณชุมชนเมืองอรัญประเทศ และย่านการค้าชายแดนได้อย่างมีนัยสำคัญ จึงได้คัดเลือกทั้งสองโครงการ เพื่อศึกษาความเหมาะสมและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) ต่อไป