5 หน่วยงานภาครัฐ ผสานกำลังสร้างไม้ค้ำยันเสริมเกร่งผลิตภัณฑ์ OTOP และ SMEs แบบครบวงจร ทั้งอบรมความรู้ พัฒนามาตรฐานการผลิต ยกระดับบรรจุภัณฑ์ จัดสรรช่องทางการจัดจำหน่าย ตลอดจนสนับสนุนสินเชื่อต้นทุนต่ำ  กระตุ้นธุรกิจท่องเที่ยวระดับชุมชนและภูมิภาค มุ่งขยายตลาดกว้างไกลสู่ระดับสากล ตอบโจทย์นโยบาย Local Economy ของรัฐบาลยุค 4.0

5 หน่วยงานภาครัฐ กระตุ้นธุรกิจท่องเที่ยวระดับชุมชนและภูมิภาค
5 หน่วยงานภาครัฐ กระตุ้นธุรกิจท่องเที่ยวระดับชุมชนและภูมิภาค

เมื่อวันนี้ (29ส.ค.) 5 หน่วยงาน ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการกิจกรรมส่งเสริมผลิตภัณฑ์ OTOP และ SMEs ติดปีก 4.0 ประกอบด้วย นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) นายทวิโรจน์ ทรงกำพล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ สายการบินไทยสมายล์ บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด และนายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Development Bank) เพื่อสนับสนุนผลิตภัณฑ์ OTOP (One Tambon One Product) และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs (Small and Medium Enterprises) อย่างครบวงจร ตั้งแต่ด้านความรู้ พัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ ยกระดับบรรจุภัณฑ์สอดคล้องความต้องการของตลาดเป้าหมาย จัดสรรพื้นที่และช่องทางจัดจำหน่าย ช่วยทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ ตลอดจนสนับสนุนการเงินต้นทุนต่ำ  โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ OTOP และSMEs ให้เป็นที่รู้จัก สามารถต่อยอดขยายตลาดไปสู่ระดับนานาชาติ  รวมถึง ส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวระดับชุมชน และภูมิภาค ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ กระจายรายได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยนำพาเศรษฐกิจฐานรากหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ตามนโยบาย Local Economy ของรัฐบาล ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจยุค 4.0  และยังสนับสนุนผู้ประกอบการตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ ข้อ 1.ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ข้อ 2. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และข้อ 4. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม

นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน ขณะให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน
นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน ขณะให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน

นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน กล่าวว่า มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนให้โครงการกิจการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ OTOP และSMEs ติดปีก 4.0 สำเร็จลุล่วง ปัจจุบันกรมท่าอากาศยานที่อยู่ในความดูแลจำนวน 28 แห่งครอบคลุมพื้นที่ทุกภาคทั่วประเทศ ทั้งนี้ กรมท่าอากาศยานมีแผนพัฒนาท่าอากาศยานอย่างต่อเนื่องภายใต้นโยบายของรัฐบาลเรื่องการเน้นการส่งเสริมการเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคมของประเทศ ซึ่งในปีพ.ศ. 2563 โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง จ. ยะลา คาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถเปิดให้บริการแก่ประชาชนเพิ่มอีก 1 แห่ง สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ ทย. มีความพร้อมในการให้การสนับสนุนการใช้พื้นที่ในท่าอากาศยานที่อยู่ในความดูแล เพื่อสนับสนุนและเปิดโอกาสให้

ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการใช้พื้นที่จำหน่ายสินค้าและร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ก่อให้เกิดรายได้แก่ชุมชนท้องถิ่นซึ่งเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศอีกทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายที่ดีร่วมกันกับชุมชนท้องถิ่น

นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวว่า สมอ. พร้อมให้ความร่วมมือด้านวิชาการมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนอย่างเต็มความสามารถ  เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนายกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชน ให้เป็นที่ยอมรับ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ที่ผ่านมา สมอ. ได้ให้การสนับสนุนกิจกรรมของ ธพว. ในโครงการนำร่องเพื่อศึกษาและสำรวจศักยภาพผู้ประกอบการ OTOP และ SMEs ของราชอาณาจักรกัมพูชา และ สปป.ลาว อันจะนำไปสู่การสร้างเครือข่ายธุรกิจในกลุ่มประเทศ CLMV และในอนาคตจะขยายไปสู่กลุ่มประเทศ AEC ตามนโยบายรัฐบาลต่อไป

นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ความร่วมมือในการดำเนินโครงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ OTOP และ SMEs ติดปีก 4.0 ในครั้งนี้ นับเป็นต้นแบบที่ดีแห่งการบูรณาการการขับเคลื่อน SMEs และ OTOP ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์สำคัญ 3 เรื่อง คือ 1) ผลิตภัณฑ์ดีมีนวัตกรรม 2) ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพได้มาตรฐาน และ 3) ผลิตภัณฑ์มีตลาดรองรับ โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะสามารถให้การสนับสนุน ในเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ รวมไปถึงการคัดสรรผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพเข้าร่วมโครงการ ซึ่งเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะเป็นส่วนที่ช่วยขับเคลื่อน SMEsและ OTOP สู่ยุค4.0

นายทวิโรจน์ ทรงกำพล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ สายการบินไทยสมายล์ บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ ไทยสมายล์จะเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ OTOP และ SMEs ผ่านทางสื่อต่างๆ ของไทยสมายล์ ตลอดจนสนับสนุนผลิตภัณฑ์ OTOP ให้มีช่องทางการจัดจำหน่ายเพิ่มขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลลูกค้ากับ ธพว.เพื่อร่วมกันจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด และทำหน้าที่ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของหน่วยงานต่างๆ ภายใต้ความร่วมมือนี้อีกด้วย

5 หน่วยงานภาครัฐ ขณะให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน
5 หน่วยงานภาครัฐ ขณะให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Development Bank) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ ธพว.ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร และช่วยประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ พร้อมเปิดโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินต้นทุนต่ำ ผ่านโครงการ “สินเชื่อสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวและผู้ประกอบการท่องเที่ยวชุมชน” วงเงิน 7,500 ล้านบาท  เพื่อมุ่งเน้นยกระดับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องในชุมชนและภูมิภาค เช่น ธุรกิจตั้งในแหล่งท่องเที่ยว หรือในหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) ธุรกิจที่พัก และร้านอาหาร เป็นต้น รวมถึง สนับสนุนเงินลงทุนแฟรนไชส์ สร้างทางเลือกให้คนรุ่นใหม่กลับบ้านเกิดเริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเอง ซึ่งจะก่อประโยชน์เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้กระจายสู่ชุมชนและภูมิภาคอย่างกว้างขวาง ตามนโยบาย Local Economy ของรัฐบาล

สำหรับหลักเกณฑ์ โครงการ “สินเชื่อสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวและผู้ประกอบการท่องเที่ยวชุมชน” กรณีเป็นบุคคลธรรมดา กำหนดวงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 2 ล้านบาท หากเป็นบุคคลธรรมดาที่มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือมีหนังสือรับรองจากหน่วยงานภาครัฐ วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 5 ล้านบาท สำหรับนิติบุคคล วงเงินสินเชื่อสูงสุดต่อรายไม่เกิน 15 ล้านบาท โดยวงเงิน 5 ล้านบาทแรกไม่ต้องใช้หลักประกัน สามารถใช้ บสย. ค้ำประกัน  โดยจะได้รับการชดเชยค่าธรรมเนียม บสย. ใน 4 ปีแรก ระยะเวลาการกู้ยืมรวม 7 ปี กรณีใช้หลักประกันตามเกณฑ์ธนาคาร คิดอัตราดอกเบี้ย ปีที่ 1 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ MLR -1.5 ต่อปี  ปีที่ 2 เป็นต้นไป คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ MLR -1.0 ต่อปี กรณีใช้หลักประกัน บสย. คิดอัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี  โดยลูกค้าจะได้รับการช่วยเหลือค่าธรรมเนียม บสย. ฟรี 4 ปี  ปีละ 1.75%  รวม 7%  โดยรัฐบาลช่วยเหลือ 4% และอีก 3% เป็นการช่วยเหลือจาก ธพว. ทั้งนี้ ต้องเป็นผู้ประกอบการที่ชำระหนี้ปกติตามเกณฑ์ของ ธพว.

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated