เรื่อง : เด็กเกษตรโว้ย
วันนี้เวลานี้…สื่อต่างๆรายงานข่าวผลผลิตด้านเกษตรตกต่ำเป็นว่าเล่น ล่าสุดนี้ก็เรื่องน้องมะนาวที่เคยหวานแหววก็กลับหน้าดำคร่ำเครียดไปดื้อๆ เพราะว่าราคาของเจ้าตกต่ำ ชนิดติดดินกันเลย
อย่างเช่น รายงานข่าวค่ำจากช่อง 7 สี เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2560 บอกว่า “เจ้าของสวนมะนาวปาดน้ำตา หลังราคาตกต่ำ และนำไปเททิ้ง” ทำเอาสังคมโซเชียลวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่าเป็นวิธีการที่เหมาะสมหรือไม่ จะอย่างไรก็แล้วแต่ทำให้เรารู้ว่าปัญหาของเกษตรกรชาวสวนมะนาวกำลังเกิดขึ้น ใครละจะมาช่วยแก้ไข…
ต่อกรณีดังกล่าว “เกษตรก้าวไกล” และ “เกษตรโว้ย” รับฟังอย่างตั้งใจ… “เกษตรกรพูดอะไรเราต้องรับฟัง” เพราะบ้านนี้เมืองนี้ถ้าเกษตรกร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ไม่ได้ ก็ยากที่ประเทศไทยจะมีเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง
ว่าแล้วก็ขอไปฟังเสียงเกษตรกรในข่าวจาก 7 สีกันก่อน
นางสาวจารุวรรณ ทองแจ่ม อายุ 29 ปี อยู่บ้านเลขที่ 464 ม.13 บ.พิกุลทอง ต.นิคมทุ่งโพธิ์ทะเล อ.เมือง จ.กำแพงเพชร เกษตรกรชาวสวนมะนาว เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวหลังเจอสถานการณ์ราคามะนาวถูก เกษตรกรชาวสวนมะนาวไม่สามารถส่งพ่อค้าคนกลางได้ ต้องนำมะนาวทิ้งอย่างต่อเนื่อง พบมีทิ้งเกลื่อนริมถนนในหมู่บ้านและริมคลองต่างๆ หลายจุด ว่า ขณะนี้ราคามะนาวถูก ทำให้เกษตรกรชาวสวน ได้รับความเดือดร้อน ปีนี้ขาดทุนจากการปลูกมะนาวขาย เนื่องจากมีเกษตรกรชาวนาหนีภัยแล้ง หันมาปลูกมะนาวมากขึ้นและออกผลดี ทำให้ราคามะนาวล้นตลาด ร่วมทั้งในปีที่ผ่านมา มะนาวมีราคาแพงประชาชนปลูกมะนาวไว้กินเอง จึงมีผู้บริโภคน้อยลง ความต้องการด้านบริโภคน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งต่างจากมะนาวที่มีราคาดี ขายกิโลกรัมละ 30 บาท
นางสาวจารุวรรณ เปิดเผยอีกว่า สำหรับผลมะนาวแป้นแป้นรำไพ และมะนาวไร้เมล็ด ผิวที่สวยสมบูรณ์ จะมีราคาสูงหน่อย แต่ต้องคัดผิวและขนาดส่งขายให้กับพ่อค้าแม่ค้าคนกลาง ถึงแม้นว่าผลมะนาวแป้นรำไพมีราคาถูกลง 20 กิโลกรัม ราคาขาย 40 บาท ส่วนมะนาวไร้เมล็ด 20 กิโลกรัม ขายในราคา 60 บาท เฉลี่ยแล้วมะนาวออกจากสวนลูกละ 15-50 สตางค์ ต้องยอมรับสภาพกับราคาที่ตกต่ำลง ส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนมะนาวจากที่เคยเป็นผู้กำหนดราคามะนาวเอง หรือพ่อค้าคนกลางเป็นผู้กำหนดราคา แต่จะต้องดูสินค้าก่อนที่จะมีการตกลงรับซื้อ ซึ่งหากพ่อค้าคนกลางไม่ตีราคารับซื้อ มะนาวของชาวสวนก็จะถูกนำกลับมาแล้วนำไปทิ้งไว้ตามสวนของตนเอง เป็นจำนวนมาก
จากข่าวช่อง 7 สี ตัดกลับมาที่ข่าวของ “เกษตรก้าวไกล” และ “เกษตรโว้ย” ซึ่งได้เกาะติดเรื่องราคามะนาวตกต่ำ ตั้งแต่ต้นปีมานี้ เราได้รายงานข่าวไปว่าราคามะนาวจะไม่ดีเหมือนที่ผ่านมาและเสนอแนวทางแก้ (คลิกอ่าน https://goo.gl/LUiWte) ล่วงมาถึงเดือนสิงหาคมนี้ เราได้สำรวจตรวจสอบราคามะนาวที่ตลาดสี่มุมเมืองพบว่า ราคา ณ วันที่ 7 สิงหาคม 2560 มะนาวเบอร์ใหญ่ขายกัน 100 ลูก 200 บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เฉลี่ยราคา 100 ลูก 283.87 บาท (เดือนก.ค. เฉลี่ยราคา 100 ลูก 424.19 บาท / เดือนกันยายน เฉลี่ย 100 ลูก 401.67 บาท) ทำให้เห็นว่าราคาแตกต่างกันอย่างชัดเจน
อย่างนี้แล้ว จะทำอย่างไรดี…จะไม่ต้องไปเททิ้ง จะต้องทำอย่างไรได้บ้าง?
คุณนิวัติ ปากวิเศษ ประธานกลุ่มสหกรณ์ผู้ปลูกมะนาวบ้านแพ้ว-ดำเนินสะดวก ให้ความคิดเห็นว่า เหตุผลที่เกษตรกรผู้ปลูกมะนาวได้ประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำเนื่องจากผลผลิตออกมาจนล้นตลาด เพราะใน 1 รอบปี ผลผลิตมะนาว 80% จะอยู่ในช่วงราคาถูก 8 เดือน และอีก 20% จะอยู่ในช่วงแพง 3-4 เดือน แต่ในปีนี้และอีก 2-3 ปี ผลผลิตจะออกมามาก เพราะเกษตรกรขยายพื้นที่กันมาก และมะนาวตลาดล่างถูกทดแทนด้วยมะนาวแป้นพิจิตรที่ปลูกในรองบ่อมีทั่วๆไป ประจวบกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวนัก โดยเฉพาะร้านอาหารต่างๆที่เคยใช้มะนาวจำนวนมากก็ลดลง
คุณนิวัติ ได้ยืนยันตามข่าวข้างต้น ที่ว่าราคามะนาวตกต่ำสุดๆ (ข่าวช่อง 7) ซึ่งในสวนย่านบ้านแพ้ว และดำเนินสะดวกในกลุ่มของสมาชิกพบว่า มะนาวเบอร์ใหญ่ขายกันที่ลังละ 70 บาท ใน 1 ลัง มี 400 ผล (ขอย้ำว่าเป็นตัวเลขที่ไม่ผิด) คำนวณออกมาแล้วได้เฉลี่ยลูกละ 40 สตางค์เท่านั้น “ต่ำกว่า 1 บาท ก็ไม่ค่อยคุ้มแล้วครับ” ซึ่งถ้าเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วราคามะนาวออกจากสวนราคาดีสุดๆคือตกเฉลี่ย 500 บาท ต่อลัง “คนละเรื่องกับ 70 บาทเลยครับ…ทั้งที่จริงๆเวลานี้ผลผลิตเริ่มจะลดน้อยแล้ว แต่แม่ค้าบอกว่าขายช้าขายได้น้อยลงครับ”
ส่วนถ้ามะนาวเบอร์เล็ก แทบไม่ต้องพูดถึง “ลูกเล็กเก็บแล้วขาดทุนค่าเก็บยังไม่ได้เลยครับ”
ถามว่า “กลุ่มสหกรณ์ผู้ปลูกมะนาวบ้านแพ้ว-ดำเนินสะดวก ได้หาทางออกอย่างไร” ได้รับคำตอบว่า “ผมพยายามยื่นหนังสือถึงรัฐบาลยื่นไปสองครั้งก็เงียบ เรื่องขอให้มาช่วยเพิ่มกำลังผลิต โดยขอพื้นที่สร้างโรงงาน จะเอาเกษตรกรออกไปร้องทุกข์เขาก็ขอไว้อย่าออกมาเลยเดี๋ยวเขาจะเดือดร้อน”
ผู้เขียนลืมบอกไปว่า กลุ่มสหกรณ์ผู้ปลูกมะนาวบ้านแพ้ว-ดำเนินสะดวก ได้เตรียมแผนการแก้ไขปัญหาเรื่องราคาตกต่ำและผลผลิตล้นตลาดมานานหลายปีแล้ว โดยการตั้งเป็นโรงงานแปรรูปน้ำมะนาวสดและน้ำมะนาวพร้อมดื่ม ยี่ห้อ “มีนาว” ซึ่งก็ได้รับการตอบรับในเกณฑ์ดี แต่กับปัญหาในปีนี้สมาชิกที่เคยจำหน่ายมะนาวผลสดก็ได้รับผลกระทบมาก ซึ่งไม่สามารถนำมาแปรรูปได้ทั้งหมดนั่นเอง
“ผมจะทำอย่างไรจะตายกันแล้วครับ” เสียงบ่นจากคุณนิวัติ ซึ่งปกติเป็นคนที่เน้นปฏิบัติไม่ค่อยพูด แต่กับครั้งนี้ต้องออกมาพูดบ้างแล้ว
คุณนิวัติ บอกต่อว่า วิธีแก้ไขมะนาวราคาตกต่ำและล้นตลาด คือให้นำมาแปรรูปและให้มีโรงงานที่มีกำลังผลิตพอเพียงและมีมาตรฐาน เช่น GMP, HACCP, ฮาลาล จะได้ส่งออกไปทั่วโลก
“แต่ที่ผ่านมาสหกรณ์เราไม่สามารถรับออร์เดอร์ได้ ติดที่กำลังผลิต เพราะพื้นที่เรามีจำกัดและมาตรฐานสินค้ามีแต่ อย.ไทย มันไปไม่ได้ ทั้งๆที่น้ำมะนาว 100% เก็บที่อุณหภูมิ 20 องศา สามารถอยู่ได้นาน 1 ปี โดยที่กลิ่นมะนาวและรสชาติไม่เปลี่ยน”
ปิดท้ายได้สอบถามคุณนิวัติว่าเกษตรควรปรับตัวอย่างไรและคิดว่ามะนาวจะยังน่าปลูกหรือไม่ ก็ได้รับคำตอบว่า “จะต้องหาแนวทางแปรรูปมะนาวให้มีความหลากหลายและรัฐบาลควรเข้ามาส่งเสริมอย่างจริงจัง…ส่วนการปลูกมะนาวคิดว่าจะปลูกได้ก็ปี 2562 ไปแล้ว”
ทั้งหมดนี้ เป็นความรู้สึกนึกคิดของเกษตรกรที่จับเรื่องมะนาวมานานนับสิบปี และมองเห็นมาตลอดว่าปัญหานี้จะต้องเกิดขึ้น แต่ลำพังเกษตรกรก็ยากจะแก้ไขได้…ก็ไม่รู้ว่าภาครัฐและผู้เกี่ยวข้องจะได้ยินเสียงบ้างหรือไม่?