กรมชลประทานสานต่อแนวพระราชดำริ สร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นในพื้นที่ต้นน้ำ คืนความอุดมสมบูรณ์ฟื้นฟูป่า สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ เดินหน้าบูรณการสร้างอีก 7 แห่งในพื้นที่จังหวัดตาก
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 มาใช้แก้ปัญหาน้ำให้มากที่สุดตามนโยบายของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ล่าสุดได้นำแนวพระราชดำริในเรื่องฝายชะลอความชุ่มชื้น หรือ ฝายต้นน้ำ (CHECK DAM) มาขยายผลดำเนินการในพื้นที่ต้นน้ำ ในเขตจังหวัดตาก โดยบูรณาการทำงานร่วมกับสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 14 (ตาก) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช สมาคมผู้ใช้รถยนต์ขับเคลื่อน4ล้อยี่สิบสองนอ และประชาชนในพื้นที่ ในการสร้างฝายต้นน้ำในรูปแบบฝายประชารัฐจำนวน 5 แห่ง ในพื้นที่ของเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก เพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์ สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ ลดการพังทลายของดิน และลดความรุนแรงของกระแสน้ำในลำห้วย
สำหรับฝายต้นน้ำที่จะสร้างนั้น จะเป็นฝายผสมผสานแบบตาข่าย (Gabion) ทั้ง 5 แห่ง เป็นการสร้างฝายต้นน้ำที่ถูกต้องตามหลักวิชาการสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง มีความคงทนถาวร และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ซึ่งการสร้างฝายผสมผสานแบบตาข่ายดังกล่าว จะใช้ตาข่ายเหล็กตะแกรงจากกล่องเกเบี้ยนวางลงบนพื้นห้วย กว้างประมาณ 1 เมตร ยาวตลาดความกว้างของลำห้วย จากนั้นนำก้อนหินที่หาได้ในพื้นที่มากองในตะแกรงจนสูงตามที่ต้องการ และนำไม้หลักมาตอกลงพื้นเพื่อยึดตะแกรงให้อยู่กับที่และนำหินก้อนใหญ่มาวางดักช่วยอีกเพื่อความแข็งแรง ซึ่งมีความเหมาะสมสำหรับพื้นทีต้นน้ำที่มีความลาดชันปานกลาง อย่างเช่นในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก
นอกจากนี้กรมชลประทานยังได้สนับสนุนการสร้างฝายต้นน้ำที่บ้านโสมง ตำบลบ้านนา อำเภอสามเงา จังหวัดตาก อีก 2 แห่ง ในรูปแบบฝายประชารัฐเช่นกัน โดยบูรณาการการทำงานระหว่างกรมชลประทาน หน่วยงานปกครองท้องถิ่น สมาคมยี่สิบสองนอ และประชาชนในพื้นที่ ก่อสร้างฝายผสมผสานแบบไม้เททับด้วยคอนกรีต ซึ่งฝายทั้ง 2 แห่งนี้ นอกจากจะช่วยรักษาระบบนิเวศน์สร้างความชุ่มชื่นให้กับป่าไม้แล้ว ยังจะช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้งอีกด้วย
นายชาตรี สิงเหลือ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 บ้านโสมง กล่าวว่า บ้านห้วยโสมงมีประชากร 447 คน 156 ครัวเรือน ใช้น้ำจากประปาภูเขา และบ่อน้ำตื่นริมห้วยในการดำรงชีวิต แต่พอเข้าสู่ฤดูแล้งลำห้วยต่างๆ จะแห้งขอดประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเป็นประจำเกือบทุกปี ในฤดูฝนแม้จะมีฝนตกมาก แต่น้ำจะไหลลงเขื่อนภูมิพลทั้งหมดไม่สามารถบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์ได้ เนื่องจากไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำ ดังนั้นการสร้างฝายต้นน้ำทั้ง 2 แห่งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้าน ทำให้มีน้ำกินน้ำใช้ในฤดูแล้งอย่างแน่นอน
“กรมชลประทานแม้จะมีภารกิจในการจัดหาพัฒนาแหล่งน้ำ การบริหารจัดการน้ำ ตลอดจนการบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ เพื่อสร้างประโยชน์สุขแก่ประชาชนแล้ว ยังให้ความสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความยั่งยืนและความสมดุลทางธรรมชาติระหว่างคน น้ำ ป่าไม้ และสัตว์ป่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาโครงการพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆได้มีการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้ได้รับรางวัล EIA Monitoring Awards ต่อเนื่องมา 3 ปี จากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม” รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวในตอนท้าย