ปลาแรด คือ “ปลาทองคำ” ของเกษตรกรลุ่มน้ำสะแกกรัง จ.อุทัยธานี (มีคลิป)
หญิงแกร่ง...วันเพ็ญ นาทอง ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาแรดในกระชัง ตำบลท่าซุง จ.อุทัยธานี

เรื่อง/ภาพ : เด็กเกษตรโว้ย

หากเอ่ยถึงกลุ่มผู้เลี้ยงปลาแรดในกระชัง จะต้องมีชื่อของ กลุ่มเกษตรผู้เลี้ยงปลาแรดในกระชังตำบลท่าซุงจังหวัดอุทัยธานี อยู่ในลำดับต้นๆของประเทศไทย เนื่องจากเป็นกลุ่มเกษตรกรที่รวมตัวกันจนประสบความสำเร็จมากๆ

เฉพาะใต้ถุนบ้านที่ทำเป็นร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากปลาแรดมีโล่รางวัลประกาศเกียรติคุณต่างๆวางไว้ติดไว้นับ 100 ก็ว่าได้

ฟอร์ด เรนเจอร์ “แกร่งทุกงานเกษตร” จึงขออาสานำพาสื่อมวลชนสายเกษตรตะลุยลุ่มน้ำสะแกกรัง ไปดูกันกว่าเขาเลี้ยงปลากระชังกันอย่างไร จึงมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั้งประเทศ

“เกษตรก้าวไกล” และ “เกษตรโว้ย” 2 เว็บไซต์ที่ทำหน้าที่รายงานข่าวเกษตรได้ร่วมขบวนไปกับคณะในครั้งนี้ด้วย ได้พบกับ “วันเพ็ญ นาทอง” หรือ “ผู้ใหญ่วันเพ็ญ” ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาแรดในกระชัง พร้อมคณะทั้งแม่บ้านพ่อบ้าน(ส่วนใหญ่จะเป็นแม่บ้าน)ได้ให้การต้อนรับขับสู้เป็นอย่างดี

บรรยายให้ความรู้แก่ผู้มาเยือน
บรรยายให้ความรู้แก่ผู้มาเยือน

พอบรรยายที่มาที่ไปของกลุ่มเสร็จสรรพก็ได้นำคณะไปลงเรือล่องแม่น้ำสะแกกรัง ดูวิถีชีวิตริมน้ำ สลับด้วยแพปลาในกระชัง ขึ้นจากล่องเรือก็มารับประทานอาหารเมนูจากปลาแรด ขอบอกว่าอร่อยแบบเบ็ดเสร็จ สมคำร่ำรือ “ใครมาเยี่ยมชมหรือดูงาน…ถ้าไม่ได้ชิมอาหารที่ทำจากปลาแรดถือว่ามาไม่ถึง” พออิ่มหนำกับอาหารก็ได้เวลาพูดคุยกับผู้ใหญ่วันเพ็ญ

ไม่ได้คุยธรรมดา แต่ลงเรือคุยกันเลย “คุยกันในเรือนี้แหละ…เพราะเวลาจำกัดมากๆ” และมุ่งไปที่กระชังเลี้ยงปลาทันที

กว่าจะประสบความสำเร็จมีวันนี้ ที่ได้รับคัดเลือกจากกระทรวงเกษตรฯ ให้เป็น กลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์น้ำดีเด่น ระดับประเทศ ไม่ได้เป็นโชคช่วย แต่ขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นและฝีมือล้วนๆ

เริ่มต้นเลี้ยงปลาแรดในกระชังในปี 2540 จากสมาชิกเพียง 10 คน ได้เลี้ยงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้คนในชุมชนมองเห็นในเรื่องของการที่สามารถต่อรองเรื่องราคาอาหารปลา และราคาขายปลาดีกว่าทำคนเดียวที่มักถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา จึงทำให้สมาชิกเพิ่มมากขึ้นทุกปี จนปัจจุบันมีทั้งหมด 179 ราย (ส่วนใหญ่เลี้ยงปลาแรดในกระชัง แต่ก็มีส่วนหนึ่งที่เลี้ยงในบ่อดินด้วย) ซึ่งไม่เพียงแค่ชาวบ้านตำบลท่าซุง แต่มีชาวบ้านจากตำบลอื่นขอเข้าร่วมกลุ่ม และทางราชการก็ได้เข้ามาส่งเสริมตลอดมา จนกลายเป็นกลุ่มเครือข่ายที่สามารถผลิตปลาได้ตามที่ลูกค้าต้องการ”

ข้อมูลเกี่ยวกับการเพาะขยายพันธุ์ตามภาพนี้
ข้อมูลเกี่ยวกับการเพาะขยายพันธุ์ตามภาพนี้

ได้ถามถึงขั้นตอนการเลี้ยงปลาแรดในกระชัง ผู้ใหญ่วันเพ็ญ บอกว่าเริ่มจากการเพาะขยายพันธุ์ปลา (ข้อมูลตามภาพ) โดยความรู้ทางวิชาการส่วนนี้ทางศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดอุทัยธานี เข้ามาสอนเรื่องการเพาะพันธุ์ปลาแรด เพื่อลดต้นทุนในการซื้อพันธุ์ปลา ซึ่งสมาชิกทุกคนเรียนรู้และนำมาปรับใช้ได้เป็นอย่างดี

เมื่อลูกปลาแรดมีขนาด ประมาณ 5-10 ซ.ม. จะนำลงเลี้ยงในกระชังในแม่น้ำ ขนาดกระชัง 5×6 เมตร (30 ตารางเมตร) ลึก 2 ½ เมตร จะมีอัตราปล่อยลูกปลาแรดลงเลี้ยง จำนวน 1,000 ตัว โดยจะเลี้ยงด้วยอาหารวันละ 2 มื้อ คือมื้อเช้า จะเป็นพืชผักผลไม้สุกต่างๆ เช่น ผักบุ้ง ผักตบชวา รวมทั้งมะละกอสุก กล้วยสุก ฯลฯ และมื้อเย็นจะเสริมด้วยอาหารเม็ดสำเร็จรูปลอยน้ำ โปรตีนไม่ต่ำกว่า 25 % และอาหารที่คิดทำขึ้นเองส่วนหนึ่ง ช่วงที่ปลายังตัวเล็กจะเป็นอาหารเบอร์ 1 พอตัวโตขึ้นหน่อยก็จะเป็นอาหารเบอร์ 2 (ใช้เบอร์ 2 จนจับขายได้) เลี้ยงประมาณ 1 ½  ปี ปลาจะมีขนาดน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ก็เริ่มจับขายได้

ถือว่าเป็นการเลี้ยงที่มาราธอนมากๆกว่าจะจับขายได้ “แล้วจะคุ้มหรือ”…“ขายได้โลละเท่าไรละ”…ถามทันที

“ปลาแรดที่เลี้ยง 1,000 ตัว/1 กระชัง อัตรารอดเกือบ 90 % (ตายไป 100 กว่าตัว) ราคา ณ ปัจจุบัน ถ้าขายปลีกก็ตกเฉลี่ยกิโลละ 100-120 บาท แต่ถ้าขายส่งให้กับพ่อค้าแม่ค้าราคาเฉลี่ย 80-90 บาท/ กิโลกรัม ซึ่งต้นทุนจะหนักที่ค่าอาหาร ตกต้นทุนประมาณ 70 บาท/กิโลกรัม…โดยรุ่นหนึ่งๆจะขายปลาแรดได้ประมาณ 750 กิโลกรัมต่อกระชัง (75,000 บาท) ก็ยังถือว่าคุ้ม เพราะเราเลี้ยงกันคนละหลายกระชังค่ะ” ผู้ใหญ่วันเพ็ญ ตอบทันควัน

ที่ผ่านมาในอดีตเคยประสบปัญหาเรื่องการตลาดอยู่บ้าง แต่ระยะหลังๆ ด้วยความเข้มแข็งของกลุ่มทำให้สามารถจัดการได้ โดยปลาสดจะมีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อถึงกระชังเลี้ยง จะสั่งออร์เดอร์เข้ามาว่าต้องการครั้งละกี่กิโลกรัม ซึ่งจะต้องมีปลาหมุนเวียนขายได้ทุกวัน

สมาชิกกลุ่มช่วยกันปรุงอาหารจากปลาแรด
สมาชิกกลุ่มช่วยกันปรุงอาหารจากปลาแรด
ใครมาที่นี่ ถ้าไม่ได้รับประทานอาหาร หรืออุดหนุนผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปลาแรดเหมือนกับว่ามาไม่ถึง
ใครมาที่นี่ ถ้าไม่ได้รับประทานอาหาร หรืออุดหนุนผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปลาแรดเหมือนกับว่ามาไม่ถึง

สิ่งหนึ่งที่เป็นการเพิ่มมูลค่าปลาแรดให้มีราคาสูงขึ้น คือการนำมาแปรรูปเป็นอาหารสารพัดเมนู เช่น ปลาส้ม ปลาร้าด่วน ปลายอ ปลาแรดแดดเดียว ฯลฯ ซึ่งในแต่ละปีจะมีกลุ่มเกษตรมาศึกษาดูงานหลายคณะมากๆ ทำให้สามารถขายผลิตภัณฑ์แปรรูปได้มาก แถมมีการจัดเลี้ยงด้วยเมนูอาหารที่ทำจากปลาแรด ยิ่งไปกว่านั้นยังเพิ่มรายได้จากล่องเรือชมวิถีชีวิตริมน้ำ ชมการเลี้ยงปลาในกระชัง โดยมีเรือไว้รองรับนักท่องเที่ยวล่องไปในแม่น้ำสะแกกรังและต่อไปถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ชมแม่น้ำสองสีที่สวยงามเป็นธรรมชาติที่ไม่ได้หาดูง่ายๆ

“เรื่องการแปรรูปผลิตภัณฑ์เป็นรายได้ที่ดีมาก เราต้องศึกษาพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง จนได้รับรองมาตรฐานต่างๆตามที่ทางราชการกำหนด และจากการที่เราได้ยึดอาชีพเลี้ยงปลาแรดในกระชังมายาวนาน ทำให้ปลาแรดลุ่มน้ำสะแกกรัง เป็นปลาประจำจังหวัดอุทัยธานี และยังถูกขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จากกรมทรัพย์สินทางปัญญาอีกด้วย คือความภูมิใจของประธานกลุ่ม

ปลาแรดแดดเดียว
ปลาแรดแดดเดียว

จุดเด่นและเอกลักษณ์ของปลาแรดที่นี่ มาจากแม่น้ำสะแกกรังมีการไหลเวียนตลอดเวลา ทำให้ปลาแรดมีความแตกต่างจากเนื้อปลาชนิดอื่นและที่อื่นๆ ที่สำคัญไม่มีกลิ่นโคลนหรือกลิ่นสาบ

ณ วันนี้ “วันเพ็ญ นาทอง” ผู้หญิงแกร่งขวัญใจชาวบ้านตำบลท่าซุง ได้ทำคุณประโยชน์ให้กับท้องถิ่นที่สามารถรวมกลุ่มก้อนได้และถือเป็นแบบอย่างของเกษตรกรที่พัฒนาอาชีพไม่หยุดนิ่ง “เสียสละ ทุ่มเท…จริงจัง จริงใจ” จึงทำให้ได้รับเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติปี 2557

“จากที่เคยมีอาชีพขายเสื้อผ้าในกรุงเทพฯ และกลับมาอยู่ที่บ้านทำนาปลูกข้าวแต่ประสบปัญหาน้ำท่วมในปี 2538 จึงเปลี่ยนจากทำนามาเลี้ยงปลาแรดในกระชังแทน และสามารถสร้างกลุ่มสร้างอาชีพให้พออยู่พอกิน จึงเป็นความภูมิใจสูงสุดของชีวิตแล้ว”

ลงเรือชมวิถีชีวิตริมน้ำสะแกกรัง
ลงเรือชมวิถีชีวิตริมน้ำสะแกกรัง

ผู้เขียนได้พยายามคำนวณรายได้ และมูลค่าเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในชุมชน ก็พบว่าปลาแรดของที่นี่ คือ “ปลาทองคำ” ดีๆนี่เอง…ปีหนึ่งๆมีรายได้หลายล้านบาททีเดียว…ใครไม่เชื่อก็ไปศึกษาดูงานได้ เขามีหลักสูตร “รวยด้วยปลาแรด” ติดต่อคุณวันเพ็ญ บ้านโรงน้ำแข็ง 31 หมู่ที่ 5 ตำบลท่าซุง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี 61000 โทร. (081) 953-9866 ส่วนผู้สนใจการเพาะพันธุ์ปลา สนใจติดต่อศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดอุทัยธานี โทรศัพท์ (056) 980-587…รับรองไม่ผิดหวังครับ

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated