กระทรวงเกษตรฯ ร่วมเป็นเจ้าภาพการจัดงาน SIMA ASEAN Thailand 2017 เตรียมโชว์ผลงาน “นวัตกรรมเกษตรไทยสู่ Thailand 4.0” พร้อมส่งเสริมการเรียนรู้นวัตกรรมทางการเกษตรให้เกษตรกรไทย หนุนสร้างโอกาสขยายเครือข่ายทางธุรกิจสู่ภูมิภาคอาเซียนและตลาดโลก
ดร.วราภรณ์ พรหมพจน์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในปี 2560 กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดให้เป็น “ปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น ทั้งด้านสังคม มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ตลอดทั้งมีความภาคภูมิใจในอาชีพเกษตรกร สอดรับกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคตที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงอุตสาหกรรมเกษตร โดยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการอาหารโลกเพิ่มมากขึ้น ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะเข้ามามีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิต และเทคโนโลยีจะช่วยให้ผู้บริโภค ผู้ผลิต สามารถสื่อสารและเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ระหว่างกันได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น ส่งผลให้ภาคการเกษตรของไทยต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับกับปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลต่อภาคการผลิต โดยเน้นการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรไทย การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น และสนับสนุนการพัฒนาภาคการเกษตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตร ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อเตรียมรับมือกับผลกระทบต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น และส่งเสริมการลดต้นทุนในด้านต่าง ๆ เช่น แรงงาน เพื่อให้สินค้าเกษตรไทยสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอาเซียน และตลาดโลกได้
ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ของเกษตรกรไทย และสร้างโอกาสในการขยายเครือข่ายทางธุรกิจสู่ภูมิภาคอาเซียนและตลาดโลก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงเข้าร่วมเป็นเจ้าภาพการจัดงาน SIMA ASEAN Thailand 2017 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2560 ณ อาคาร 5-6 ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมีกรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักในการจัดนิทรรศการภายในงานครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกร และผู้ประกอบการตลอดสายการผลิตทางการเกษตร ได้รับทราบแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมทางการเกษตรของไทย ตลอดทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยในภาคเกษตรให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ รวมไปถึงองค์กรระดับสากลและผู้เข้าร่วมงานจากนานาประเทศ โดยจะร่วมจัดแสดงผลงานเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร อุปกรณ์การเกษตร และปัจจัยการผลิต เพื่อให้เกษตรกรและนักธุรกิจการเกษตร สามารถเลือกสรรเรียนรู้เทคโนโลยีและเครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อนำมาพัฒนาคุณภาพการผลิต รวมทั้งเป็นช่องทางในการเจรจาธุรกิจของผู้ประกอบการธุรกิจการเกษตร ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ที่ปรึกษาองค์กรภาครัฐ และเอกชน ตลอดทั้งส่งเสริมการเรียนรู้นวัตกรรมทางการเกษตรของเกษตรกรไทยและสร้างโอกาสในการขยายเครือข่ายทางธุรกิจสู่ภูมิภาคอาเซียน
ดร.วราภรณ์ กล่าวต่อไปว่า กรมวิชาการเกษตรในฐานะที่ได้รับมอบหมายจากระทรวงเกษตรฯ ให้เป็นหน่วยงานหลักในการจัดงานครั้งนี้ ได้เตรียมความพร้อมในการจัดแสดงผลงาน ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนแรกภาคจัดแสดงนิทรรศการ ระหว่างวันที่ 7-9 กันยาย 2560 ครอบคลุมพื้นที่จำนวนประมาณ 400-500 ตารางเมตร ซึ่งเป็นการรวบรวมผลงานวิจัยที่โดดเด่นและนวัตกรรมใหม่ด้านเทคโนโลยีการเกษตรโดยเน้นการลดใช้สารเคมี เช่น การป้องกันกำจัดศัตรูพืชด้วยสารชีวภัณฑ์ เครื่องใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินแบบอัตโนมัติ พันธุ์ถั่วเหลืองโปรตีนสูง การผลิตปุ๋ยหมักเติมอากาศ นวัตกรรมการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว และชุดตรวจสอบ (Test Kit) ต่างๆ ได้แก่ ชุดตรวจสอบดิน ชุดตรวจสอบไวรัส ชุดตรวจสอบคุณภาพผลผลิตเกษตร และชุดตรวจสอบโรคพืช เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการแสดงแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกออนไลน์ (Agri-Map Online) จากกรมพัฒนาที่ดิน และศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ จากกรมชลประทาน โดยภายในงานจะมีนักวิจัยที่จะให้ข้อมูลและคำแนะนำแก่ผู้เข้าชมงานด้วย
ส่วนที่ 2 ภาคการจัดสัมมนา ในวันที่ 8 กันยายน 2560 จะจัดสัมมนาในหัวข้อ “นวัตกรรมเกษตรไทยมุ่งสู่ Thailand 4.0” ในวันที่ 8 กันยายน 2560 เวลา 8.00-16.00 น. ณ ห้องประชุม Amber 2-3 (Hall3) โดยจะมีหัวข้อบรรยายที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นงานวิจัยที่โดดเด่นและใหม่ของกรมวิชาการเกษตร อาทิ เครื่องใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินแบบอัตโนมัติ การใช้เครื่องหมายโมเลกุลคัดเลือกพันธุ์ถั่วเหลืองโปรตีนสูง มันฝรั่งพันธุ์ใหม่ พืชอนาคตไกล นำพาอุตสาหกรรมแปรรูปไทยยั่งยืน ชีวภัณฑ์สู่การนำไปใช้ประโยชน์ และการจัดการหนอนหัวดำมะพร้าว นวัตกรรมการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว และการวิจัยสาระสำคัญในผลิตผลเกษตร โดยจะมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนระดับแนวหน้าของวงการเกษตรไทย และเกษตรกร เข้าร่วมประชุมประมาณกว่า 400 คน ส่วน ในช่วงภาคบ่ายจะเป็นการเสวนาของภาครัฐ ร่วมกับภาคเอกชน และเกษตรกร เพื่อเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการเกษตรให้เกิดความเข้มแข็ง โดยผู้เข้าร่วมเสวนาเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการเชิงธุรกิจเกษตร อาทิ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ผู้บริหารกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ผู้บริหารบริษัทน้ำตาลมิตรผล นวัตกรด้านการแปรรูปสมุนไพร และบรรจุภัณฑ์ ผู้แทนด้านเกษตรอัจฉริยะ (Smart farm) และผู้แทนเกษตรกร (Smart Farmer) กลุ่มพืชสวน และพืชไร่